×

‘ชัชชาติ’ แนะ 6 วิธีรับมือความเสี่ยงกรุงเทพฯ จมน้ำ วอนอย่าตระหนก แต่ต้องตระหนัก

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2019
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (31 ตุลาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าจะลงสมัครในนามอิสระ ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีที่มีงานวิจัยระบุถึงระดับน้ำทะเลของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและอาจกระทบประเทศไทยว่า

 

เมื่อวานมีหนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานผลวิจัยว่าในปี 2050 หรืออีก 31 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจจะกระทบกับประชากรของประเทศไทยถึง 10% (6-7 ล้านคน) แทนที่แต่เดิมเข้าใจว่ากระทบเพียงประมาณ 1% (3-6 แสนคน) ข่าวนี้มาจากงานวิจัยในวารสาร Nature Communications โดย Scott A.Kulp และ Benjamin H.Strauss ที่มีการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา (เอกสารอ้างอิง)

 

การคาดการณ์ผลกระทบของน้ำท่วมจากสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ในอนาคตจะขึ้นกับตัวเลขสองตัว

1. การคาดการณ์ระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มสูงขึ้น

2. การหาค่าระดับพื้นดินว่าอยู่ที่เท่าไร

 

พื้นที่ใดที่มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ในอนาคตก็จะถือว่ามีโอกาสน้ำท่วมและกระทบกับประชากรในพื้นที่

 

งานวิจัยนี้ไม่ได้บอกว่าน้ำทะเลจะเพิ่มสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่มีการพัฒนาวิธีการคำนวณระดับพื้นดินที่ถูกต้องมากขึ้น เนื่องจากแต่ก่อนใช้อ่านค่าจากภาพถ่ายดาวเทียม ติดหลังคาสิ่งปลูกสร้างหรือต้นไม้ใหญ่ ทำให้ระดับพื้นที่สูงกว่าความเป็นจริง พอใช้วิธีคำนวณใหม่ทำให้พบว่าระดับพื้นที่จริงต่ำกว่าที่เคยคำนวณไว้มาก ทำให้ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยประมาณ 70% ของผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ จีน, บังกลาเทศ, อินเดีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ไทย, ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

 

จากการหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ผมคิดว่าเราคงยังไม่ต้องตื่นตระหนกถึงกับย้ายบ้านหนีน้ำท่วม เพราะงานวิจัยดังกล่าวก็ใช้สมมติฐานหลายเรื่องในการสรุปผล แต่เราควรจะต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวว่ามีโอกาสที่น้ำทะเลจะสูงขึ้นและกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต ซึ่งเราเริ่มเห็นแล้วในบางพื้นที่ เช่น บริเวณชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งนอกจากระดับน้ำทะเลแล้วยังมีผลเรื่องการทรุดตัวของดินและการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งร่วมด้วย

 

การดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่น่าจะเป็นไปได้คือ

 

1. กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ จัดทำแผนที่ความเสี่ยง (Risk Map) โดยเฉพาะค่าระดับความเสี่ยงจากน้ำท่วมของพื้นที่ต่างๆให้ชัดเจน เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจความเสี่ยงของพื้นที่ต่างๆ ดีขึ้น โดยควรมีการทำแบบจำลองระดับความละเอียดถูกต้อง +/-10 เซนติเมตร (ซึ่งเข้าใจว่าปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการอยู่) การปรับปรุงข้อมูลแผนที่มาตราส่วน 1:4000 และจัดทำข้อมูลภูมิประเทศและระดับความสูงด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีความละเอียดมากกว่าการใช้แบบจำลองจากดาวเทียมในผลการศึกษา และทำให้เราประเมินความเสี่ยงได้ถูกต้องมากขึ้น

 

2. การกำหนดผังเมือง แนวทางการพัฒนาเมือง การสร้างระบบระบายน้ำ แนวคันกั้นน้ำ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

3. เพื่อป้องกันระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เราอาจจะพิจารณาการพัฒนาแนวคันกั้นตามแนวคิดของคันกั้นน้ำด้านตะวันออกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยยกระดับแนวถนนที่วิ่งขนานกับอ่าวไทยตั้งแต่แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน โดยใช้แนวถนนเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้เป็นเส้นทางโลจิสติกส์ได้ เช่น สุขุมวิทสายเก่า, ถนน 3243 (วัดแหลม-นาเกลือ), ถนน 3423 (สมุทรสาคร-โคกขาม), ถนนพระราม 2 

 

4. ทำเขื่อนกั้นน้ำทะเลและประตูน้ำเพื่อควบคุมน้ำทะเลในจุดที่เส้นทางแนวกั้นน้ำผ่านแม่น้ำและคลอง เพื่อทำให้แนวคันกันน้ำมีความต่อเนื่อง

 

5. วางแผนระยะยาวสำหรับการขนส่งทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและการใช้ท่าเรือคลองเตยในอนาคต เพราะการขนส่งทางเรือขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบถ้ามีการสร้างเขื่อนหรือประตูน้ำ

 

6. รณรงค์เรื่องการลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง มีการกำหนดเป้าหมายในการลด Carbon Footprint ของประเทศและจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกหลักของประเทศ

 

(สิ่งที่ไม่ควรทำคือการตั้งคณะกรรมการอีก 5 คณะเพื่อศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม)

 

ปัญหาทุกอย่างรับมือได้ ถ้าเราเข้าใจและเอาจริงครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising