×

เหตุรถไฟบรรทุกสารเคมีตกรางในโอไฮโอ ถูกเปรียบเป็น ‘เชอร์โนบิล 2.0’ ร้ายแรงขนาดนั้นจริงหรือ

โดย THE STANDARD TEAM
19.02.2023
  • LOADING...

เหตุการณ์ขบวนรถไฟที่บรรทุกสารเคมีอันตรายประสบเหตุตกรางในเมืองอีสต์ปาเลสไตน์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับชาวเมืองและนักสิ่งแวดล้อมว่าสารพิษที่รั่วไหลจากตู้รถไฟอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ และปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน 

 

แม้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศพยายามสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า สภาพอากาศของเมืองไม่ได้อยู่ในระดับที่เป็นอันตราย เช่นเดียวกับน้ำที่ปลอดภัย สามารถดื่มได้ แต่ถึงกระนั้นชาวเมืองก็ยังคงไม่สบายใจ เนื่องจากได้กลิ่นเหม็นของสารเคมี หลายคนมีอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า ปลาในลำห้วยลอยตายหลายพันตัว ส่วนไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้อยู่ดีๆ ก็ล้มตาย ขณะที่สัตว์เลี้ยงอื่นๆ ก็มีอาการป่วย

 

บทความจาก The New York Times ระบุว่า บรรดานักวิจารณ์การเมืองต่างหยิบยกเรื่องนี้มาวิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ซึ่งดูเหมือนว่าบางเรื่องจะห่างไกลจากข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏมาก โดยเฉพาะนักวิจารณ์ฝ่ายขวาที่ถือโอกาสใช้ประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความไม่ไว้วางใจต่อหน่วยงานของรัฐ และชี้ว่าความเสียหายนั้นไม่สามารถแก้ไขได้

 

ในสื่อสังคมออนไลน์เช่น Twitter และ Telegram มีผู้ใช้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อข่าวหรือโพสต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์รถไฟตกรางในโอไฮโอกันเป็นจำนวนมาก และเรียกสถานการณ์นี้ว่า ‘ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘เชอร์โนบิล 2.0’ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในยูเครนระเบิดเมื่อปี 1986 

 

บรรดาผู้ใช้โซเชียลออกมาเตือนโดยไม่มีหลักฐานว่า แหล่งกักเก็บน้ำสำคัญๆ ที่ให้บริการในรัฐต่างๆ ที่อยู่ท้ายแม่น้ำอาจปนเปื้อนอย่างรุนแรง และชี้ว่าทางการ บริษัทรถไฟ และสื่อกระแสหลักจงใจปกปิดยอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริง

 

 

สื่อฝ่ายขวา-สื่อโซเชียลกระพือข่าว กลบช่องสื่อกระแสหลัก 

Conservative Daily Podcast ซึ่งเป็นรายการพอดแคสต์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเปิดประเด็นพูดคุยแบบขวาสุด ตั้งคำถามว่า เหตุการณ์นี้เป็นการ “วางแผนโจมตี ปกปิด หรือทั้งสองอย่าง” 

 

นอกจากสื่อโซเชียลแล้ว ข่าวลือบางส่วนยังมาจากสื่อกระแสหลักด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Fox News ซึ่งชี้ว่าผลกระทบของเหตุการณ์นี้อาจเป็นหายนะ

 

“คุณต้องตอกบัตรเข้างานตอน 9 โมงเช้าที่โอไฮโอ แม้ว่านั่นจะหมายถึงการต้องทนสูดดมแก๊สมัสตาร์ดระหว่างเดินทางไปทำงานก็ตาม” เจสซี วอตเตอร์ส ผู้ดำเนินรายการของ Fox News กล่าวเสียดสีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา “เมืองในโอไฮโอดูเหมือนเชอร์โนบิล”

 

สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลาง และเจ้าหน้าที่ของรัฐโอไฮโอ ต่างยอมรับว่าสถานการณ์ในเมืองอีสต์ปาเลสไตน์กำลังเลวร้ายในหลายๆ ด้าน ขบวนรถไฟตกรางส่งผลให้ตู้รถไฟ 50 ตู้จากทั้งหมด 150 ตู้ถูกเผาไหม้หรือได้รับความเสียหาย พร้อมปล่อยควันพิษออกมาเป็นเวลาหลายชั่วโมง และมองเห็นได้ไกลหลายไมล์ ขณะที่ทางการเร่งอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงออกจากพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าตู้รถไฟบางตู้อาจระเบิดขึ้น ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการควบคุมการเผาไหม้ในเวลาต่อมา

 

ไม่กี่วันหลังเกิดเหตุ EPA ออกมาแถลงว่า คุณภาพอากาศในเมืองอีสต์ปาเลสไตน์กลับสู่ระดับที่ปลอดภัยแล้ว ชาวเมืองที่อพยพไปก่อนหน้านี้สามารถกลับเข้าบ้านของตนเองได้ แต่ขณะเดียวกันก็เตือนว่า แม้ความเข้มข้นของสารเคมีต่ำกว่าระดับที่เป็นอันตราย แต่ประชาชนก็อาจจะยังได้กลิ่นของสารปนเปื้อน ขณะที่ในการทดสอบน้ำนั้น EPA กล่าวว่า ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อระบบน้ำสาธารณะจนถึงตอนนี้ แต่อาจต้องตรวจสอบบ่อน้ำส่วนบุคคล พร้อมกับเตือนว่ากิจการสาธารณูปโภคที่ดึงน้ำมาจากแม่น้ำโอไฮโอควรใช้ความระมัดระวัง

 

ในการประชุมทาวน์ฮอลล์เมื่อวันพุธ ชาวเมืองที่โกรธเคืองและผิดหวังพยายามกดดันเจ้าหน้าที่ให้ยืนยันว่าอากาศและน้ำปลอดภัย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบที่อาจตามมาในระยะยาว โดยเตือนว่าสารปนเปื้อนในอากาศสามารถเกาะบนพื้นผิว ซึมลงสู่บ่อน้ำ และเคลื่อนตัวผ่านรอยร้าวไปยังชั้นใต้ดินและบ้าน

 

แต่ถึงกระนั้น บรรดาอินฟลูเอ็นเซอร์ตามสื่อโซเชียลและนักวิจารณ์ฝ่ายขวาก็ด่วนสรุปด้วยข้อสรุปของตนเอง โดยพากันอ้างทฤษฎีเกี่ยวกับขอบเขตของความเสียหายและการตอบสนองของรัฐบาลกลาง ซึ่งพวกเขากล่าวว่าเป็นการปกปิดความจริงอย่างกว้างขวาง

 

“ความคิดที่ว่าเราไม่สามารถไว้วางใจรัฐบาลกลางให้เป็นผู้บอกเราว่าปลอดภัยหรือไม่ที่จะเข้าไปในพื้นที่เช่นนี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัวจริงๆ” นิค ซอร์ทอร์ นักข่าววิดีโอที่เกาะติดสถานการณ์รายงานข่าวจากอีสต์ปาเลสไตน์ กล่าวกับ ทัคเกอร์ คาร์ลสัน ในรายการ ‘Tucker Carlson Tonight’ ซึ่งเป็นรายการยอดนิยมของ Fox News

 

“พวกเขาบังคับประเทศนี้ฉีดวัคซีนโควิด” คาร์ลสันตอบ “ดังนั้นผมคิดว่าพวกเขาไว้ใจไม่ได้”

 

ด้าน พีต บุตติเจจ รัฐมนตรีคมนาคมซึ่งดูแลการรถไฟ ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มอนุรักษนิยมเช่นกัน คาร์ลสันเรียกบุตติเจจว่า “ไร้ความสามารถอย่างมีสีสัน” และกล่าวว่าการกระทำของเขานั้นแสดงถึงความไม่ใส่ใจจนเกือบถึงขั้นชั่วร้าย

 

 

ไม่ไว้ใจทางการ เชื่อปกปิดข่าว

ในโลกออนไลน์ มีผู้ใช้สื่อโซเชียลเขียนบทวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นพิษ ทั้งที่ตนเองไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ โดยคาดการณ์ว่าความเข้มข้นของไวนิลคลอไรด์ในอากาศ ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ถูกบรรทุกบนรถไฟนั้นสูงจนเป็นอันตราย พวกเขาปฏิเสธการประเมินของ EPA ที่ว่าอากาศปลอดภัย โดยสรุปเองว่าพื้นที่โดยรอบอีสต์ปาเลสไตน์มีการปนเปื้อนอย่างรุนแรงเป็นระยะทางหลายไมล์

 

“แม้ว่าฉันไม่ใช่นักเคมี แต่การค้นพบว่าสารประกอบเหล่านี้สามารถทำอะไรได้บ้างนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล” ผู้ใช้คนหนึ่งเขียนไว้ในแอปแชต Telegram โดยอ้างว่าสารพิษจะปลอดภัยกว่าหากไม่ถูกเผา ขณะที่ในการประชุมทาวน์ฮอลล์เมื่อวันพุธ (15 กุมภาพันธ์) เทรนต์ อาร์. คอนอะเวย์ นายกเทศมนตรีเมืองอีสต์ปาเลสไตน์ กล่าวว่า “มีสองทางเลือก: เราจะระเบิดมัน หรือปล่อยให้มันระเบิดตัวเอง ไม่มีทางเลือกที่สาม”

 

รายงานของสื่อท้องถิ่นได้อธิบายผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหลายประการจากการควบคุมการเผาไหม้ รวมถึงปลาที่ลอยตายในลำห้วยใกล้เคียง และสัตว์เลี้ยงบางตัวล้มป่วย ผู้แทนของ EPA กล่าวในที่ประชุมของเมืองว่า สารเคมีเป็นอันตรายต่อปลา แต่ไม่ใช่มนุษย์ และในแหล่งน้ำก็มีปลาชุกชุมอยู่แล้ว

 

แต่รายงานข่าวของสื่อเหล่านั้นถูกกลบหายไปอย่างรวดเร็วจากข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันและมีเนื้อหารุนแรงกว่ามาก เช่น รายงานเกี่ยวกับอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งขยายขอบเขตไปไกลกว่าบริเวณที่เกิดไฟไหม้

 

“มีรายงานว่าปลาและปศุสัตว์ตายห่างจากจุดเกิดเหตุถึง 100 ไมล์” สตู ปีเตอร์ส นักวิจารณ์ฝ่ายขวาเขียนบน Twitter โดยไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ ซึ่งมีผู้เห็นทวีตนี้มากกว่า 40 ล้านครั้ง

 

ประเด็นเรื่องการปกปิดความจริงกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนเชื่อกันอย่างมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพากันติดแฮชแท็ก #OhioChernobyl เพื่อแสดงว่าสื่อระดับประเทศและสื่อท้องถิ่นเพิกเฉยต่อภัยพิบัติ แม้ว่าองค์กรสื่อกระแสหลักเหล่านั้นต่างก็รายงานข่าวและสถานการณ์ในเรื่องนี้เช่นกัน

 

คำกล่าวอ้างเหล่านั้นได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากนักข่าวของ NewsNation ซึ่งเป็นช่องข่าวเคเบิลทีวีถูกจับกุมขณะรายงานข่าวในระหว่างการแถลงข่าว และถูกตั้งข้อหามีความผิดทางอาญาฐานบุกรุกและขัดขืนการจับกุม ก่อนที่จะมีการถอนข้อหาในเวลาต่อมา 

 

“เป็นไปได้อย่างไรที่นักข่าวถูกตั้งข้อหาว่า ‘มีความผิดทางอาญาฐานบุกรุก’?” คริส คูโอโม อดีตผู้ประกาศข่าว CNN ซึ่งปัจจุบันเป็นพิธีกรรายการทางสถานีข่าว NewsNation กล่าว “ผมจะอธิบายให้ฟัง นั่นเป็นเพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้คุณอยู่ด้วย”

 

เหตุการณ์รถไฟตกรางที่โอไฮโอ ซึ่งถูกนำไปเปรียบกับหายนะเชอร์โนบิลที่ยูเครน ทั้งที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือนั้น สะท้อนการมีอิทธิพลมากขึ้นของสื่อออนไลน์ สื่อฝ่ายขวา หรือแม้กระทั่งอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงนั้นๆ เลย แต่ข่าวลือสามารถแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ เพราะผู้คนกำลังหวาดผวากับภัยพิบัติต่างๆ จนหลายครั้งก็ขาดการกลั่นกรองข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน ซึ่งเหตุการณ์นี้สามารถเปรียบได้กับกรณีกองทัพสหรัฐฯ ยิงวัตถุลอยฟ้าปริศนาตก ซึ่งถูกนำไปเชื่อมโยงกับ UFO จากนอกโลก โดยมีชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อตามนั้นด้วย

 

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising