ช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 25 มกราคม ตามเวลาประเทศไทย ข่าวการปลด แฟรงค์ แลมพาร์ด พ้นจากตำแหน่งนายใหญ่ของทีมเชลซีเริ่มสะพัดในสื่อต่างประเทศที่รายงานตรงกันหมด
แม้จะมีสถานะเป็นถึงหนึ่งในสองตำนานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งสแตมฟอร์ดบริดจ์ในยุคโมเดิร์น แต่สถานะดังกล่าวไม่สามารถปกป้องผู้จัดการทีมวัย 42 ปีได้ ในเวลาต่อมาไม่นานนักก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากทีม ‘สิงโตน้ำเงินคราม’ ว่าได้แยกทางกับแลมพาร์ดอย่างเป็นทางการ
จุดที่น่าสนใจคือในแถลงการณ์ฉบับอำลาจากเชลซีมีการให้เหตุผลในเรื่องของผลงานการคุมทีมที่ไม่เข้าเป้าอย่างที่คาดหวังไว้ด้วย ซึ่งปกติแล้วเป็นสิ่งที่จะไม่ได้เห็นในแถลงการณ์ก่อนจากกัน เพราะโดยมารยาทตามธรรมเนียมลูกหนังแล้ว จบคือจบ จากคือจาก ไม่จำเป็นต้องต่อความยาวสาวความยืด
ถึงแม้ว่าจะมีแถลงการณ์อีกฉบับจาก โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรชาวรัสเซีย เพื่อกล่าวคำขอบคุณถึงแลมพาร์ด ซึ่งก็เป็นเรื่องผิดปกติอีก เพราะมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของแดนหมีขาวไม่ได้ออกแถลงการณ์แบบนี้ให้กับผู้จัดการทีมคนไหนเป็นพิเศษ
การออกแถลงความยาว 110 คำของอบราโมวิชครั้งนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสอง แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจเป็นการทำเพื่อลดแรงเสียดทานจากแฟนฟุตบอลที่ดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยนักกับการปลดกุนซือคนหนุ่มจากตำแหน่งในเวลานี้
กับการปลดกลางทางระหว่างที่ศึกยังไม่ได้จบลง ซึ่งดูไม่แฟร์นักสำหรับนักฟุตบอลที่รับใช้สโมสรอย่างซื่อสัตย์ตลอดมา
อย่างไรก็ดี ในเบื้องหลังของการตัดสินใจครั้งนี้ – ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเกมที่เชลซีถูกเลสเตอร์ ซิตี้ สยบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว – เป็นเพราะฝ่ายบริหารของสโมสรนั้นไม่สามารถที่จะรอเวลาได้อีกต่อไป
แลมพาร์ดจำเป็นต้องไปในเวลานี้เท่านั้น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เพราะสถานการณ์ภายในเดอะบริดจ์นั้นระส่ำระสายอย่างหนัก และดูแล้วเกินกว่าความสามารถของนายใหญ่ใจสิงห์จะสามารถกอบกู้ทุกอย่างกลับมาได้ไหว
และเจ้าตัวเองก็เหมือนจะรู้ เพราะหลังจบเกมได้เดินจับมือขอบคุณกับนักเตะทุกคนเช่นกัน ส่วนผลงานในเกมเอฟเอ คัพ นัดล่าสุดที่ผ่านมาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว
โดยเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้ The Athletic สื่อกีฬาระดับโลกได้เปิดเผยรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ภาพ: Marina Granovskaia / Facebook
เหตุผลข้อที่ 1: ความสัมพันธ์กับมารินา กรานอฟสกายา
ประเด็นแรกที่มีการหยิบยกขึ้นมาคือความสัมพันธ์ระหว่างแลมพาร์ดกับ มารินา กรานอฟสกายา ผู้อำนวยการสโมสรหญิงชาวรัสเซีย-แคนาดา ซึ่งปัจจุบันถือเป็น ‘มือขวา’ ของ โรมัน อบราโมวิช และมีหน้าที่ในการบริหารสโมสรให้เรียบร้อยในเรื่อง ‘หลังบ้าน’
ฝีมือในการบริหารของกรานอฟสกายา ในวงการฟุตบอลยกย่องว่าไม่ธรรมดา เพราะนับตั้งแต่รับงานในทีมเชลซีเมื่อปี 2013 เรื่องนอกสนามของสโมสรดังแห่งลอนดอนก็ดูดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งรวมถึงในส่วนของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลด้วย
ผู้บริหารสาววัย 46 ปีคือผู้ที่ทำการปิดดีลใหญ่ให้กับเชลซีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในฤดูกาลนี้ที่ได้ทั้ง ติโม แวร์เนอร์, ไค ฮาเวิร์ตซ์, เบน ชิลเวลล์, ติอาโก ซิลวา และเอดูอาร์ เมนดี มาเสริมทัพในงบประมาณเกินกว่า 200 ล้านปอนด์
อย่างไรก็ดี ในหลังฉากแล้วความสัมพันธ์ระหว่างเธอและแลมพาร์ดไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ความเห็นของทั้งคู่ไม่ลงรอยกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการหานักเตะ ซึ่งนำไปสู่รอยร้าวที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
จาก เกปา อาร์ริซาบาลากา ผู้รักษาประตูเจ้าของค่าตัวแพงที่สุดในโลก 71.6 ล้านปอนด์ ที่กลายเป็นส่วนเกินสำหรับแลมพาร์ด และบีบให้มีการซื้อเมนดี ประตูจากแรนส์มาเสริมทัพ มาถึงในรายของแวร์เนอร์ นักเตะที่กรานอฟสกายาซื้อตัวมาร่วมทีม ซึ่งไม่ตรงใจ เพราะกุนซือต้องการ ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง ที่ต่อมากองหน้าทีมชาติเยอรมนีประสบปัญหาอย่างหนัก
แลมพาร์ดยังต้องการ ดีแคลน ไรซ์ กองกลางดาวรุ่งจากเวสต์แฮม ยูไนเต็ด และเจมส์ ทาร์คอฟสกี กองหลังจากเบิร์นลีย์ โดยต้องการให้โละ ฟิกาโย โตโมรี, มาร์กอส อลอนโซ และอันโตนิโอ รูดิเกอร์ รวมถึง เกปา ออกจากทีม แต่ความพยายามนั้นไม่สำเร็จ
จนถึงฟางเส้นสุดท้ายคือการที่แลมพาร์ดพยายามเรียกร้องให้กรานอฟสกายาดึงตัวไรซ์ นักเตะที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษมาให้ได้ ซึ่ง ‘วงใน’ ของสโมสรรู้ว่าการเรียกร้องนั้นเป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อมสำหรับแลมพาร์ด เพราะกองกลางทีมชาติอังกฤษรายนี้เป็นนักเตะเก่าของสโมสรเอง ซึ่งเชลซีไม่ยินดีที่จะจ่ายเงินมหาศาลเพื่อซื้อกลับมา
เหตุผลข้อที่ 2: เลือกที่รักมักที่ชัง
ในเวลาเดียวกัน กรานอฟสกายายังได้รับการร้องเรียนจากผู้เล่นภายในทีมเกี่ยวกับแลมพาร์ดที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในฐานะนายใหญ่ของทีมที่ดี ไม่มีการพูดคุยกับนักฟุตบอลในทีม ไม่มีการให้แท็กติกการเล่นที่ชัดเจน (มีแต่การบอกว่าลงไปและแสดงผลงานให้เห็น) ซึ่งผิดวิสัยอย่างยิ่ง
ความจริงแล้วแลมพาร์ดเองก็เพิ่งจะเลิกเล่นฟุตบอลมาได้ไม่นาน (ปี 2016) ก็น่าจะรู้ว่าในฐานะนักฟุตบอลแล้ว พวกเขาต้องการการดูแลแบบไหน
การบริหารจัดการคนนั้นเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้จัดการทีมในยุคปัจจุบัน เพราะกุนซือจะไม่สามารถดูแลนักเตะแบบทิ้งขว้างหรือห่างเหินได้อีก การดูแลแบบ Tough love เหมือนสมัยก่อนเป็นเรื่องตกยุค การดูแลเอาใจใส่ในรายละเอียดต่างหากที่จำเป็นต้องมี
เป๊ป กวาร์ดิโอลา, เจอร์เกน คล็อปป์ หรือแม้แต่ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ ขณะที่แลมพาร์ดกลายเป็นตัวอย่างที่เลวร้ายไป
ตามการเปิดเผยของ The Athletic มีนักฟุตบอลบางรายที่ไม่เคยได้พูดคุยกับแลมพาร์ดเลยเป็นระยะเวลาหลายเดือน ไม่รู้ว่าพวกเขาทำผิดอะไรตรงไหน ต้องแก้ตรงไหน หรือควรทำอะไรเพื่อจะได้โอกาสในการลงสนามบ้าง
แต่มันก็มีข้อยกเว้น เพราะหากเป็น ‘คนโปรด’ ของแลมพาร์ดแล้ว พวกนั้นจะได้รับการปฏิบัติอีกแบบ
เรื่องเหล่านี้อยู่ใน ‘หู’ ของกรานอฟสกายามาตลอด เพราะเธอส่ง ปีเตอร์ เช็ก ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมทีมเก่าของแลมพาร์ดมาเป็น ‘ตา’ คอยสอดส่องดูบรรยากาศการฝึกซ้อมภายในทีมเสมอว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างที่มีการร้องเรียนกันหรือไม่
เช็กซึ่งไม่ได้แค่จับตาดูการซ้อม แต่ยังลงซ้อมกับทีมด้วย ยังได้พูดคุยกับเอเจนต์ของนักเตะในระดับท็อปของสโมสร (บรรดาแข้งค่าตัวแพง) ที่ประสบปัญหาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้ข้อมูลมามอบให้แก่กรานอฟสกายาได้รับรู้
ว่าแลมพาร์ดได้สูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกทีมของเขาแล้ว
และทุกอย่างก็ชัดขึ้นไปอีกจากผลงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอบราโมวิชเองก็ได้เห็นกับตาตัวเอง โดยเฉพาะในเกมกับเลสเตอร์ ที่เมื่อเกมจบลงก็มีคำสั่งชัดเจน
“หาผู้จัดการทีมใหม่ ใครก็ได้ที่พอจะมาได้ในเวลานี้”
เหตุผลข้อสุดท้าย: มือไม่ถึง พึ่งไม่ไหว
สองรอยร้าวข้างต้น เมื่อประกอบเข้ากับอีกเหตุผลที่สำคัญคือความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานของแลมพาร์ดที่ยังน้อยและอ่อนด้อยกว่าเหล่าผู้จัดการทีมมากฝีมือในพรีเมียร์ลีกมาก ทำให้เขาไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ได้
อย่างไรก็ดี หากคิดย้อนกลับไปถึงวันที่แลมพาร์ดได้รับตำแหน่งในทีมเชลซีแล้ว จะพบว่า ‘โจทย์’ ในการทำงานนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก
หลังการปลด เมาริซิโอ ซาร์รี ผู้จัดการทีมชาวอิตาลีซึ่งล้มเหลวกับการรับมือ ‘เรื่องการเมือง’ ภายในสแตมฟอร์ดบริดจ์ เชลซีอยู่ในสภาวะวิกฤตเพราะพวกเขาถูกลงโทษแบนจาก FIFA ทำให้ไม่สามารถซื้อผู้เล่นมาเสริมทัพได้ 2 รอบตลาดการซื้อขายหรือ 1 ปีเต็ม จากความผิดกรณีการดึงนักเตะเยาวชนมาร่วมทีมแบบผิดกฎ
นอกจากนี้ยังเสีย เอเดน อาซาร์ ซูเปอร์สตาร์หมายเลขหนึ่งไปจากทีมด้วย และที่สำคัญที่สุดคือสถานการณ์ของอบราโมวิช ซึ่งขณะนั้นถูกปฏิเสธการให้วีซ่าเข้ามาประเทศอังกฤษ ทำให้มีข่าวสะพัดว่าอาจจะถอนตัวหรือเลิกลงทุนกับสโมสร โดยโครงการในการสร้างสนามใหม่ก็ถูกพับเก็บไว้เช่นกัน
ในเวลานั้นการหาผู้จัดการทีมที่จะยอมรับงานยากลำบากขนาดนี้เป็นเรื่องยาก แต่โชคดีสำหรับเชลซีที่มีตัวเลือกที่ถือเป็น ‘ดาวรุ่ง’ ในวงการอย่างแลมพาร์ดที่แจ้งเกิดได้ดีกับการคุมทีมดาร์บี เคาน์ตี ในระดับเดอะแชมเปียนชิป ลีกระดับชั้นที่ 2 ของอังกฤษ
แม้แลมพาร์ดจะได้รับข้อเสนอที่ดีมากจากหลายสโมสร แต่เพราะเป็นเชลซี สโมสรที่เขารัก ทำให้ยินดีที่จะยอมรับข้อเสนอตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มเจรจา ต่อให้ต้องเสียเปรียบสโมสร เป็นกุนซือที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยที่สุดในยุคหลังก็ไม่เป็นไร
และด้วยความจำเป็นที่ไม่สามารถซื้อตัวนักเตะได้ ทำให้แลมพาร์ดขอโอกาสในการผลักดันดาวรุ่งของสโมสรขึ้นมาแทน ซึ่งบางคนเล่นให้กับเขาที่ดาร์บี บางคนก็เห็นฟอร์มกับทีมอื่นมา ทำให้เชลซีในฤดูกาลที่แล้วกลายเป็นหนึ่งในทีมที่น่าตื่นเต้นและน่าประทับใจมากที่สุด
แฟนบอลอาจจะผิดหวังที่ทีมไม่มีศักยภาพจะลุ้นแชมป์ได้ แต่การได้เห็นนักเตะสายเลือดสโมสรอย่าง เมสัน เมาต์, แทมมี อับราฮัม, เคิร์ต ซูมา, เอเมอร์สัน พัลไมรี, รีซ เจมส์, แคลลัม ฮัดสัน-โอดอย, รูเบน ลอฟตัส-ชีค ได้โอกาสในการลงเล่นก็ถือเป็นความสุข และที่สำคัญคือเด็กๆ พวกนี้เล่นกันใช้ได้ด้วย
เชลซีจบฤดูกาลด้วยการติด Top 4 ได้ไปแชมเปียนส์ลีก ได้เข้าชิงเอฟเอ คัพ แม้จะแพ้อาร์เซนอล ถือเป็นเครดิตสำหรับแลมพาร์ดเช่นกัน
เพียงแต่ในฤดูกาลนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง คำสั่งจากเบื้องบนเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการกลับมาทวงความสำเร็จให้ได้โดยเร็ว จึงเกิดการลงทุนซื้อนักเตะเข้ามามากมาย และทำให้เกินระดับความสามารถของแลมพาร์ดที่จะประคับประคองทีมได้
แม้จะมีช่วงเข้าเบรกที่ทำผลงานได้ดีไม่แพ้ใครติดต่อกัน 17 นัด แต่หลังจากนั้นความยากของฤดูกาลโรคระบาดทำให้เชลซีค่อยๆ ทรุด การตัดสินใจหลายอย่างของแลมพาร์ดผิดพลาด โดยเฉพาะการดูแลลูกทีม คำวิจารณ์ต่อแวร์เนอร์หรือฮาเวิร์ตซ์ และการดรอปจากทีมไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น
โธมัส ทูเคิล คือคำตอบ?
แม้จะยังไม่มีการประกาศแต่งตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่านายใหญ่แห่งเดอะบริดจ์คนใหม่คือ โธมัส ทูเคิล กุนซือระดับอัจฉริยะคนหนึ่งของวงการฟุตบอลเยอรมนี ซึ่งก็ถือว่าไม่ผิดไปจากที่คาด
เพราะข่าวทูเคิลกับเชลซีมีมายาวนานร่วมเดือนนับตั้งแต่กุนซือจอมศิลปินถูกปลดจากตำแหน่งในทีมปารีส แซงต์ แชร์กแมง แบบสายฟ้าแลบในวันคริสต์มาส
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่มีการวิเคราะห์ไว้คือเชลซีต้องการผู้จัดการทีมคนใหม่ที่หาก ‘เก่งภาษาเยอรมัน’ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อที่จะสามารถช่วยใช้งานนักเตะอย่างแวร์เนอร์หรือฮาเวิร์ตซ์ได้อย่างคุ้มค่าสมราคาที่จ่ายไป
แน่นอนว่าทูเคิลเป็นคนเยอรมัน เรื่องภาษาไม่มีอะไรต้องห่วงอยู่แล้ว (อีกคนที่อยู่ในข่ายเหมือนกันคือ ราล์ฟ รังนิก ผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลในเครือเรดบูล แต่ไม่สนใจคุมทีมระยะสั้น) และสิ่งที่เขาเหนือกว่าแลมพาร์ดแน่นอนคือความสามารถในการคุมทีม
ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จในการสานงานต่อจาก เจอร์เกน คล็อปป์ ในทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ แต่ทูเคิลก็ทำได้ดีไม่น้อยกับเปแอสเช นอกจากแชมป์ภายในประเทศที่เป็นของตายอยู่แล้ว เขาเป็นคนแรกที่พาทีมกลับมาเข้าชิงแชมเปียนส์ลีกได้อีกครั้งในยุคทุนน้ำมันจากตะวันออกกลาง แม้สุดท้ายจะสู้กับโคตรทีมแห่งปีอย่างบาเยิร์น มิวนิก ไม่ไหวก็ตาม
ปัญหาเรื่อง ‘คู่มือการใช้งาน’ แวร์เนอร์หรือฮาเวิร์ตซ์ที่แลมพาร์ดแก้ไม่ตก (และไม่คิดจะแก้ด้วย) น่าจะถูกจัดการโดยกุนซือคนใหม่ได้ไม่ยาก อีกทั้งสไตล์การทำทีมของทูเคิลเป็นฟุตบอลเกมรุกบุกมันที่น่าจะถูกใจแฟนๆ เช่นกัน
จุดที่น่าสนใจคือเชลซีเป็นสโมสรที่มี ‘การเมือง’ แรงไม่ได้แตกต่างจากเปแอสเชที่เขาเคยอยู่ และด้วยบุคลิกที่เดาใจได้ยากแล้ว ทำให้เป็นคำถามตัวใหญ่ว่าทูเคิลจะเอาตัวรอดในทีมที่การเมืองแรงอย่างเชลซีไหวหรือไม่
อย่างไรก็ดี หากมองไปที่ระยะเวลาในสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ สัญญาของทูเคิลกับเชลซีมีระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปีครึ่งเท่านั้น และมีออปชันในการขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปีด้วยกัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก
ตามรายงานจาก Sky Sports ที่สัญญาระยะสั้นเป็นเพราะทั้งเชลซีและทูเคิลเองก็ไม่อยากจะ ‘ผูกมัด’ กันเป็นระยะเวลายาวนาน
ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าการพบกันครั้งนี้เป็นเพราะวาสนานำพาให้มาเจอกันในยามยาก
หากมันจะออกมาดีเหมือนรักแท้ก็ดีไป
แต่หากมันจะไม่ได้ออกมาดีก็ไม่เป็นอะไร อย่างน้อยขอให้พาทีมเข้าเป้าหมายติด Top 4 เป็นอย่างน้อยในฤดูกาลนี้ และใช้งานนักเตะที่ซื้อมาแพงทั้งหลายให้มันดีๆ หน่อย
คนจ่ายเงินอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ในตอนนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://theathletic.co.uk/2298337/2021/01/25/lampards-chelsea-sacking-tension-with-marina-unhappy-players-and-secret-job-offers/
- https://theathletic.co.uk/2344754/2021/01/26/lampards-last-hours-at-chelsea/
- https://theathletic.com/2345622/2021/01/26/thomas-tuchel-chelseas-combustible-genius-who-made-defenders-train-holding-tennis-balls/