วานนี้ (16 พฤศจิกายน) คณะเจริญ Porn นำโดย อรรถพล ไข่ทอง หรือ เบลล์ ขอบสนาม และ ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ให้สัมภาษณ์กับรายการ THE STANDARD NOW หลังจากเดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นเอกสารร่างกฎหมาย มาตรา 287 สนับสนุนในการแก้ไขให้สื่อบันเทิงทางเพศถูกกฎหมาย โดยเริ่มจากอธิบายถึงขอบเขตของการเรียกร้องในครั้งนี้ เพื่อแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องหลายๆ อย่างในวงการของ Sex Worker เช่น หนังผู้ใหญ่, เซ็กซ์ทอยส์ หรือการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ในหมวดเซ็กซ์ ให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง และถูกคุ้มครองตามหลักกฎหมาย
“ถ้าเราทำให้ถูกกฎหมาย เราจะมีพื้นที่ให้หนังผู้ใหญ่ หรือพื้นที่สร้างสรรค์ให้งานศิลปะเชิงผู้ใหญ่ ที่มีความสนุก ความบันเทิง ความสวยงาม แต่กับสิ่งที่อยู่นอกเหนือของเขตที่กฎหมายหรือสังคมเกินจะยอมรับได้ เช่น หนังผู้ใหญ่ที่มีเนื้อหาความรุนแรงเชิงอาชญากรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ปราบปรามก็จะสามารถบังคับใช้กฎหมายกับส่วนนี้ได้” ธนัตถ์กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องผลประโยชน์ ใครคือผู้ได้รับหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน อรรถพลบอกว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากกรณนี้มีหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่จะเรียนรู้ความปลอดภัยในการผลิตคอนเทนต์ และรู้สึกเป็นเจ้าของผลงานที่ตนเองเป็นผู้สร้างสรรค์ได้อย่างถูกลิขสิทธิ์ ที่จะนำไปสู่ความชัดเจนในแง่ของการสร้างรายได้ การสร้างธุรกิจ ซึ่งทางภาครัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้จากคอนเทนต์เหล่านี้ได้
“ผมเชื่อเรื่องหนึ่งคือคนไทยเรา ถ้ามีอะไรก็ตามเปิดกว้างให้พวกเขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอนเทนต์กีฬา หรือคอนเทนต์ 18+ แบบนี้ ถ้าเราเปิดกว้างจนมีข้อกำหนด กฎเกณฑ์ที่ชัดเจน แล้วเราก็ให้เกียรติพวกเขากับผู้ทำคอนเทนต์เชิงนี้ เรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับสื่อบันเทิงทางเพศมันสามารถก่อเกิดเป็นธุรกิจที่ขยายตัวไปได้ไกลมากๆ
“มองออกมาจากเรื่องธุรกิจ มันสามารถหยิบยกมาเป็นเรื่องการศึกษาเรื่องเพศให้กับเด็กๆ ให้พวกเขาเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้คือเรื่องธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลบซ่อน มันเป็นเรื่องที่ควรพูดกันได้ เป็นเรื่องที่ควรสร้างความเข้าใจให้กับเด็กๆ เพราะวันนี้เราต้องยอมรับว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างในอดีตแล้ว” อรรถพลกล่าว
ด้านธนัตถ์อธิบายถึงความเข้าใจกับคำนิยามความของคำว่า Sex Worker ต่อว่า คำนี้ไม่ได้หมายถึงการทำงานแบบให้บริการทางเพศเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์สื่อประเภทนี้ หนังผู้ใหญ่ งานศิลปะต่างๆ
ส่วนกระแสสังคมในภาพรวมที่มีมุมมองต่อสื่อบันเทิงทางเพศในปัจจุบัน ธนัตถ์อธิบายเพิ่มว่า หากย้อนไปในอดีตเราอาจจะเคยมีคำพูดว่า ‘การเมืองห้ามพูดบนโต๊ะอาหาร’ เพราะจะทำให้คู่สนทนาทะเลาะกัน แต่วันนี้การเมืองขึ้นมาอยู่ทุกโต๊ะอาหาร อยู่กันทุกที่ เช่นเดียวกับเรื่องเพศ เพราะจากมุมมองส่วนตัวมองว่าสังคมหรือผู้คนแสดงออกถึงการเปิดกว้างที่จะพูดคุยเรื่องเพศกันมากขึ้น ฉะนั้นหากวันนี้เรากล้าพูดเรื่องการเมือง ทำไมเราจึงจะไม่กล้าพูดเรื่องเพศ
ในขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยเรายังไม่มีความเข้าใจเรื่องเพศอยู่พอสมควร ตั้งแต่เรื่องเพศในหลักสูตรเพศศึกษาที่อยู่ในตำราเรียน ที่ให้ความเข้าใจไม่ละเอียด ไม่ครอบคลุม รวมถึงการให้ข้อมูลผิดๆ
ดังนั้น การให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องเรื่องเพศ ที่มีประสิทธิภาพที่สุด และทำให้ผู้คน สังคมยอมรับแบบเปิดกว้างมากที่สุด คือ Soft Power อย่างสื่อบันเทิง ภาพยนตร์ ศิลปะ ที่แทรกซึมอยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ เพราะถ้าเราทำให้หนังผู้ใหญ่หรือคอนเทนต์ทำนองนี้สร้างอิทธิพลไม่น้อยไปกว่าสื่อบันเทิงรูปแบบอื่นๆ จะช่วยให้สังคมเปิดกว้างเปิดใจเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ หรือเรื่องเพศให้กลายเป็นเรื่องปกติ และจะเป็นการหยุดการด้อยค่าบุคคลที่ทำงานด้านนี้ ที่มีเกียรติ มีหัวใจ และศักดิ์ศรีไม่แพ้ใคร
ขณะที่เรื่องเพศยังเป็นมุมมองขัดต่อเรื่องหลักศีลธรรมในสังคมไทยนั้น อรรถพลระบุว่า ประเด็นนี้คือสิ่งที่พูดกันมานาน แต่ก่อนอื่นเราต้องแยกเรื่องเพศออกจากศีลธรรม เพราะใครก็ตามที่เสพงานเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะบอดว่าเขาคือคนเลว เป็นอาชญากรรม หรือคนที่อันตรายต่อสังคม มันจึงเป็นสิ่งที่ควรแยกออกจากศีลธรรม
“พอเรื่องนี้แยกออกได้ กลับมาให้ความรู้ความเข้าใจ ทำให้เห็นว่านี่คือความปกติที่ซุกตัวในสังคมปัจจุบัน มุมมองที่ยังมองเรื่องเพศขัดหลักศีลธรรมแบบนี้จะค่อยๆ หายไป แปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ ฉะนั้น เรื่องแบบนี้มันอาจต้องใช้เวลา แต่ควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ใครก็ตามที่พูดหรือจับต้องเรื่องเพศจะกลายเป็นความดำมืดต้องมลทิน และเป็นคนไม่ดีในสายตาของคนที่มีทัศนคติเดิมๆ” อรรถพลกล่าว
ในช่วงท้ายของรายการ ทิศทางหรือเป้าหมายของคณะ ‘เจริญ Porn’ จากนี้เป็นอย่างไร หลังยื่นเอกสารร่างกฎหมาย มาตรา 287 สนับสนุนในการแก้ไขให้สื่อบันเทิงทางเพศถูกกฎหมายอย่างเป็นทาบการไปแล้วนั้น
ธนัตถ์ระบุว่า ตอนนี้เป็นช่วงที่เรายื่นร่างกฎหมายที่ต้องการแก้ไขต่อสภา ให้ประธานสภาอนุมัติลงมา เราจะดำเนินการต่อด้วยการล่ารายชื่อขั้นต่ำ 10,000 รายชื่อ ซึ่งความมุ่งหวังของคณะฯ อยากได้รายชื่อให้มากที่สุด เพื่อแสดงพลังตั้งแต่ต้นว่าวันนี้คนไทยเปิดกว้างเรื่องนี้ ก่อนจะไปพิสูจน์ต่อสภา รวมถึงสังคม ถ้ารวมชื่อได้ครบก็จะไปยื่นให้สภาอีกครั้ง เพื่อขอให้รับบรรจุเป็นวาระของสภาที่จะนำไปสู่การประชุมและหารือในสภา ซึ่งคาดหวังว่าท้ายที่สุดประเด็นนี้จะผ่านการโหวตรองรับร่างกฎหมายนี้ และทำให้เรื่องที่ถูกซุกใต้พรมในประเทศนี้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
อ้างอิง: