×

4 ผู้จัดการทีม นักเตะ 31 คน ทุ่มเงิน 600 ล้านปอนด์ สรุปแล้วเชลซีพลาดตรงไหน?

20.04.2023
  • LOADING...
เชลซี

โดยปกติแล้ว ติอาโก ซิลวา ปราการหลังอาวุโสของทีมเชลซี ซึ่งเป็นหนึ่งในสุภาพบุรุษลูกหนังที่ไม่ค่อยพูดพาดพิงอะไรถึงใครมากนัก แต่ภายหลังจากที่ทีมตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ที่เป็นความหวังสุดท้ายในฤดูกาลนี้ หลังโดนเรอัล มาดริด บุกมาสอยคาบ้านอีก 2-0 กองหลังชาวบราซิลตัดสินใจออกมาพูดและเป็นการพูดที่น่าสนใจ

 

“ผมคิดว่ามันมีการก้าวผิดพลาดตั้งแต่ก้าวแรกแล้ว” ติอาโกกล่าว “เราไม่สามารถจะโทษผู้จัดการทีมทุกคนได้ ถ้าเราไม่ได้ร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของสโมสร และมีเรื่องที่ไม่สามารถตัดสินใจได้มากมาย”

 

ติอาโก ซิลวา เล่าต่อถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากมายภายในสโมสร มีเจ้าของใหม่ มีนักเตะใหม่เข้ามามากมาย และดูเหมือนจะมากเกินไป

 

“เราต้องขยายขนาดห้องแต่งตัว เพราะมันไม่พอกับจำนวนนักเตะที่เรามี มองในแง่ดี นักเตะเหล่านี้ล้วนเป็นนักเตะที่ยอดเยี่ยม แต่ในอีกแง่ หมายถึงการที่จะมีนักเตะบางคนที่ไม่มีความสุขกับสถานการณ์ในเวลานี้ มันจะมีคนที่ผิดหวัง เพราะมีคนอื่นที่ได้ลงสนาม เพราะผู้จัดการทีมสามารถเลือกนักเตะได้แค่ 11 คน จากที่มี 30 กว่าคน”

 

สิ่งที่กองหลังประสบการณ์สูงต้องการจะชี้ให้เห็น ซึ่งก็เป็นสิ่งเดียวกับที่ทั้งวงการเห็นคือ เชลซีจำเป็นต้องหยุดแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ได้แล้ว

 

“เราจำเป็นต้องทำงานอย่างมีกลยุทธ์ ไม่เช่นนั้นในฤดูกาลหน้าเราก็อาจก่อความผิดพลาดแบบเดิมได้อีก”

 

เชลซี

 

ในถ้อยคำของ ติอาโก ซิลวา ถึงจะไม่มีการเอ่ยถึงชื่อใครเลย แต่ก็เลี่ยงได้ยากว่าคนที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เชลซีต้องตกอยู่ในสภาพนี้คือ ท็อดด์ โบห์ลี และ เบห์ดัด เอ็กห์บาลี สองเจ้าของร่วมของทีม

 

ย้อนกลับไปในวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของเชลซี เมื่อปีกลาย จากการที่รัฐบาลอังกฤษเข้าแทรกแซงกิจการของสโมสร ด้วยการสั่งให้มีการขายทีมที่เป็นสมบัติของ โรมัน อบราโมวิช ทอดตลาด เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการทำสงครามรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย ได้มีกลุ่มทุนจำนวนมากให้ความสนใจซื้อทีมระดับท็อปของวงการฟุตบอลต่อ

 

ปรากฏว่า เป็นกลุ่มทุนที่นำมาโดยโบห์ลี เจ้าของทีมเบสบอลแอลเอ ดอดเจอร์ส ที่เข้าป้ายคว้าสโมสรดังของลอนดอนมาครอบครองได้สำเร็จ

 

การตัดสินใจแรกที่โบห์ลีทำคือ การ ‘ล้างบาง’ คนสนิทของอบราโมวิชออกจากสโมสรเกือบทั้งหมด รวมถึง บรูซ บัค ประธานสโมสร, มารินา กรานอฟสกายา ผู้อำนวยการสโมสรคนเก่งที่ได้รับการยกย่องจากในวงการว่าเป็นหนึ่งใน Director ที่เก่งที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษ ไปจนถึง ปีเตอร์ เช็ก อดีตผู้รักษาประตูที่เป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารคนสำคัญที่มีส่วนประสานภายในสโมสร

 

การที่เจ้าของชาวอเมริกันทำแบบนี้ เข้าใจได้ว่าเพื่อต้องการ ‘รีเซ็ต’ สโมสรใหม่ให้เป็นไปในแนวทางของตัวเอง โดยจะส่งคนของตัวเองเข้าไปดูแลทุกจุด

 

ปัญหาคือ การหาผู้อำนวยการสโมสรที่มีความเก่งกาจในวงการฟุตบอลไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น แม้จะมีตัวเลือกดีๆ อย่าง ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ อดีตผู้อำนวยการสโมสรคนดังของลิเวอร์พูลที่เป็นอิสระ แต่การจีบมาร่วมงานนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก 

 

เชลซีจึงกลายเป็นสโมสรที่เหมือนผูกผ้าปิดตาแล้วเดินคลำทางไปในความมืด

 

เชลซี

 

สไตล์การทำงานแบบอเมริกันของโบห์ลียังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตั้งแต่ยังไม่ครบ 2 เดือนแรกของฤดูกาลใหม่ เมื่อมีคำสั่งฟ้าผ่าปลด โธมัส ทูเคิล ผู้จัดการทีมที่เป็นที่รักของแฟนบอล พ้นจากตำแหน่ง จากผลงานที่ย่ำแย่ในช่วงเริ่มต้นฤดูกาล และมีกระแสข่าวว่า เกิดความขัดแย้งภายในทีม เพราะกุนซือชาวเยอรมันเริ่มมีอาการฟาดงวงฟาดงา

 

ตามรายงานข่าวในช่วงนั้นระบุว่า โบห์ลีไม่ชอบนิสัยแบบนี้ของทูเคิล จึงตัดสินใจปลดจากตำแหน่ง และใช้เวลาไม่นานในการกระชากตัว เกรแฮม พอตเตอร์ ผู้จัดการทีมดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการฟุตบอลอังกฤษ มาจากไบรท์ตัน

 

ในขณะที่ โรมัน อบราโมวิช ให้สัญญากับโค้ชระดับท็อปของวงการอย่างทูเคิลแค่ 18 เดือน แต่โบห์ลีต้องการบอกกับทุกคนว่า เขามี ‘แผนระยะยาว’ กับสโมสร ต้องการจะสร้างทีมให้เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนผ่านการเสนอสัญญาระยะเวลาถึง 5 ปีให้กับพอตเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครในวงการเขาทำกัน

 

โบห์ลียังพยายามพิสูจน์ความ ‘ใจป้ำ’ ให้เห็นด้วยว่า ไม่ใช่เจ้าของสโมสรจอมตืด แต่เป็นป๋าจากอเมริกาจอมทุ่ม ที่สนับสนุนงบประมาณในการทำทีมแบบไม่อั้น 

 

นอกจากการเสริมทีมในช่วงฤดูร้อนถึง 13 คน โดยในจำนวนนี้เป็นนักเตะชุดใหญ่ถึง 6 คน ซึ่งรวมถึงนักเตะที่ค่าตัวไม่น้อยอย่าง ราฮีม สเตอร์ลิง (47.5 ล้านปอนด์จากแมนฯ ซิตี้), มาร์ค กูกูเรยา (56 ล้านปอนด์จากไบรท์ตัน) และ เวสลีย์ โฟฟานา (69.5 ล้านปอนด์จากเลสเตอร์) แล้ว

 

ในช่วงตลาดรอบการซื้อ-ขายฤดูหนาวก็ยังมีการเสริมทีมแบบไม่อั้นอีก 10 คน ซึ่งเป็นนักเตะชุดใหญ่ 8 คน ไม่นับตัวที่เซ็นสัญญาซื้อล่วงหน้าอย่าง คริสโตเฟอร์ เอ็นกุนกู ที่จะย้ายมาร่วมทีมอย่างเป็นทางการในช่วงปิดฤดูกาลนี้

 

เบ็ดเสร็จมีการประเมินว่า โบห์ลีใช้เงินไปมากกว่า 600 ล้านปอนด์สำหรับการเสริมทัพให้เชลซี ซึ่งในระหว่างนั้นก็อยู่ในสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ เพราะพอตเตอร์ไม่สามารถทำทีมได้ดีอย่างที่คาดหวัง และเริ่มมีการต่อต้านจากแฟนบอล 

 

เชลซี

 

นักเตะระดับ A-List อย่าง ชูเอา เฟลิกซ์, เอ็นโซ เฟร์นานเดซ และ มิไคโล มูดริก สร้างสีสันได้อย่างมาก เช่นเดียวกับ เบอนัวต์ บาเดียชิล กองหลังอนาคตไกล

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษต้องพยายาม ‘บาลานซ์’ การใช้งานนักเตะที่โบห์ลีหามาให้ จนกลายเป็นปัญหา เพราะไม่สามารถจัดทีมที่สมดุลได้ และไม่รู้ว่า Best XI ของเชลซีจริงๆ แล้วคือใครกันแน่

 

นั่นนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้งของเจ้าของชาวอเมริกันที่ไม่อาจทานกระแสต่อต้านไหว หลังพยายามดื้อแพ่งในการสนับสนุนพอตเตอร์มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายก็ต้องมีการสั่งปลดจากตำแหน่ง และให้ บรูโน ซัลตอร์ สตาฟฟ์ของทีม คุมทีมเป็นการชั่วคราว เป็นผู้จัดการคนที่ 3 ในฤดูกาลนี้

 

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาในสเต็ปต่อไปของโบห์ลีก็ดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาอีก เมื่อลังเลที่จะเลือกคนที่จะมารับตำแหน่งผู้จัดการทีมคนต่อไป เนื่องจากมีแคนดิเดตที่น่าสนใจทั้ง หลุยส์ เอ็นริเก และ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์

 

ในขณะที่พยายามติดต่อเอ็นริเก และอดีตโค้ชทีมชาติสเปนพร้อมจะรับตำแหน่งในทันที โบห์ลีกลับดึงเรื่องไว้ เพื่อหวังจะใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุดในการทำตัวเป็น ‘หมวกคัดสรร’ เลือกผู้จัดการทีมคนที่ใช่ที่สุดสำหรับทีม โดยเชื่อว่าเขาต้องการนาเกิลส์มันน์ ที่เพิ่งโดนบาเยิร์นปลดจากตำแหน่งแบบสุดช็อกเหมือนกัน ซึ่งมองแง่หนึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องดี 

 

เชลซี

 

แต่การตัดสินใจให้ แฟรงก์ แลมพาร์ด อดีตผู้จัดการทีม เข้ามารับตำแหน่งคุมต่อจนจบฤดูกาล กลายเป็น ‘หายนะ’ เพราะทีมแพ้รวด 4 นัดเข้าไปแล้ว ทีมอยู่อันดับที่ 11 ในพรีเมียร์ลีก ตกรอบทุกรายการ และอาจไม่ได้ไปสโมสรยุโรปในฤดูกาลหน้า (และคนที่เป็นแคนดิเดตอย่างเอ็นริเกก็ดูจะไม่พอใจกับการกระทำของโบห์ลีที่ทำแบบนี้)

 

และตัวเจ้าของสโมสรอย่างโบห์ลีและเอ็กห์บาลีก็ดูจะทำพลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อเข้าไปในห้องแต่งตัวหลังจบเกมที่พ่ายไบรท์ตันเมื่อสุดสัปดาห์ และตำหนินักเตะในทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘เจ้าของสโมสร’ ไม่ควรทำอย่างที่สุด

 

อาร์แซน เวนเกอร์ ตำนานผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ถึงกับบอกว่า ห้องแต่งตัวนั้นคือ ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ โดยที่หากเป็นเขาจะไม่มีวันให้เจ้าของสโมสรหรือผู้บริหารเข้าไปภายในได้เป็นอันขาด และความจริงก็ถึงขั้นมีการระบุในสัญญาเลยว่า ห้ามไม่ให้เจ้าของสโมสรเข้ามาพูดอะไรในห้องแต่งตัว

 

เพราะนั่นเป็นงานของผู้จัดการทีม คนที่มีสิทธิ์เด็ดขาดในการบริหารควบคุมทีม

 

โดยที่มีการเปิดเผยออกมาอีกว่า ก่อนหน้านี้โบห์ลีก็เคยทำแบบนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในการพามูดริกที่เพิ่งย้ายมาจากชัคตาร์ โดเนตสก์ เข้าไปแนะนำตัวกับเพื่อนร่วมทีมก่อนลงสนาม ซึ่งสร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนและไม่พอใจในหมู่นักเตะ เพราะช่วงเวลาก่อนลงสนาม ในห้องแต่งตัวของทีมคือช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนไว้สำหรับคนในทีมเท่านั้น

 

ทั้งหมดคือเรื่องราวยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นของเชลซีในฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งอ่านแล้วจะรู้สึกได้ว่าเต็มไปด้วยความผิดพลาด และคนที่มีส่วนต้องรับผิดชอบอย่างยิ่งคือตัวของโบห์ลี ในฐานะผู้นำที่ยังไม่เข้าใจการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในโลกที่มีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากอเมริกันเกม

 

แล้วสิ่งที่เขาควรทำต่อจากนี้ เพื่อแก้ไขทุกอย่างให้เชลซีกลับมาเป็นสโมสรที่ดีอีกครั้งให้ได้?

 

เชลซี

 

The Times มีการสรุป To-Do List ของเชลซีเอาไว้ ดังนี้

 

1. เฟ้นหาผู้จัดการทีมคนใหม่ 

เป็นหน้าที่ของ ลอว์เรนซ์ สจวร์ต และ พอล วินสแตนลีย์ ผู้อำนวยการสโมสรร่วม ที่จะคัดเลือกคนที่ใช่ (มากกว่าคนที่ชอบ) โดยตัวเต็งตอนนี้คือนาเกิลส์มันน์

 

2. ลดขนาดทีม 

การออกมาพูดของ ติอาโก ซิลวา คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า ปัญหาใหญ่ของทีมและผู้จัดการทีมคือ การมีนักเตะในทีมเยอะเกินไป โดยเวลานี้เชลซีมีผู้เล่นชุดใหญ่ในทีมถึง 31 คน นั่นหมายถึงคงจะต้องมีการ ‘โละ’ นักเตะออกจากทีมจำนวนมาก

 

ฮาคิม ซิเยค ซึ่งพลาดการย้ายไปเปแอสเช เพราะ ‘ความขัดข้องทางเทคนิค’ เมื่อเดือนมกราคม จะเป็นหนึ่งในกลุ่มนักเตะที่ย้ายออกไป ร่วมกับ ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง แต่ยังมีกลุ่มนักเตะที่อนาคตไม่แน่ไม่นอนอีกหลายคน เช่น เอดูอาร์ด เมนดี, เซซาร์ อัซปิลิกวยตา, มาเตโอ โควาซิช, รูเบน ลอฟตัส-ชีค, คริสเตียน พูลิซิช และคนที่แฟนๆ ไม่อยากให้ไปอย่าง เมสัน เมาท์ ที่ลิเวอร์พูลพยายามตามจีบอยู่

 

3. บริหารการเงิน

การทุ่มเงิน 500 ล้านปอนด์ และค่าเหนื่อยอีกมหาศาล ย่อมมีผลกระทบตามมาในเรื่องของกฎการเงิน Financial Fair Play 

 

ทั้งนี้ แม้เชลซีจะยังไม่อยู่ในสถานะ ‘เสี่ยง’ จะโดนเล่นงาน และต้องให้เครดิตกับการใช้ลูกเล่นทางบัญชี ด้วยการให้สัญญาระยะยาวกับนักฟุตบอล ทำให้ตัวเลขรายจ่ายของสโมสรไม่หนักหนามากไปนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยไปแบบนี้

 

เชลซีต้องพยายามบาลานซ์ส่วนนี้ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การขายนักเตะออกไป โดยเฉพาะนักเตะอังกฤษที่อยู่ในข่าย Homegrown (HG) อย่างเมาท์, คอเนอร์ กัลลาเกอร์ และ เทรโวห์ ชาโลบาห์ ที่จะมีโอกาสทำราคาได้สูง

 

4. หากองหน้าอาชีพสักทีเถอะ

ถึงจะเสริมทัพมากมายขนาดไหน ปัญหาของเชลซีที่เห็นกันตั้งแต่ต้นฤดูกาลคือ การที่ไม่มีศูนย์หน้าอาชีพจริงๆ สักที นักเตะที่มีอย่าง โรเมลู ลูกากู ก็ถูกปล่อยออกไปให้อินเตอร์ มิลาน ยืมตัว ส่วนโอบาเมยองนั้นหมดสภาพไปนานแล้ว (และย้ายมาไม่นาน คนที่ดึงมาอย่างทูเคิลก็โดนปลดอีก!) 

 

การเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับเอ็นกุนกูจากไลป์ซิกเป็นเรื่องที่ดี แต่บางทีอาจจะยังไม่เพียงพอ เชลซีน่าจะต้องการมากกว่านี้ เพราะเห็นแล้วว่าไม่สามารถฝากความหวังกับนักเตะอย่าง ไค ฮาเวิร์ตซ์ หรือสเตอร์ลิงได้ (และไม่ควรเซ็นเฟลิกซ์ถาวรด้วย) 

 

เรียกได้ว่าหลังจากนี้มีสิ่งที่เชลซีต้องบริหารจัดการอีกมาก มีการตัดสินใจสำคัญรออยู่อีกเยอะ โดยเฉพาะกับตัวของโบห์ลีและเอ็กห์บาลีที่โดนรับน้องเต็มๆ ในปีแรกกับพรีเมียร์ลีก โลกอีกใบที่ต่างและมีความซับซ้อนจากอเมริกันเกมที่คุ้นเคย

 

และบางทีสิ่งแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือ ‘สติ’ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X