×

ตัวตนและคนที่ถูกกีดกัน ‘เฌอเอม ชญาธนุส’ ทำไมต้อง #Saveบางกลอย

26.03.2021
  • LOADING...
ตัวตนและคนที่ถูกกีดกัน ‘เฌอเอม ชญาธนุส’ ทำไมต้อง #Saveบางกลอย

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • ชวนทำความเข้าใจ 3 ประเด็นใหญ่ที่เป็นข้อโจมตีชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ตั้งแต่ไร่หมุนเวียน เผาป่า และความต้องการที่ดินในการดำรงชีพกับเฌอเอม 
  • ชวนคลี่คลายตัวตนของ ‘เฌอเอม’ จากนางงามและนางแบบ แล้วเธอมาเกี่ยวกับประเด็นบางกลอยได้อย่างไร
  • สำหรับ Dream Job ของเฌอเอม การได้อยู่กับคนที่ต้องการเรา เราจะไม่เป็นคนอื่น

THE​​ STANDARD ชวนพูดคุยและทำความรู้จักกับ เฌอเอม-ชญาธนุส ศรทัตต์ เพื่อคลี่คลายตัวตนของเธอ รวมถึงประเด็นการออกมาเรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และหากวันนี้ยังเป็นนางงามอยู่จะมีเส้นทางแบบไหน การที่ออกมาเคลื่อนไหว เป็นกระบอกเสียง #Saveบางกลอย ตอบโจทย์อะไรกับตัวเธอ

 

 

#Saveบางกลอย ในฉบับความเข้าใจของเฌอเอม เมื่อถูกถามถึงรายละเอียดคืออะไร

เรามีเสรีภาพในการทำหนังไหม ถ้ามี เราจะเห็นมุมมองของทุกตัวละคร จะไม่ใช่เห็นแค่ฝั่งเดียว ‘Save บางกลอย’ มันเริ่มต้นจากการที่ชนเผ่าหนึ่งมีชีวิตเป็นของตัวเอง แล้ววันหนึ่งเขาถูกอำนาจรัฐข้างนอกไม่เข้าใจเขา แล้วไล่เขาออกไป 

 

แต่ว่าไฮไลต์ของเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว ไม่ใช่ความดราม่าที่คนพลัดพรากจากแผ่นดินเกิดแล้วอยากกลับบ้าน แต่มันเป็นเรื่องการเสียวิถีชีวิตและผืนป่า 

 

เอมคิดว่ามันคือ Agenda ซ่อนว่าทำไมต้องไล่คนออก เราจะไปเคลียร์ปมเหล่านี้ เรื่องของเรายังไม่จบ จบภาคหนึ่งของเราคือเรากำลังยื่นข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเรียกร้อง ระหว่างชนเผ่ากับคนที่ดูเหมือนเป็นประเทศ คือเป็นการตั้งคำถามว่า ประเทศมีคนรูปแบบเดียวจริงหรือเปล่า แล้วชวนให้คนดูตั้งคำถามว่า ถ้าบังเอิญเราเป็นชนเผ่า บังเอิญเราเป็นส่วนที่ถูกครอบ เราจะรู้สึกเหมือนที่เรามองเขาตอนนี้ไหม เราจะเข้าใจเขาได้ไหม 

 

เป็นหนังที่ทำให้คนเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม เข้าใจความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับรูปลักษณ์และชาติพันธุ์ ก็หวังว่าจะมีภาค 2 ที่เคลียร์ปมในเร็วๆ นี้ เพราะความจริงแล้วบางกลอยคือปริศนาที่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น 

 

ปริศนานั้นคืออะไร

คือตอนแรกที่มีการอพยพชาวบ้านลงมา เขาให้เหตุผลว่ามันเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภค มีความลำบากต่างๆ นานา ซึ่งที่จริงมันควรเป็นตัวเลือก คนอยากอยู่ก็อยู่ในเมือง คนไม่อยากอยู่ก็อยู่ที่เดิม คือต้องเข้าใจว่าทำไมมีคนอยากอยู่ที่เดิม แม้มันต้องเดินเท้า 4-5 วัน 

 

แต่ทีนี้เขาถูกบังคับอพยพ โดยบอกว่าจะให้ที่ทำกิน แต่พอลงมาอยู่มีปัญหาต่างๆ นานา แต่พอกลับขึ้นไปก็โดนกวาดต้อน เผาบ้าน แล้วโดนอ้างว่าจะขอขึ้นกับยูเนสโก เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ปัญหาก็คือความจริงแล้วไร่หมุนเวียนที่อ้างว่าทำลายป่ามันเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย อันนี้ขึ้นแล้วด้วย ยูเนสโกยอมรับแล้วว่าเป็นมรดก ขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรมเอง แล้วก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนบประมาณโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายความว่ารัฐบาลก่อนๆ เวทีประชุมต่างๆ คุณยอมรับไปหมดแล้ว แล้วทำไมคุณเอาเรื่องไร่หมุนเวียนมาอ้าง แล้วตอนเฮลิคอปเตอร์ตก ทำไมถึงตก แล้วเข้าไปทำอะไรในเขตนั้น ทุกคนดูแค่สิ่งที่เรียกว่ายุทธการตะนาวศรีที่กวาดล้างจับกุมชาวบ้านที่ดำเนินมา 1 ปี ช่วงปี 2553-2554 ปัญหาคือทำไมถึงไล่ตั้งแต่แรก ไม่มีใครรู้ นี่คือทริลเลอร์ของหนัง แล้วมันก็จะผสมด้วยหนังแบบ ‘Vagabond’

 

คือเอมมองว่าการมีอำนาจในปัจจุบันคือการคุมประวัติศาสตร์ คุมการรับรู้ของคน หรือก็คือคุมสื่อ ตัวเอกของเราก็จะต้องต่อสู้กับการที่คนนอกไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วพลเมืองถ้าเขาไม่เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายก็ต้องเป็นผู้หลบหนี ซึ่งถ้าเราให้ตัวเอกเป็นคุณบิลลี่ พอละจี สุดท้ายแล้วก็จะจบลงด้วยการที่เขาเสียชีวิตโดยที่เขาตามหาความจริง

 

ตัวละครในเรื่อง ชาวบางกลอยมีคาแรกเตอร์เป็นตัวละครอย่างไร รัฐเป็นตัวละครอย่างไร

อันนี้แล้วแต่มุมมองด้วย เพราะตัวเองย่อมมองว่าตัวเองเป็นตัวละครที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งมีพอยต์ สิ่งที่มันหายไประหว่างการสื่อสารของตัวละครคือการเข้าใจและการมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ นั่นคือการอนุรักษ์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กับ อีกอย่างคือตัวละครต้องเข้าใจก่อนว่าชาติต้องการอะไรจากป่า หรือแม้แต่ชาติคืออะไร แล้วประเทศไทยอยู่ด้วยอะไร ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ตัวละคร แต่ทุกคนในประเทศไทยเข้าใจไม่เหมือนกัน

 

ชาวบางกลอยก็อาจเป็นกลุ่มตัวละครที่เชื่อในวิถีชีวิต เชื่อว่าป่าให้คุณกับชีวิต โดยที่อาจไม่ต้องเป็นมรดกโลกทางใดเลย ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่า รัฐอาจมองว่าป่าต้องทำให้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด โดยที่คนทำลายป่า โดยที่ไม่มองว่าคนสร้างสมดุลให้ป่า เป็นตัวละครที่เชื่อว่าป่าต้องสร้างชื่อเสียง เพราะชื่อเสียงสร้างกำไรของประเทศ เป็นที่น่าเชิดหน้าชูตาของประเทศ ประเทศที่ดีคือประเทศที่น่าเชื่อถือในเวทีโลก ทั้งที่เวทีโลกเขาส่งจดหมายถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย 

 

ดังนั้นเราจะเห็นได้เลยว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือตรงกลางของความเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะชาวบ้านเองก็ไม่ได้อยากรุกที่ป่า แล้วทำไมรัฐยังเชื่อว่าการเสียที่ป่าหรือแม้แต่การเชื่อว่าจะรุกที่ป่ามันทำให้เสียประโยชน์ของประเทศ 

 

สิ่งหนึ่งที่เฌอเอมพูดคือเรื่องวิถีชีวิต ถ้าเป็นคนทั่วไปไม่เข้าใจวิถีชีวิต ทำไมต้องมี แค่มีที่ทำกินก็น่าจะพอแล้ว วิถีชีวิตมันสำคัญอย่างไร ทำไมตัวละครหลักเราต้องต่อสู้เรื่องนี้

แล้วทำไมเราต้องให้คนยืนเคารพธงชาติ อันนี้มันง่ายมาก วันนั้นที่เอมนั่งลงไป ตอนมีเพลงชาติ ถึงแม้มันไม่ผิดกฎหมาย แต่มีคนรู้สึก นั่นมันคือความเป็นไทยที่คุณต้องยืน เช่นเดียวกัน ไร่หมุนเวียนคือวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง การทำไร่มันเกี่ยวกับพิธีศพ พิธีเกิด มันก็เหมือนการที่คุณรักชาติ คือเขาเองก็รักในวัฒนธรรมของเขา แล้วคนที่ไม่พอใจกับพฤติกรรมของเอม จริงๆ ควรจะเข้าใจชาวกะเหรี่ยงมากที่สุด เพราะว่านั่นเหมือนการยืนเคารพธงชาติ นั่นคือความเป็นชาติของเขา แม้ว่าเขาเป็นคนไทยแต่เขาคือชาวกะเหรี่ยง เขาคือชาติพันธุ์ อย่างไทยในขวานทอง รวมทั้งกรุงเทพฯ มันไม่ใช่ไทยแท้ มันมีมอญ ญวน พม่า ลาว จีน ล้านนา ไทยใหญ่ อะไรเต็มไปหมด กว่าที่มันจะรวมเป็นไทย แล้วความเป็นไทยที่สร้างมายุคบูมๆ สุดคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งคือยุคคณะราษฎร มันคือความเป็นชาตินิยม ให้ประชาชนรับรู้ความเป็นชาติโดยไม่มีจุดศูนย์กลาง นั่นคือเพลงชาติไทย ซึ่งแม้ว่าตอนนี้ไม่ว่ามันจะถูกเข้าใจเปลี่ยนไปยังไง แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าชาติมันคือชาติพันธุ์คือชนเผ่า แล้วค่อยมาใช้ภาษาไทย แล้วคือชาติพันธุ์เขามีวัฒนธรรมของเขาเอง ถ้าคุณชอบความเป็นไทยในรูปแบบใหม่ ไม่ผิดที่ชาวกะเหรี่ยงอยากรักษาความเป็นชาติในรูปแบบเดิมของเขาไว้ 

 

 

ทำไมหนังเรื่องนี้มันสอนอะไรคนดู ทำไมเราต้อง Save บางกลอย

คือเรื่องชาติพันธุ์ เรื่องวัฒนธรรม เป็นประเด็นอะไรที่ชัดอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่เอมคิดว่าเขาสื่อผ่านวิถีชีวิตเขาเลยคือเรื่องธรรมชาติ เอมไปสเกาท์ความเห็นมา คือคนจะสงสัย 3 ประเด็นใหญ่ หนึ่ง ทำไมต้องทำไร่หมุนเวียน สอง ทำไมต้องเผาป่า สาม คือการอยู่กับดิน 

 

เรื่องไร่หมุนเวียน คือการทำไรบนที่ลาดชัน ที่เหมาะกับอากาศแบบภูเขา ซึ่งทำจุดหนึ่ง สมมติมีไร่หมุนเวียนทั้งหมด 15 จุด จุดละ 1-5 ไร่ต่อ 1 คน คือเอมทำจุด A หมดแล้วก็จะไปทำจุด B ซึ่งจุด A ก็จะใช้เวลา 7-15 ปีในการวนกลับมา ก็คือในเวลา 7 ปีขั้นต่ำ ป่าจะกลับมาสมบูรณ์หมดแล้ว เท่ากับเราไม่ได้สูญเสียพื้นที่ป่า ไม่ได้ขยายพื้นที่ไร่ ป่าจะมีพื้นที่เท่าเดิม มันเป็นแบบนี้ แล้วกระบวนการทำไร่หมุนเวียนทางธรรมชาติ เราอธิบายแบบนี้ดีกว่า ว่าดินที่เราอยู่ในเขตร้อน มันคือดินจากยุค 40-50 ล้านปีก่อน มันคือดินจืด น้ำที่ไหลผ่านก็มีคุณลักษณะที่คล้ายกับน้ำกลั่น คือไม่มีแร่ธาตุ แล้วคนเมื่อก่อนจะอยู่ยังไง อย่างกะเหรี่ยงเขาอยู่มานานที่สุดคือ 300 ปี นั่นคือนานก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเขาอยู่ยังไง 300 ปีก่อน เขาไม่มีปุ๋ย เขาอยู่กันยังไง นั่นคือเขามีภูมิปัญญาชาวบ้าน คือการเผาป่า เป็นศาสตร์ของการใช้ดิน คือการดึงแร่ธาตุสู่ผิวดิน 

 

เวลาเราเห็นตอไม้เตียน มันคือการเผาไม่ให้ต้นไม้เตียน เขาต้องขึ้นตัดยอด แล้วลูกไม้ หน่อไม้ มันจะแตกออกมา เมื่อเก็บเกี่ยวผ่านไปแล้วมีน้ำฝน พอเผากิ่งไม้อะไรลงมาเสร็จมันจะเกิดเป็นฟอสฟอรัส แล้วพอน้ำฝนลงมา มันจะเกิดการชะล้าง แล้วซึมลงสู่ดิน ต้นไม่ใบหญ้าพืชต่างๆ ก็เติบโต แล้วกระบวนการทำเกษตรกรรมอย่างนี้ ที่มีความหลากหลายทางพันธุ์พืช ถ้าจำไม่ผิดก็คือ 200 กว่าชนิดต่อหนึ่งที่ดิน หนึ่งไร่ ก็คือขึ้นปนกัน มันจะต่างกันแค่ความหนาแน่นในแต่ละปี ในขณะที่ถ้าเป็นไร่ถาวร เป็นเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกพืชชนิดเดียว ทับที่เดิมไปเรื่อยๆ ดินจะค่อยๆ เสื่อม และความหลากหลายทางพันธุ์พืชก็จะลดลง

 

เพราะฉะนั้นการทำไร่หมุนเวียนมันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติจริงๆ เกิดจากความเข้าใจธรรมชาติ แล้วส่งต่อรุ่นสู่รุ่นเป็นร้อยๆ ปี ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น

 

ส่วนเรื่องการรู้จักดิน การทำไร่บนที่ดินบนภูเขา แม้เป็นเขาลูกเดียวกัน ดินก็ไม่ได้เหมือนกัน สมมติว่าพื้นที่ธรรมชาติมันไม่ใช่นาเตียน มันคือพื้นที่ลาดชัน ดินจะแข็ง เพราะมันเป็นผา แล้วบนดินชันมันปลูกอะไรได้บ้าง บนดินลาด บนดินที่เหยียบแล้วนุ่ม มันก็ปลูกอะไรได้ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในเวลาที่หว่าน เขาจะหว่านเมล็ดพันธุ์รวมๆ กัน แล้วอันที่ขึ้นมันจะขึ้นในที่ที่เหมาะกับมันเอง นี่คือภูมิปัญญาการอยู่กับดิน คือการสังเกตดิน การที่คุณกั้นแนวกันไฟป่า การที่คุณเผาแต่ผิว การที่พอถึงฤดูฝนแล้วต้นไม้โต

 

ทำไมถึงโฟกัสที่แก่งกระจาน ทั้งที่กะเหรี่ยงในที่อื่นๆ เขายังปลูกไร่หมุนเวียนอยู่ แล้วได้รับอนุญาตให้ทำถูกกฎหมาย สุดท้ายบางกลอยเกี่ยวอะไรกับเรา

เอมว่าอันนี้มันแล้วแต่คนเลย ถ้าคุณรู้สึกว่าคนนิ่งเฉยไม่ได้ คุณก็จะสนใจ แต่ที่น่าแปลกใจคือ คนเมืองที่ชอบ Save ป่า ปลูกป่าบ้าง ป่าห้ามมีคนอยู่บ้าง แต่พอเราพูดเรื่องป่าจริงๆ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ด้วยตัวเลข เขาก็จะแบบ ไม่จริงหรอก ป่าต้องไม่มีคนอยู่ ไร่หมุนเวียนไม่ช่วยป่า 

 

ความเป็นจริงแล้วอยากให้เปิดใจกับตรงนี้ขึ้นอีกนิด Save บางกลอย คือ Save ป่า แล้วการทำไร่หมุนเวียน คือการปรับเกษตรกรรมให้รักษาป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเกษตรกรรมที่เหมาะกับเขตร้อนมากที่สุด นี่คือมนุษย์คิดขึ้นมาก่อนที่จะมีทุกอย่าง 

 

เอมไม่ได้บอกว่ามันพัฒนาไม่ได้ ท้ายสุดต้องมีการพัฒนา แต่สิ่งที่คนมักเถียงมากที่สุดคือ ชาวบ้านไม่ใช่นักวิชาการ ชาวบ้านจะรู้ได้อย่างไร พอยต์ก็คือหลายอย่างไม่ได้สะสมด้วยความรู้ ณ ตอนนี้ หรืออีกอย่างก็คือความรู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกันหมายความว่าเขาโง่

 

ภาษากะเหรี่ยงเรียกไร่เลื่อนลอยว่าคึ-ฉื่ย (Quv hsgif) เป็นชื่อกระบวนการ ดังนั้นแค่ภาษาก็ต่างกันแล้ว ถ้าเราศึกษาแล้วจริงๆ เราจะประหยัดต้นทุนของประเทศ เพราะไร่ของกะเหรี่ยงไม่ต้องใช้น้ำ แต่ใช้ฝน ถ้าคุณบังคับเขาลงไปข้างล่างไปทำนา มันต้องใช้น้ำ ไม่มีน้ำ เกษตรกรจะประสบปัญหาน้ำแล้ง นอกจากนี้เกษตรกรก็จะไม่ต้องเจอปัญหาเผชิญกับผลผลิตที่ไม่ทันเวลา เพราะว่าเขาไม่ได้ต้องส่งขาย

 

การที่บังคับเขาต้องเข้าไปทำงาน การที่ได้เงินน้อยกว่าความเป็นจริง ให้เขาต้องเข้าสู่ระบบเกษตรกรรมเชิงธุรกิจให้ได้ มันเป็นการที่เรากำลังบังคับให้คนกลุ่มหนึ่งจนอย่างไม่มีเหตุผล แล้วประเทศไม่ได้อะไรจากตรงนี้ นอกจากมลภาวะเพิ่มขึ้น ข้าวของที่มันถูกผูกขาดมากขึ้น เกษตรกรรมที่ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร

 

 

แล้วเฌอเอมเกี่ยวอะไรกับบางกลอย

จริงๆ แล้ว เฌอเอมไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบางกลอย วันนั้นที่ขึ้นเวที หลายคนไม่ได้ทราบว่ามันไม่ใช่คิวของเอมเลย เอมได้รับโทรศัพท์ที่เร่งด่วนมาก เพิ่งได้รับรางวัล Fever Award 2020 เสร็จก็ได้รับเชิญมาให้มาช่วยพูด เราก็ได้ เราก็ตามเรื่องคุณบิลลี่มาระดับหนึ่ง แต่เราก็ไปศึกษามาว่าจะพูดอะไร การพูดอะไรสักอย่าง ต้องสนใจอย่างแท้จริง เราสนใจวิถีชีวิต พอจบปราศรัยวันนั้น เราก็มาศึกษาเรื่องการถูกกีดกันจากความเป็นชาติ เป็นพลเมืองชั้นสอง ทำไมชาวกะเหรี่ยงไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งสุดท้ายแล้วเกี่ยวกับป่า

 

เชื่อไหมว่าไร่หมุนเวียนคือชีวิตของชาวกะเหรี่ยงคือจุดเริ่มต้นศาสนา วัฒนธรรม ที่สำคัญคือจักรวาลวิทยา คือผู้ใหญ่บ้านพูดกับเอมว่า คุณไม่มีบ้านไม่มีเงินทองคุณอยู่ได้ แต่คุณไม่มีข้าวคุณอยู่ไม่ได้ เพราะถ้าคุณใช้ที่ดินข้างล่างคุณใช้เงินทองข้างล่างหรืออิงกับเศรษฐกิจมากเกินไปซึ่งมันเกิดกับชนชั้นล่างและชนชั้นกลางในตอนนี้ของประเทศไทยทุกภูมิภาค วัฒนธรรมป่าเป็นโลกของกะเหรี่ยง 

 

ทุกอย่างเกิดจากป่า เหมือนเขาจะไม่ได้เชื่อในเทวดา สวรรค์ชั้นฟ้าแบบคนกรุงเชื่อ เทพ เขาคือเจ้าป่าเจ้าเขา วัฒนธรรม การจักสาน คือการปรับให้ใช้ชีวิตในป่าลายผ้า คือสำหรับเราวัฒนธรรมอาจเป็นศิลปะ เป็นโขน เป็นฟ้อนรำ แต่สำหรับเขาวัฒนธรรมทั้งหมดคือธรรมชาติ 

 

จริงๆ มันก็เหมือนถ้ามองสุดโต่ง ก็เหมือนการย้ายบ้าน ทำไมเขาไม่ปรับตัว

เขาปรับตัวไม่ได้คือ หนึ่ง เขายังไม่ได้มีความรู้เท่าคนกรุง การศึกษาอาจไม่ได้เข้าไปถึงหรือเปล่า หรือแม้เข้าถึง การศึกษาก็ไม่ได้ทำให้มีรายได้ แต่ปัญหาคือก่อนหน้านี้กะเหรี่ยงไม่เคยยากจน คุณบังคับให้เขาจน ทั้งที่จริงๆ มันควรผสานกันได้ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็นคนเมืองอยากทำงานในเมืองคือมีความเจริญได้ แต่เขาต้องเลือกได้ว่าอยากทำอะไร 

 

คือมันไม่มีทางเลือก

ใช่ ไม่มีทางเลือก แล้วในชุมชนอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ทำ ก็มีการปลูกข้าวโพด มีทั้งข้าวโพดไร่ ที่เรากิน ก็มีการเผาไร่ โดยการเผาไร่ไม่ได้มีการเปลี่ยนหน้าดิน แต่ใส่ปุ๋ย ใส่ยาลงไป แล้วก็ยังมีชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ แล้วถูกบังคับให้เปลี่ยนจากการปลูกพืชหลากหลายทำไร่หมุนเวียน แล้วให้อยู่ที่เดิม ปลูกแต่ข้าวโพด ซึ่งมันทำให้เสียเงินมากขึ้น ได้เงินน้อยลง เสียวัฒนธรรม เสียภาษา จนถึงขั้นบางคนต้องเป็นโสเภณี มันก็จะเกิดเป็นปัญหาซ้ำซ้อน 

 

บางคนลงไปไม่ได้สัญชาติก็ถูกจับเฉยๆ เลยก็มี หรือว่าลงไปแล้วจากที่พอกินทั้งครอบครัว ไม่พอกิน ก็ต้องชิงพื้นที่ข้างล่างกันมากขึ้น ขัดแย้งในชุมชนมากขึ้น ไม่ใช่ว่าบ้านหลังใหม่จะเป็นบ้านที่ดี แล้วกะเหรี่ยงเป็นชาติพันธุ์ กะเหรี่ยงจะมีกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ชาวลาหู่

 

ถ้าคุณดูแผนที่ชนเผ่า ตรงไหนมีกะเหรี่ยง ตรงนั้นจะมีป่า เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ากะเหรี่ยงคือผู้อนุรักษ์ป่า ถ้าเขาไม่อนุรักษ์เมื่อไร มันเหมือนเขาผิดกับบรรพบุรุษ เหมือนกับการที่เอมไม่ได้เคารพธงชาติ เหมือนกับการที่คนพุทธตัดเศียรพระพุทธรูป ถ้าเขาไม่เคารพป่า เหมือนเขาไม่ได้เคารพจิตวิญญาณของตัวเขาเองแล้ว มันไม่มีทางที่เขาจะไม่อนุรักษ์

 

 

เราจะช่วย Save บางกลอย ได้อย่างไรบ้าง

อันที่จริงเขาเพิ่งเพิ่มข้อเสนอเข้าไป มีถึง 7 ข้อ รวมๆ คือต้องการให้มติ ครม. กลายเป็น พ.ร.บ. ต้องการให้สภาชนเผ่ามีอำนาจต่อรอง และต้องการให้ชาวบางกลอย สามารถกลับขึ้นไปใจแผ่นดิน พื้นที่ทำกินได้ แล้วก็เจ้าหน้าที่เรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกันมันก็จะอนุรักษ์ได้อย่างยั่งยืน เราไม่สามารถสรุปการเกษตรหมุนเวียนได้ มันจะเท่ากับการกักขังภาพลักษณ์ให้เหมือนกับภาพลักษณ์ตายตัว มันจะนำไปสู่กับจำกัดทางเลือกเชิงนโยบายให้แคบลง จนอาจซ้ำเติมให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ แทนที่จะเปิดทางเลือกเชิงนโยบายให้กว้างขวางยืดหยุ่นพอทั้งคนทั้งรัฐ และนี่คือการให้พื้นที่การทำตามหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นเราจะมี พ.ร.บ. ชนเผ่าพื้นเมือง 

 

เอมคิดว่าเราและรัฐน่าจะเข้าใจพันธุ์พืชและพื้นที่ได้ดีกว่านี้ พอเราร่วมมือกันมันจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ เพิ่มแรงจูงใจให้เขาอยากจะรักษาป่า รักษาลุ่มน้ำเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ทำอยู่แล้ว ถ้าทำแบบเดิมต่อไป หลายพื้นที่ก็มีปัญหา แม้ไม่หนักเท่าบางกลอย เราจะสูญเสียพันธุ์พืชพื้นเมืองและภูมิปัญญา ดังนั้นความเป็นไทยก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะความเป็นไทย แท้จริงแล้ว ก็คือชาติพันธุ์ 

 

คุยเรื่องเฌอเอมบ้าง ตอนนี้ทำอะไรบ้าง

 

ว่างงาน คือข้อความจาก NGO เข้ามาเต็ม DM เลย เท่ากับว่าตอนนี้ไม่ได้มีงานประจำที่มีรายได้ 

 

แล้วสิ่งที่ทำทุกวันนี้อะไรบ้าง

เมื่อก่อนต้องบอกว่ามีงานบ้าง งานเอมถูกกระทบด้วยการเมืองเป็นหลัก มันเป็นภาพลักษณ์ที่คนไทยเชื่อว่าใครพูดเรื่องการเมือง รุนแรง แล้วการเมืองพูดได้ฝั่งเดียวเท่านั้น แล้วเอมก็ถูก Exclude ออกเป็นคนนอก เป็นคนอื่น  

 

อันนี้ก็เหมือนชาวบางกลอยที่ถูกคนไทยผลักเป็นคนชายขอบ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเข้าใจเขา พอเราพูดเรื่องนี้ เราสนใจลึกลงไป เราอยากทำโครงการ อยากช่วยพวกเขา ตอนนี้เหมือนเอมเป็น NGO อิสระ แต่ไม่มีบริษัท เราทำทุกอย่างด้วยตนเอง ที่ทำคือพูด เสนอไอเดีย เราอาจเป็นส่วนหนึ่งในโครงการต่างๆ จบโครงการก็มูฟไปกับองค์กรอื่น  

 

ตอนนี้นอกจากการพูดในสิ่งที่ชาวบ้านฝากให้เป็นตัวแทนหมู่บ้านไปพูดตามสื่อต่างๆ อย่างเช่น THE STANDARD ตอนนี้ เราก็ทำให้ดีที่สุด เราก็อยากจะถ่ายสารคดีเรื่องของชาวบางกลอยหรือชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นแคมเปญรณรงค์ พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ ซึ่งเอมไม่มีทุน แต่เอมจะใช้ชื่อเสียงของเอมว่าจะเป็นคนโปรโมต เราจะเป็นสปีกเกอร์ เราจะเป็นคนพากย์ เราจะติดต่อต่างประเทศ นี่คือทั้งหมดที่เรามีในการใช้จ่าย

 

 

การเป็นคนอื่น มัน Suffer อย่างไร 

เอมมองว่าการมีชีวิตอยู่มันต้องได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ว่าคุณจะอยู่คนเดียวได้เท่าไร หรืออะไรก็ตาม การที่ออกไปแล้วรู้สึก มันถูกผลักให้โดดเดี่ยว มันไม่มีวันที่จะมีความสุข เพราะว่าคุณจะระแวงตลอดเวลา ว่าจะมีคนคิดร้ายทำร้ายคุณหรือเปล่า 

 

วันหนึ่งที่คุณต้องการความช่วยเหลือคุณต้องอยู่คนเดียวหรือเปล่า และที่น่าเจ็บช้ำที่สุดคือการคุณช่วยเหลือคนอื่น แต่เมื่อคุณลำบากไม่มีใครช่วยเหลือคุณ นั่นคือสิ่งที่เกิดกับชาวกะเหรี่ยงเหมือนกัน

 

ทุกครั้งที่มีคนติดป่า เจ้าหน้าที่ประสบปัญหา เขาเป็นผู้ที่ช่วยเจ้าหน้าที่ เขานำทางในป่า เขาปกป้องผืนป่า แต่วันหนึ่งเขาถูกไล่ออกจากป่า

 

แน่นอนว่าคนส่งข้อความหาเอมเยอะแยะว่าขอบคุณ แต่เมื่อถึงฉากหน้า เอมโดนคอมเมนต์ถล่มเป็นหมื่น ไม่มีใครเข้ามาให้กำลังใจหรืออยากที่จะทะเลาะ แต่หลังๆ ก็มีมาแล้ว มีการมาช่วยดีเฟนด์ในข้อความที่ด่าว่าเรา ซึ่งมันทำให้เราใจชื้นว่าเราไม่เสียสุขภาพจิตหรือไม่ได้มีใครอยากให้เราเสียสุขภาพจิต เพราะสุดท้ายแล้วที่เราไม่อยากยุ่งเรื่องพวกนี้มันเสียสุขภาพจิต คนที่ออกมาด่านหน้าที่สุด คือคนที่เสียสุขภาพจิตที่สำคัญคือเจ็บปวดและถูกทำร้ายที่สุด

 

เอมไม่เคยบอกให้คนมา Call Out เอมเข้าใจข้อจำกัดของคน ให้ออกมาในเวลาที่แน่ใจ ทุกคนต้อง ยังไงดีล่ะ คือคนที่ออกมาวันนี้มันคือคนที่ทนไม่ไหวในวันนี้ พรุ่งนี้เพื่อนคนนี้อาจเป็นคนที่ทำไม่ไหวก็ได้ อีกสิบปีอาจเป็นคนนี้ เขาจะออกมาทดแทนเราอยู่ดี แต่ในตอนที่เราออกมา เราก็ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด อีกอย่างก็คือ อย่าลืม หรืออย่าค่อนขอดกันเกินไปนัก เพราะท้ายที่สุดจะมีคนที่หล่นหายไปตามกาลเวลา ทั้งที่เขาออกมาพยุงให้การต่อสู้มันต่อไปได้ แล้วก็หายไปโดยไม่มีการจดจำ คนที่ออกมาโดยมันเลือกไม่ได้ คนเหล่านั้นคือคนที่เสียเปรียบที่สุดแล้วต้องการกำลังใจที่สุด 

 

มีโมเมนต์ในชีวิตช่วงที่ผ่านมาที่รู้สึกว่า เออ เราเป็นคนอื่นโดยสมบูรณ์แบบแล้ว

จริงๆ ก็รู้สึกทั้งชีวิต ทั้งชีวิตเอมไม่เคยเป็นพวกเรา เอมคือพวกเขา ทั้งชีวิต สังเกตว่าเอมจะเป็นคนที่ ความจริงแล้วถ้าจะข้ามตอนวัยรุ่นไป การวางตัวแม้แต่ช่วงประกวดที่ผ่านมา เอมก็มีความสุภาพ ที่สำคัญก็คือเอมมีมารยาทของการอยู่ในสังคม แต่ด้วยความคิดการมองโลกในแง่มุมที่ต่าง ที่สำคัญก็คือมันแหกขนบเก่าๆ ทั้งหมด มันทำให้คนรู้สึกว่าเราเป็นคนก้าวร้าว เราเป็นคนไม่มีมารยาท เอมเคยทวีตไปอันหนึ่ง ซึ่งวันนี้ถูกค่อนขอด เรื่องการนอนฟังเพลงชาติ ก็คืออยากให้เปลี่ยนจากใคร่ศีลธรรมมาใคร่มารยาท จะได้รู้จักการเคารพสิทธิหรือมารยาทในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น นั่นคือการไม่ทำให้ใครเดือดร้อน 

 

ความจริงการที่เราอยู่กับชาวบางกลอย มันเป็นบรรยากาศของความเป็นบ้าน และอันที่จริงไม่อยู่ในกฎหมายด้วยซ้ำว่าต้องยืน คือความเชื่อที่แตกต่างมันจะถูกมองว่าเป็นปีศาจเป็นผีร้ายอยู่เสมอ มันจะต้องขัดกับศีลธรรมอันดีงามใดๆ โน่นนั่นนี่ คือถามว่ามันดูรุนแรงไหม ถ้าเราแตะกับเรื่องศีลธรรม มันดูรุนแรง อย่างศาสนากะเหรี่ยงเป็นศาสนาผี ก็จะมีชาวพุทธบางส่วนไม่เห็นด้วยที่จะให้คงวิถีความเชื่อกะเหรี่ยงไว้ แต่เอมเป็นคนหนึ่งที่ดีเฟนด์ความเชื่อศาสนาผี เอมไม่สนับสนุนศาสนากระแสหลักในการกลืนกินศาสนาเล็ก นี่ก็ทำให้หลายคนรู้สึกว่าเรารุนแรงในเรื่องนี้ 

 

คือมันไม่ใช่ความรุนแรงแบบไปชกหน้า แต่การที่คุณไปโค่นต้นไม้ที่ฝังบรรพบุรุษเขา เอมเชื่อว่าเขายินดีถูกชกหน้า มันเป็นความรุนแรงเหมือนกันเพียงแต่คนละรูปแบบเท่านั้นเอง

 

หรือว่าเอมไม่ประนีประนอมกับสังคมรอบข้าง 

ก็ประนีประนอม แต่ก็เห็นว่าสังคมรอบข้างก็ไม่ประนีประนอมกับใคร ถ้าอันนี้เอมพูดแบบตรงๆ เอมไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องเชื่อฉัน ไม่รักก็ออกไป มันมีคนแบบนี้แหละ มันมีซ้ายแบบนี้ 

 

ด้วยความที่เอมเป็นฝั่งอนุรักษ์ที่พูดเรื่องฝั่งก้าวหน้าบางทีก็ไม่แตะ ดังนั้นพอเวลาโดนชมบางทีก็โดนชมทั้งสองฝ่าย โดนว่าก็จะโดนว่าทั้งสองฝ่าย มันก็จะมีซ้ายใจหมา มีขวาดัดจริตที่จะโจมตีกันไปมาอยู่อย่างต่อเนื่อง เราแค่ขอพื้นที่ในการพูดสิ่งที่มันเสมอกัน 

 

วงการบันเทิงเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ได้ ทำไมครั้งนี้ทำไม่ได้ เราเคยแสดงออกว่าเราต้องการรูปแบบการปกครองแบบนี้ได้ ทำไมครั้งนี้ทำไม่ได้ อย่างกะเหรี่ยงก็ยังมีสถาบันของเรา ซึ่งคำว่าสถาบันมันไม่ใช่แทนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สถาบันคือคำนามเฉยๆ ที่แทนองค์กรปกครองส่วนชุมชน ภูมิภาค หรือประเทศ เพราะฉะนั้นการที่มีสภาชนเผ่า การต้องการมีรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งเหล่านี้มันต้องเป็นสิ่งที่พูดได้ เอมไม่ได้มีความเห็นกับทุกสถาบันด้วย บางสถาบันเอมไม่ได้คิดเลยว่าต้องการอะไรจากสิ่งนั้น ก็คือปล่อยไป แต่เอมต้องการพื้นที่ในการพูดสิ่งที่เอมมีความเห็น

 

แล้วต่อมาก็คือสื่อ การเสพสื่อ คือคนรุ่นเก่า อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าเราโตในรุ่นที่เราตั้งคำถามสื่อได้ เราสร้างสื่อได้ เมื่อก่อนมันจะมีแค่สื่อหลักกับสื่อลือ ก็คือข่าวลือ สื่อหลักร้ายแรงที่สุดคือดาวสยาม เราจะเห็นว่ามีประสิทธิภาพอย่างไรในการสื่อสาร ควบคุมความคิดเรา

 

เพราะฉะนั้นการเสพสื่อคนรุ่นเก่าจะเชื่อว่าอะไรออกในสื่อมันคือความถูกต้อง และพอมาถึงยุคปัจจุบันที่สื่อมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความน่าเชื่อถือมันไม่ต้องเยอะแล้ว แต่มีความน่าเชื่อถือสูงกับคนกลุ่มเดียว ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่พร้อมจะออกมาโจมตีคนอื่นด้วย เสียงมันจะยิ่งดัง เช่น เฟกนิวส์ สำนักข่าวที่ก่อตั้งมาด้วยความไม่เป็นจริง หรือว่าการเชื่อมโยงประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย 

 

เอมพูดเรื่องความเป็นชาติ การไม่ถูกยอมรับเป็นคนไทยแล้วชาวกะเหรี่ยงจำเป็นต้องเคารพเพลงชาติไทยที่แต่งในยุคชาตินิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือไม่ มันก็ไม่เมกเซนส์ เพราะฉะนั้นชาวกะเหรี่ยงนั่ง เอมเป็นคนเมือง พูดกับชาวกะเหรี่ยง เอมก็ต้องนั่ง เพราะ ณ โมเมนต์นั้นเราใช้เสียงเพื่อชาวกะเหรี่ยง เราย่อมนั่ง ถ้าเขายังไม่สบายใจ คือเขายังคิดว่าเขาโดนจับถ้าเขานั่ง เขาไม่รู้กฎหมาย เรียกได้ว่าไม่มีใครอยากจะยืนด้วยความเต็มใจ แต่คิดว่าทุกคนต้องยืนเพราะถูกบังคับให้ยืน ดิฉันก็เอนเลยค่ะ เขาก็เห็นแล้วสบายใจขึ้น เพราะคิดว่าเราทำได้ เราสบายๆ ได้ เขาก็สบายๆ แล้วถ้าคนมาโฟกัสว่าการที่ดิฉันตีความเรื่องเพลงชาติ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อะไรก็ตามแต่ นี่คือการไม่ชอบโดยหลักเหตุผล คือการเข้าใจว่าเอมทำอะไร เพราะอะไร แล้วเขาไม่ชอบเพราะอะไร

 

แต่การที่ถูกว่าด้วยคำหยาบคาย เช่น เฌอเอมนางงามดอกทอง นอนแหก โชว์มดลูก  นางงามสิบแปดมงกุฎ นอนเหยียดตีนเคารพธงชาติ มันเป็นพวกชังชาติ คือเอมไม่เคยพูดคำหยาบออกสื่อ แต่มันจะไม่เห็นภาพ คือมันเป็นคอนเทนต์อะไร แต่พอยต์ก็คือมันเป็นการสแปมเฟกนิวส์อย่างนี้ ทีนี้พอมันแชร์เข้าไปในสื่อ ในไลน์ ให้คนที่ไม่ได้เท่าทันสื่อในปัจจุบัน เขาก็เชื่อ แล้วมันไม่ใช่การเกลียดด้วยการมีหลักการ คือเรียกง่ายๆ ว่ ความเกลียดชังในประเทศไทยตอนนี้มันไม่ได้ถูกทำความเข้าใจ 

 

ถ้าบอกว่าอยากดีเบตความเป็นชาติ แต่ส่งต่อคำว่าอีดอกทอง เอมก็ไม่แน่ใจว่าคอนเทนต์มันคืออะไร คือมันมีประโยชน์อะไร คือคนก็จะจำแค่อีนี่มันเลว แล้วเลวยังไง ก็มันนอนเคารพธงชาติ แล้วถ้าเอมถามว่า แล้วชาติคืออะไร ทุกคนไม่รู้ แล้วนอนเคารพธงชาติ ถ้ามันมีสิทธิ มันถูกต้องตามกฎหมาย แล้วมันผิดอะไร ถ้ามันผิดศีลธรรม แล้วศีลธรรมในชาติมันมาจากอะไร มาจากศาสนา ถ้าเอมไม่ได้นับถือเลยสักศาสนาแล้วเอมผิดยังไง เอมยังถือสัญชาติไทย เอมยังเป็นคนไทยอยู่ไหม ถ้าเอมไม่เคารพ แล้วย้อนกลับไป คนที่พูดเคารพความเชื่อของเอมหรือชาวกะเหรี่ยงหรือไม่

 

หลังจากนี้มองอนาคตของตัวเอง เจอเส้นทางที่จะเดินหรือยัง 

เอมชอบที่จะค้นคว้า ชอบที่จะทำความเข้าใจ Deep In ลงไปในเรื่องที่เราสนใจ แต่จะใช้งานอย่างไรให้เป็นอาชีพมันก็จะมีวิธีแตกต่างกันไป เป็นนางงามก็จะมีวิธีใช้งานในแบบนางงาม เป็นนักพูดก็แบบนักพูด 

 

ทีนี้สมมติว่าเราอยากเป็นนักเคลื่อนไหว ทำงานสิทธิมนุษยชน เราเปลี่ยนวิธี แต่ดำเนินชีวิตเหมือนเดิม ทีนี้อยู่ที่ว่าเป็นอาชีพได้จริงหรือเปล่า 

 

ทุกคนต้องทำงาน ต้องใช้เงิน คือมันไม่สามารถที่จะทำแล้วแสวงหาความสุขทางจิตวิญญาณได้อย่างเดียว หลายการชุมนุมสุดท้ายมันต้องกลับไปหาเลี้ยงชีพ ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่เกิดกับเกษตรกรตลอดเวลา ก็คือไปประท้วง ไปเรียกร้อง ยังไม่ทันได้อะไรก็ต้องกลับบ้านเกิดเพราะไม่มีเงินกิน 

 

เอมเองก็อยากอยู่กับพี่น้องชนเผ่าไปนานๆ เพราะ พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ เอง แน่นอนว่าก็ไม่ได้มีเฉพาะชาวกะเหรี่ยง มันจะเป็นทุกชนเผ่าในไทย เราอยากจะทำแคมเปญให้มันดี เพราะฉะนั้นนานสุดก็อาจ 3 ปี 

 

เอมไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหว นักสิทธิ เอมก็ต้องพิสูจน์ว่าเรามีความสามาถที่จะช่วยเหลือ ที่สำคัญคือเราต้องการที่จะทำ นี่คือ Dream Job ของเรา มันเหมือนบอกว่าเรามาประกวดด้วยความฝัน นี่คือการทำงานที่เราต้องการที่จะ Invest ทุกอย่างของเราไปก่อนเพื่อที่เราจะได้ทำงานในเรื่องที่อยากทำ ที่สำคัญก็คืออยู่กับคนที่ต้องการเรา เราอยู่กับคนที่ต้องการเรา เราจะไม่เป็นคนอื่น 

 

 

ถ้าวันนั้นได้อยู่บนเวที เฌอเอมคนนั้นกับคนนี้จะเหมือนกันไหม

ที่จริงเป็นคนเดิมตลอด ถ้าดูในความเชื่อเอมแบบลึกๆ เราไม่เคยเป็นคนที่ตามกระแส เรามาจากมุมที่มันเป็นส่วนน้อยเสมอ เราอยู่ในมุมกลับเสมอ และที่สำคัญก็คือเราไม่สามารถเข้าเกณฑ์ของอะไรได้ เข้าเกณฑ์ความสวยก็ไม่ได้ เกณฑ์การพูด ก็ไม่ได้ ทุกอย่างของเราที่เป็นนางงามไม่ถูกยอมรับเลย 

 

มีวิธีของเราก็คือเราจะต้องให้นิยามใหม่ของเกณฑ์ทั้งหมดใหม่ คำว่า ดี คำว่า ผู้หญิง คำว่า ตัวแทนประเทศ ความเป็นนางงาม เรานิยามทั้งหมดขึ้นมาใหม่ ถ้าเราตามมาตรฐานไม่ได้ เราต้องทำให้มาตรฐานมันกว้าง เช่นเดียวกันสำหรับคนกลุ่มน้อย วัฒนธรรมคืออะไร ถ้าเขาตามคนส่วนใหญ่ไม่ได้ เขาไม่เข้าเกณฑ์ศีลธรรมอันดีงามของไทย เราต้องให้คนไทยเข้าใจให้ได้ว่ามาตรฐานของประเทศอยู่ที่ความหลากหลาย 

 

เราจะต้องเปลี่ยนสิ่งนี้ให้ได้ นี่คือตัวตนของเอมตั้งแต่วันที่เอมใส่ชุดสีดำแดงถึงวันนี้ เหมือนกันทั้งหมด 

 

 

สุดท้าย ที่เคลื่อนไหว ที่เป็นกระบอกเสียง มันตอบโจทย์อะไรของเฌอเอม

จริงๆ มันไม่ได้ตอบโจทย์ทางการใช้ชีวิตเลย เรียกได้ว่าเหมือนชื่อเสียงหรือความเข้าใจที่คนคิดว่าเราทำเพื่อสังคมเรามีพื้นที่สื่อ ที่เขาคิดกันไปเอง ชีวิตความสะดวกสบายของเอมมันลงเหวทั้งหมด เรียกได้ว่าเสียทุกอย่าง เราเสียอาชีพ เสียเงิน ที่สำคัญก็คือเราเสียความเป็นส่วนตัว เราเสียความเป็นมนุษย์เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณเป็น Public Figure จะไม่มีใครมองคุณในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ทุกคนมีความคาดหวังให้คุณตลอดเวลา แล้วถ้าคุณเป็นบุคคลสาธารณะคุณจะผิดเสมอ ผิดตลอดเวลา ผิดในทุกประเด็น คุณต้องขอโทษก่อน คุณต้องผิดมากที่สุด คุณต้องเอาชื่อเสียงของคุณเองมามองว่าเป็นทรัพยากร ไม่ว่ามันเป็นธรรมหรือไม่ นี่คือสิ่งที่คนภายนอกคาดหวังให้คุณทำ และคุณต้องทำ แล้วความเกลียดของคนนั้นมันไม่ได้มีเหตุผล และความชอบของคนก็ไม่ได้มีเหตุผลเหมือนกัน การที่คนอยู่กับเราไม่ว่าตอนที่เผชิญอุปสรรค หรือตอนเที่เราเปลี่ยนเป็นเรื่องโชคดีมาก

 

แต่ทุกอย่างมันมีสองขั้วเสมอ เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องเข้าใจว่าสังคมต้องการอะไรจากคุณ นี่คือสิ่งที่เสียมากที่สุด คือเอมไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยการเป็นคนธรรมดาได้อีกเลย เพราะฉะนั้นไม่ตอบโจทย์ แต่คือเรามีเป้าหมายในการใช้ชีวิต เพราะถ้าเราอยู่ว่างๆ เราจะเสียความเป็นตัวเองแล้วจะรู้สึกเราไม่มีค่า 

 

การที่เราได้มีอะไรสักอย่างให้พุ่งเป้า ได้ให้ความสำคัญ ที่ในฐานะตัวเราที่เป็นตัวเรา ที่มีความรู้ทั้งหมดที่ได้สั่งสมมาเป็นตัวเราก่อนที่เราอายุ 26 ปี มันได้ใช้ทั้งหมดเพื่อสิ่งหนึ่ง มันใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่าความฝัน เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งเดียวที่ออกมา Save บางกลอย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising