“ผมบอกกับหัวหน้าตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้าทำงานที่เชฟรอน ว่าอยากมีประสบการณ์ทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งเขาก็แนะนำถึงสิ่งที่ผมต้องพัฒนา เชฟรอนทำแบบนี้กับทุกคน ในองค์กรเราเรียกว่า CDP (Career Development Plan) แต่ละคนก็พัฒนาตาม CDP ของตนเอง ซึ่งจะแตกต่าง ส่วนตัวผมใช้เวลา 7 ปี จนที่สุดก็ได้ไปฮิวสตัน”
วิษุวัต สิงหศิริ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นต่อปริญญาโทในสาขาเทคโนโลยีปิโตรเคมี ที่วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาบอกเราว่า เพื่อนที่เรียนวิศวะปิโตรเคมีส่วนใหญ่อยากมีประสบการณ์ทำงานบนแท่นขุดเจาะกลางทะเลกันทุกคน เขาก็เป็นหนึ่งในนั้น เลยเลือกมาสมัครงานที่เชฟรอน ผ่านการคัดเลือกได้เป็นวิศวกรฝึกหัด
ชีวิตวัยเรียนของวิษุวัตมีเป้าหมายคือ อาชีพวิศวกรบนแท่นขุดเจาะ และการศึกษาเป็นเสมือนเรือเดินสมุทรพาเขาไปจนถึงฝั่ง
แต่ชีวิตวัยทำงาน เป้าหมายเขาคือ งานที่ท้าทาย และได้เปิดโลกไปทำงานที่ต่างประเทศ และเชฟรอนเป็นเสมือนเรือลำใหญ่สุดไฮเทคที่มีกลไกรายละเอียดซ่อนอยู่ พาเขาฝ่าคลื่นลมทะเลไปสู่เป้าหมายที่ไกลกว่า
ช่วงปี 2555-2557 วิษุวัตถูกส่งไป Chevron Energy Technology Company ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านปิโตรเลียมของเชฟรอน ที่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา สั่งสมประสบการณ์ และร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกขององค์กร ก่อนจะกลับมาเป็น ‘ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์’ ศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิคและบุคลากรด้านปิโตรเลียมแห่งแรกของประเทศที่ดำเนินงานมา 38 ปีแล้ว
ก้าวแรก: เรียนรู้งานผ่าน Horizons Program
วิศวกรที่เริ่มงานในเชฟรอนจะเริ่มต้นด้วยตำแหน่งวิศวกรฝึกหัด
วิษุวัตบอกว่า สมัยนั้นโปรแกรมจะใช้เวลา 1 ปีครึ่ง โดยเรียนรู้การทำงานในแผนกหลักที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสำรวจและผลิต 3 แผนก โดยแต่ละแผนกใช้เวลา 6 เดือน เพื่อเรียนรู้งานให้ครบทุกด้าน และหลังจากจบโปรแกรมจะย้ายไปแผนกที่เราเหมาะสม
โปรแกรมดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันเชฟรอนเรียกว่า Horizons Program เป็นโครงการพัฒนาบุคลากรของเชฟรอนที่ใช้ทั่วโลก ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี โดยเริ่มจากการจัดคนเข้าสายงานที่ตรงกับที่เรียนจบมา ก่อนที่จะสับเปลี่ยนไปทำงานในสายงานอื่นๆ อย่างน้อย 3 งาน เพื่อให้มีโอกาสได้พัฒนาความรู้และทักษะผ่านการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ
ก้าวที่สอง: ตั้งเป้าหมาย สำรวจสิ่งที่ขาด เติมเต็มด้วยโอกาสการทำงาน
ชีวิตในเชฟรอน หลังผ่านโปรแกรมฝึกหัด 18 เดือน วิษุวัตปรึกษากับหัวหน้างานถึงความสนใจของตัวเอง ทั้งเป้าหมายระยะสั้นคือ การเป็นวิศวกรในแผนกขุดเจาะ ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ การไปทำงานต่างประเทศ
เชฟรอนเรียกกระบวนการนี้ว่า CDP (Career Development Plan) เป็นขั้นตอนที่พนักงานจะพูดคุยกับหัวหน้าถึงเป้าหมายการทำงานในระยะสั้นและระยะยาวเป็นประจำทุกปี โดยเขาก็บอกหัวหน้าทุกครั้งว่า อยากมีประสบการณ์การทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งหัวหน้าก็แนะนำถึงสิ่งที่ต้องพัฒนา เช่น ความรู้พื้นฐาน ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำงาน และประสบการณ์ ในตอนนั้นเป้าหมายระยะสั้นของเขาไม่ตรงตามที่หวัง ด้วยความที่เป็นวิศวกรควบคุมการผลิต (Production Engineer) คนเดียว จึงต้องทำงานทางด้านนี้แทน เพราะตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมาพอดี
แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ตำแหน่งวิศวกรควบคุมการผลิต คือโอกาสในการเติมเต็มความรู้และประสบการณ์การทำโปรเจกต์ ตลอดจนทักษะในการมองภาพรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่วิษุวัตยังขาดอยู่ในตอนนั้น
ก้าวที่สาม: เรียนรู้จากงานที่ได้รับมอบหมาย
แท่นที่ทะเลมีหลายประเภทตั้งแต่แท่นขุดเจาะ แท่นหลุมผลิต ไปจนถึงแท่นที่อยู่อาศัย ทั้งหมดจะอยู่รายรอบ ‘แท่นผลิตกลาง’ ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการ ควบคุมการทำงานทั้งหมด ตำแหน่งวิศวกรควบคุมการผลิตจะต้องดูแลแท่นผลิตกลางจึงกลายเป็นข้อดีที่ทำให้วิษุวัตได้เรียนรู้งานทั้งหมด
ตอนนั้นวิษุวัตในวัย 25 ปี ทำงานอยู่แท่นฟูนาน (แท่นผลิตกลางจะตั้งชื่อตามแหล่งผลิตปิโตรเลียม เช่น เอราวัณ ฟูนาน) และต้องรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับแท่นนี้
“ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเราเป็นเจ้าของแท่นนี้ อยากให้ทุกอย่างมันออกมาดี มันเหมือนลูกของเรา”
ก้าวที่สี่: เมื่อโปรเจกต์มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ คือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ
วิษุวัตเริ่มทำงานที่ฟูนานตั้งแต่ปี 2548 และย้ายออกในปี 2552 ไปอยู่แผนกรับทำโปรเจกต์ ซึ่งเชฟรอนเรียกทีมนี้ว่า Miscellaneous Capital Project Team ทำหน้าที่คิดวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการผลิตเป็นประจำในระยะยาว เป็นการใช้ความรู้และประสบการณ์จากหน้างานเพื่อมาแก้ปัญหา
วิษุวัตเล่าถึงโปรเจกต์ที่ภูมิใจ อย่างการติดตั้งระบบทำความร้อนขนาดใหญ่เท่ากับตึกสามชั้นกลางทะเล จากโจทย์ที่ได้รับในตอนนั้นคือ ความร้อนบนแท่นไม่เพียงพอที่จะแยกน้ำมันและน้ำออกจากกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ความท้าทายคือ การถอดระบบทำความร้อนที่ใหญ่มากเป็นชิ้นๆ และไปประกอบที่กลางทะเล อีกทั้งเป็นงานที่ราคาค่อนข้างสูง ประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยก่อนลงมือทำ เขาต้องอธิบายตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้ายให้กับหัวหน้าฟัง หรือที่เชฟรอนเรียกว่า Decision Review Board Meeting
“อย่างแรกเราต้องคำนึงถึงข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น ความปลอดภัย ราคา ความยากง่ายในการทำงาน และเรียงลำดับความสำคัญ โดยจะมีหัวหน้าทีมเป็นชาวต่างชาติ หากการทำงานเกิดปัญหาความล่าช้า เราจะแก้ปัญหาโดยการพูดคุยกับทีมงานกันมากขึ้น คอยอัปเดตกับหัวหน้างานเป็นรายเดือน โปรเจกต์สิบล้านที่ผมทำใช้เวลาประมาณ 1 ปี”
ก้าวที่ห้า: ก้าวถึงเป้าหมาย ประสบการณ์ล้ำค่าจากฮิวสตัน
ปี 2554 วิษุวัตได้รับข่าวดีผ่านทางโทรศัพท์ว่า ได้รับคัดเลือกให้ไปทำงานที่ Chevron Energy Technology Company ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านปิโตรเลียมของเชฟรอน ที่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา หน่วยงานหลักในการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเชฟรอนทั่วโลก
แม้จะถึงฝั่งฝัน แต่ก็ต้องเจอปัญหา อย่างแรกคือกำแพงภาษา ส่วนอีกอย่างคือความรู้และเทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้และไม่เคยเห็นมาก่อน จึงเหมือนกับเขาต้องไปเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด
“ในปีแรกเป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้สูงมาก เราต้องสู้กับสิ่งที่ไม่รู้ ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานและความตั้งใจ ทำการบ้านและโชว์ผลงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พอเข้าสู่ปีที่ 2 เราเริ่มเข้าใจระบบการทำงานมากขึ้น และมีโอกาสร่วมกับวิศวกรชาวอเมริกันอีก 4 คน พัฒนานวัตกรรมให้กับเชฟรอน ยกตัวอย่างเช่น เครื่องมือสำหรับคาดการณ์ความเสื่อมสภาพของเครื่องจักรและเทคโนโลยีส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสง”
โปรเจกต์นี้ถูกพัฒนาจนสามารถใช้งานได้จริง แม้จะยังคงมีความท้าทายเรื่องการผลิตและติดตั้ง แต่เขาเชื่อว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น น่าจะมีหลายบริษัทสนใจลงทุนกับเครื่องมือนี้
ก้าวต่อไป: พัฒนาคนอื่น เพื่อพัฒนาตนเอง
หลังสั่งสมประสบการณ์ที่สหรัฐอเมริกาได้ 3 ปี วิษุวัตถูกเรียกตัวกลับมารับหน้าที่ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์ สถาบันฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านปิโตรเลียมของเชฟรอนประเทศไทย
แม้ตอนแรกจะรู้สึกแปลกใจที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลงานด้านพัฒนาบุคลากร แต่เมื่อทบทวนเป้าหมาย (CDP) ของตัวเองที่ตั้งไว้ว่าจะเป็น ‘ผู้บริหารหน่วยงานของเชฟรอนในต่างประเทศที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ’ จึงพอจะทราบคำตอบ “เราระบุไว้ว่าอยากมีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมโดยรวม เขาจึงให้โอกาสในการทำงานด้านอื่น”
ชื่อ ‘ศูนย์เศรษฐพัฒน์’ เป็นนามพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการด้านการฝึกอบรมบุคลากรและการผลิตก๊าซฯ กลางอ่าวไทย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2533 โดยให้ชื่อว่า เศรษฐพัฒน์ ซึ่งมาจากคำว่า เศรษฐกิจและพัฒนา
ศูนย์เศรษฐพัฒน์เป็นศูนย์ฝึกช่างเทคนิคปิโตรเลียมแห่งแรกของประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 เพื่อพัฒนาบุคลากรคนไทยสู่อุตสาหกรรมปิโตรเลียมของประเทศ ซึ่งอยู่ในยุคบุกเบิก โดยเป็นศูนย์ฝึกที่ได้มาตรฐานสากล ปัจจุบันได้ฝึกช่างเทคนิคปิโตรเลียม ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของการทำงาน ณ แท่นขุดเจาะในอ่าวไทยไปแล้ว 46 รุ่น รวมกว่า 1,700 คน (ใช้ระยะเวลาอบรม 6-8 เดือน) และมีบุคลากรในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ จากศูนย์แห่งนี้ไปแล้วอีกหลายแสนคน
ในฐานะผู้รับหน้าที่พัฒนาบุคลากร วิษุวัตยืนยันว่า เชฟรอนให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและทำอย่างเป็นระบบ โดยหัวหน้าและลูกทีมแต่ละคนจะมาคุยกันว่า พนักงานวางเป้าหมายอาชีพไว้อย่างไร ต้องการทักษะอะไรบ้าง และขณะนี้มีทักษะเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน แล้วร่วมกันวางแผนปูทางสู่วิธีการที่จะได้ทักษะนั้นมา เช่น การส่งไปฝึกอบรมหรือมอบหมายให้ทำงานในตำแหน่งต่างๆ และมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
“เรารับฟังความต้องการของพนักงาน พนักงานสามารถบอกได้ว่าสนใจทำงานอะไร เราจะบอกถึงทักษะที่คุณต้องมี แล้วร่วมวางแผนพัฒนาเติมเต็มทักษะเหล่านี้ หลังจากนั้นถ้าหากคุณพร้อมและมีโอกาสเข้ามา คุณก็อาจผ่านการพิจารณา เหมือนที่ผมใช้เวลากว่า 7 ปี เพื่อพัฒนาตัวเองในสิ่งที่ขาด แม้บางครั้งอาจจะไม่ได้ดั่งใจที่เราต้องการ แต่เราต้องอดทนฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ”
ปิโตรเลียมถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเยอะมาก ไม่ว่าจะโครงสร้างต่างๆ ในทะเล วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและอากาศ ซึ่งนอกจากจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้เท่าทันระดับโลก การหมั่นพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เท่ากันโลกยุค Digital Transformation ก็สำคัญไม่แพ้กัน เหมือนหัวใจหลักที่ซ่อนอยู่ในปรัชญาของบริษัท คือคำว่า ‘พลังคน’ หรือ ‘Human Energy’
“ศูนย์ฝึกเศรษฐพัฒน์เป็นศูนย์ฝึกแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองโดยสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร (Offshore Petroleum Industry Training Organization หรือ OPITO) และหน่วยงานราชการ เช่น กรมสวัสดิการแรงงาน หน้าที่หลักของเราคือ การจัดฝึกอบรมด้านความปลอดภัย แล้วเราต้องพยากรณ์ความต้องการ วางแผนล่วงหน้าเพื่อเตรียมบุคลากร เราจะต้องรู้ว่าแท่นใหม่ต้องใช้คนกี่คน กลุ่มไหนบ้าง อีกพาร์ตหนึ่งคือ การฝึกภาษาอังกฤษให้ช่างด้วย เรามีคำว่า TEPPI (Test of English for Petroleum Industry) ที่เราคิดขึ้นมาเอง คล้ายๆ TOEIC แต่เป็นการสอบภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับศัพท์เชิงเทคนิคในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
“เราจะนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาพัฒนาศูนย์เศรษฐพัฒน์ เพื่อจะพัฒนาติดต่อกับช่างปิโตรเลียมได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น”
ด้วยความเชื่อนี้ การสำรวจหาพลังคน และนำมาต่อยอดพัฒนา คือพันธกิจสำคัญไม่แพ้การสำรวจหาแหล่งพลังงานใต้ท้องทะเล