เป็นเวลานานกว่า 44 ปี หลังยาน ‘ลูนา 24’ ของสหภาพโซเวียตนำตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับสู่โลกในเดือนสิงหาคม 1976 ก็ยังไม่มีประเทศใดทำภารกิจในลักษณะนี้อีกเลย จนเมื่อเวลา 03.30 น. ที่ผ่านมาเช้านี้ (24 พฤศจิกายน) ตามเวลาในประเทศไทย จรวด Long March-5 Y5 ของจีน ก็ได้พุ่งทะยานออกจากศูนย์ส่งดาวเทียมเหวินชาง (Wenchang Satellite Launch Center) บนเกาะไหหลำ (ไห่หนาน) ทำหน้าที่ส่งยาน ‘ฉางเอ๋อ-5’ ตรงสู่ดวงจันทร์ เพื่อเก็บตัวอย่างหินกลับสู่โลกอีกครั้ง ถือเป็นความก้าวหน้าด้านการสำรวจอวกาศครั้งใหม่ ทัดเทียมสหรัฐฯ และโซเวียตในอดีต
ยาน ‘ฉางเอ๋อ-5’ จะเดินทางถึงวงโคจรดวงจันทร์ในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน จากนั้นก็จะมีการส่งยาน Lander ลงจอดบริเวณ Mons Rümker ที่พิกัด 40.8°N 58.1°W ทางตะวันตกเฉียงเหนือของดวงจันทร์ หากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ยาน Lander ก็จะสำรวจและขุดเจาะเก็บตัวอย่างด้วยแขนกล หลังจากนั้นก็จะเดินทางกลับถึงโลกในช่วงวันที่ 16-17 ธันวาคม
ยาน ‘ฉางเอ๋อ-5’ (嫦娥五号) มีลักษณะเป็นยานอวกาศแบบ 4 ส่วน ทำงานประสานกัน ประกอบด้วยส่วนของโมดูลบริการ (Service Module) ที่จะโคจรอยู่รอบดวงจันทร์ ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณระหว่างที่มีการแยกส่วนโมดูลลงจอด (Lander) ลงไปทำหน้าที่เก็บหินตัวอย่าง โมดูลลงจอดนี้ออกแบบตามรุ่นพี่คือ ยาน ‘ฉางเอ๋อ-3’ แต่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมอีกหลากหลายชนิด ที่เด่นที่สุดคือมีโมดูลดีดตัวหรือ Ascent Unit อยู่ด้านบนสุด
ที่ส่วนบนของโมดูล Ascent จะติดตั้งแขนกลขุดเจาะที่มีความยาวเป็นพิเศษ แขนกลนี้มีส่วนปลายเป็นหัวสว่าน สามารถเจาะลงสู่พื้นผิวใกล้จุดลงจอดได้ลึกถึง 2 เมตร เพื่อลำเลียงตัวอย่างดินและหินของดวงจันทร์ที่ได้จากการขุดเจาะผ่านท่อเคฟลาร์กลับขึ้นไปเก็บบนโมดุล Ascent จนกว่าจะได้น้ำหนักตัวอย่างครบตามที่ต้องการคือ 2,000 กรัม
หลังหมดหน้าที่บนผิวดวงจันทร์ โมดูล Ascent ก็จะติดเครื่องยนต์ดีดตัวทิ้งโมดูล Lander ไว้ เพื่อมาประกอบร่าง (Docking) เข้ากับโมดูลบริการที่รอคอยอยู่ที่จุดนัดพบ (Rendezvous) บนวงโคจรโดยอัตโนมัติ ขั้นตอนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน จากนั้นก็จะมีการติดเครื่องยนต์ของโมดูลบริการ เพื่อนำโมดูลที่เหลือเดินทางกลับโลก
ขั้นตอนสุดท้ายคือโมดูลส่งกลับ (Return Vehicle) ที่จะแยกตัวออกมาเพียงโมดูลเดียว นำตัวอย่างที่รับมาจากโมดูล Ascent ทิ้งตัวฝ่าชั้นบรรยากาศโลกเพื่อกางร่มลงแตะพื้น โมดูลนี้จะมีเกราะป้องกันความร้อนขณะที่กำลังเสียดสีกับชั้นบรรยากาศด้วยความเร็ว 11 กิโลเมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับส่วนของตัวอย่างที่เก็บมาได้ ภารกิจทั้งหมดของ ‘ฉางเอ๋อ-5’ ก็จะสำเร็จลงเมื่อโมดูลนี้ลงจอดในพื้นที่ที่เตรียมไว้แถบมองโกเลียใน
องค์การอวกาศแห่งชาติจีนหรือ China National Space Administration (CNSA) ได้วางแผนการสำรวจดวงจันทร์ไว้ 4 เฟสเรียงตามความยาก โดยเฟสแรกคือการทดสอบการลงจอด อันได้แก่ยานฉางเอ๋อ-1 และ 2 เฟสต่อมาคือการลงจอดและปล่อยโรเวอร์ออกมาวิ่งสำรวจ อันได้แก่ยานฉางเอ๋อ-3 และ 4 ซึ่งทำสำเร็จไปหมดแล้ว เฟสปัจจุบันก็คือการลงจอดและเก็บตัวอย่างกลับโลก อันได้แก่ยานฉางเอ๋อ-5 และ 6 เฟสสุดท้ายในอนาคต คือการตั้งสถานีสำรวจอัตโนมัติบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ อันได้แก่ยานฉางเอ๋อ-7 เป็นต้นไป
สำหรับภารกิจของยาน ‘ฉางเอ๋อ-5’ ในครั้งนี้ หากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ จีนก็จะกลายเป็นชาติที่ 3 ของโลกที่สามารถนำตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับโลกได้ และไม่ว่าสำเร็จหรือไม่ จีนก็จะดำเนินการตามแผนคือส่งยาน ‘ฉางเอ๋อ-6’ ไปทำภารกิจแบบเดียวกันนี้อีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า นั่นคือปี 2022
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: