วันนี้ (28 มกราคม) วรนัยน์ วาณิชกะ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า แสดงความคิดเห็นเรื่อง ‘กองทุนธุรกิจสร้างสรรค์: สร้างโอกาสบนความเหลื่อมลํ้า’ ว่า “สองเดือนที่ผ่านมา ผมเดินสายพูดคุยตามสถาบันการศึกษาทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด สิ่งที่ได้พบคือ เยาวชนสมัยนี้มองอนาคตของตนไม่เห็น เนื่องจากการบริหารประเทศที่ทวีคูณความเหลื่อมล้ำ และล้มเหลวในการสร้างโอกาส เฉกเช่นเมื่อตอนผมทําสื่อ โดนแก๊สน้ำตาตั้งแต่แยกราชประสงค์ยันแยกดินแดง และได้ฟังประโยคเดียวกันจากเยาวชนที่มาชุมนุม เรามองไม่เห็นอนาคต”
วรนัยน์ระบุว่า เมื่อวันจันทร์ได้ไปพูดคุยที่โรงเรียนอินเตอร์แห่งหนึ่ง ซึ่งเยาวชนทุกคนตื่นเต้นกับอนาคตอันสดใสของตนเอง ไม่ว่าจะไปเรียนต่อเมืองนอก จะกลับมาทำงานบริษัทใหญ่โตหรือธุรกิจที่บ้าน ในขณะที่เยาวชนในต่างจังหวัดมองได้เพียงแค่ต้องจบมาทำงานช่วยครอบครัวเรื่องค่าใช้จ่ายทางบ้าน ช่วยส่งเสียน้องๆ ช่วยพ่อแม่ปลดหนี้
ความเหลื่อมลํ้าไม่ใช่อยู่เพียงแค่อนาคตที่รอพวกเขา แต่ความเหลื่อมลํ้ามันเด่นชัดตั้งแต่ประตูทางเข้าโรงเรียน ตึกเรียน ห้องเรียน แม้กระทั่งห้องน้ำ
คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน ต้นทุนชีวิตแตกต่างกัน ไม่มีใครผิดที่เกิดมาจน ไม่มีใครผิดที่เกิดมารวย แต่การที่กลุ่มคนน้อยนิดมีอนาคตอันสดใส แต่กลุ่มคนส่วนใหญ่มีอนาคตอันมืดมน คือความรับผิดชอบของคนทำการเมือง ผู้ที่จะมาบริหารประเทศชาติ
วรนัยน์ระบุอีกว่า เมื่อวันอังคารพรรคชาติพัฒนากล้าได้เปิด 12 นโยบายรื้อโครงสร้างเศรฐกิจเพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชน หนึ่งในนโยบายที่เขาผลักดันคือกองทุนธุรกิจสร้างสรรค์ โดยจุดเป้าหมายคือการสร้างโอกาส
การเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นงานมหึมาและใช้เวลายาวนาน ไม่ว่าจะการวิวัฒนาการสังคมหรือปฏิรูปการศึกษา แต่สิ่งที่ทำได้เลยคือการสร้างโอกาสให้เราเห็นแสงไฟในถ้ำอันมืดมน
กองทุนธุรกิจสร้างสรรค์จะสร้าง 10,000 ธุรกิจในระยะเวลา 4 ปี สูงสุด 1 ล้านบาทต่อธุรกิจ ตํ่าสุด 1 แสนบาทต่อธุรกิจ
ไม่จำกัดวุฒิ ไม่จำกัดวัย ไม่ว่าคุณจะอายุ 16 หรือ 60 ปี หากคุณมีนวัตกรรม มีแบบแผน มีแรงบันดาลใจ คุณเข้าถึงกองทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชุมชนหรือเด็กไฮโซ คุณก็เข้าถึงกองทุนได้
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก่อตั้ง Facebook ตอนอายุ 18 ปี โคโลเนล แซนเดอร์ส ก่อตั้ง KFC ตอนอายุ 65 ปี สตีฟ จ็อบส์ ก่อตั้ง Apple โดยไม่มีใบปริญญา ทุกสิ่งเป็นไปได้
คณะกรรมการคัดสรรไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่ปลัดกระทรวง แต่เป็นกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจ SMEs ที่จะทำหน้าที่เป็นโค้ชให้ด้วย
แต่ความเป็นจริงของธุรกิจเกิดใหม่ในประเทศไทยคือ 70% จะล้มเหลว แต่สิ่งที่เขาจะได้คือ โอกาส บทเรียน และประสบการณ์ เพื่อสู้ต่อไป แต่ 30% ที่ประสบความสำเร็จคือการสร้างงานนับพันนับหมื่นตำแหน่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นนับแสนล้าน และหนึ่งในนั้นอาจเป็นยูนิคอร์นได้
“10,000 ธุรกิจแรกไม่มียูนิคอร์น 10,000 ต่อไปอาจมี หากไม่มี อีก 10,000 ต่อไปอาจมี นี่คืออนาคตที่เป็นไปได้หากเราสร้างโอกาสในปัจจุบัน โอกาสสำหรับทุกคน ไม่จำกัดวุฒิ ไม่จำกัดวัย” วรนัยน์ระบุทิ้งท้าย