วานนี้ (30 พฤศจิกายน) ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงผลการพิจารณาคดีสั่งฟ้อง ประวีณ จันทร์คล้าย หรืออดีตกำนันนก กับกลุ่มนายตำรวจในงานเลี้ยง
วัชรินทร์ระบุว่า คดีนี้แบ่งเป็น 2 สำนวน ได้แก่ คดีฆ่า พ.ต.ต. ศิวกร สายบัว สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและจ้างวานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งมีผู้ต้องหาคือ ธนัญชัย หมั่นมาก หรือ หน่อง ผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญ จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปด้วยเหตุธนัญชัยถึงแก่ความตาย
และอดีตกำนันนก อัยการสำนักงานคดีอาญามีความเห็นให้สั่งฟ้อง ตามที่พนักงานสอบสวนเสนอมาในคดีจ้างวานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
ส่วนสำนวนที่ 2 ซึ่งเป็นสำนวนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจและพลเรือน รวม 28 คน ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่มีการยิง พ.ต.ต. ศิวกร ในความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต มีความเห็นสั่งฟ้องตำรวจ
ได้แก่ พ.ต.ต. เกียรติศักดิ์ สมสุข กับพวก และพลเรือนรวม 23 คน ในข้อหาแตกต่างกันไป ซึ่งรวม 6 คนแรกที่ถูกจับดำเนินคดี โดยเป็นกลุ่มที่ขับรถพาอดีตกำนันนกหลบหนี และมีการทำลายพยานหลักฐาน
ส่วนพลเรือนถูกแจ้งข้อหาสนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิด รวมถึงอดีตกำนันนกด้วย ซึ่งพนักงานอัยการได้นำตัวตำรวจและพลเรือนรวม 23 คน ไปส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว
ประยุทธกล่าวยืนยันว่า อดีตกำนันนกถูกฟ้องทั้ง 2 ศาล คือ ศาลอาญาและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยอัยการจะมีการเสนอศาลให้นับโทษทั้ง 2 สำนวนต่อกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ศาลใดจะตัดสินคดีใดก่อน
อย่างไรก็ตาม มีตำรวจ 5 นาย ที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ พ.ต.อ. กฤษฎาพร จงอักษร อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพญาไท, ร.ต.อ. ณัฏฐพล นาคกร, พ.ต.ท. ภทร วรญาวิสุทธิ์, พ.ต.อ. ภาณุทัต เหลืองสัจจกุล และ ร.ต.ท. มนัส จันทร์มีทรัพย์ เนื่องจากพนักงานอัยการเห็นว่าจัดอยู่ในกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น พาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล หรือสนับสนุนช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไม่ได้นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ประยุทธกล่าวต่อว่า ความเห็นนี้ยังถือว่าไม่ใช่คำสั่งเด็ดขาด พนักงานอัยการจะต้องเสนอเรื่องไปที่ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้มีความเห็นทางคดี โดยหากเห็นแย้งความเห็นของอัยการ เรื่องนี้ก็จะถูกส่งต่อให้อัยการสูงสุดวินิจฉัยชี้ขาด จึงจะถือว่าเป็นคำสั่งเด็ดขาด
ทั้งนี้ มีรายงานว่าในส่วนของ พ.ต.อ. วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง หรือ ผกก.เบิ้ม ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ไม่มีรายชื่อเป็นผู้ต้องหาในสำนวนของพนักงานสอบสวนที่ส่งมาให้อัยการตั้งแต่แรก