กดปุ่มเร่งการขยายธุรกิจทั่วโลก! ‘ฉางอัน ออโตโมบิล’ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ประกาศตั้งฐานผลิตรถยนต์ EV ในไทย 9.8 พันล้านบาท ผลิตรถยนต์ EV พวงมาลัยขวาแห่งแรกนอกจีน 1 แสนคันต่อปี และแบตเตอรี่ ส่งออกกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ หลัง BOI รุกแผนโรดโชว์ดึงบริษัทชั้นทุกมุมโลกเข้ามาลงทุน ตอกย้ำไทยฮับ EV
เป้าหมายขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภูมิภาคอาเซียนไม่เกินฝัน เมื่อสัญญาณเข้าค่ายรถยนต์จีนชั้นนำตบเท้าเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง โดยล่าสุด ฉางอัน ออโตโมบิล (Changan Automobile) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ประกาศลงทุนตั้งฐานผลิตในไทยต่อจาก GAC Aion เบอร์ 3 ของจีน ที่ได้มาหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อไม่นานมานี้
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI เปิดเผยว่า บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และได้แถลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาว่า บริษัทตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เป็นแห่งแรกนอกจีน ด้วยเงินลงทุน 9.8 พันล้านบาท
ในการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) และแบตเตอรี่ กำลังการผลิตในระยะแรก (เฟส1) 1 แสนคันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจำหน่ายตลาดในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้
โดยก่อนหน้านี้จากการทำงานร่วมกับบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้ง BOI ได้เดินทางไปพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่จีนเมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 เพื่อชี้แจงข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย รวมทั้งได้ตอกย้ำมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และความพร้อมของไทยในการเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก
ทั้งนี้ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล เป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ด้วยยอดขายกว่า 2 ล้านคันในปีที่แล้ว มีสำนักงานใหญ่และฐานการผลิตหลักอยู่ที่มหานครฉงชิ่ง อีกทั้งได้มีการร่วมลงทุนกับบริษัทฟอร์ด และมาสด้า ผลิตรถยนต์ในจีนด้วย
สำหรับแผนการลงทุนในไทยนั้น บริษัทเริ่มศึกษาข้อมูลการลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2563 และหารือร่วมกับสำนักงาน BOI ณ นครเซี่ยงไฮ้ อย่างใกล้ชิดในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนเชิงลึก รวมถึงได้ส่งทีมงานเดินทางมาพบกับผู้บริหารของ BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อหารือมาตรการสนับสนุนและรวบรวมข้อมูลประกอบการวางแผนการลงทุน
“การตัดสินใจลงทุนในไทยของฉางอันเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก อีกทั้งแสดงถึงความเชื่อมั่นของบริษัทที่มีต่อไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริม EV แบบครบวงจร รวมทั้งซัพพลายเชนที่พร้อมรองรับการผลิต EV โดยบริษัทได้เริ่มหารือกับซัพพลายเออร์ในไทย เพื่อให้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ส่งให้กับบริษัท ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่ด้วย นอกจากนี้ BOI จะเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดึงผู้ผลิต EV รายอื่นๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ควบคู่กับการส่งเสริมระบบชาร์จไฟฟ้าและ Ecosystem ที่จำเป็น เพื่อให้ฐานอุตสาหกรรม EV ในไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นฤตม์กล่าว
BOI ไฟเขียวส่งเสริม EV ทุกประเภทแล้ว 17 บริษัท 8.68 หมื่นล้านบาท
ที่ผ่านมา BOI ได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุน 8.68 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 คาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 โครงการ จากบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งวางแผนจะยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือนพฤษภาคม และบริษัท GAC Aion ที่ได้มาหารือร่วมกับ BOI และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยประกาศแผนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยกว่า 6.4 พันล้านบาทเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันรายงานข่าวต่างประเทศระบุ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ได้เข้าร่วมจัดแสดงนวัตกรรมยานยนต์ที่เซี่ยงไฮ้ ภายใต้ธีม ‘ก้าวหน้าในทุกแง่มุม ฉางอันเข้าถึงทั่วโลก’ (Advancing in All Domains, Changan Reaches the World) พร้อมกับประกาศยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โปรแกรมแปซิฟิก (Program Pacific) โดยมีเป้าหมายในการกดปุ่มเร่งการขยายธุรกิจในระดับโลก
ดังนั้นปี 2566 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญสำหรับฉางอัน ออโตโมบิล เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาในระดับโลก ที่ปัจจุบัน ฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งมีฐานอยู่ในจีน และจะขยายธุรกิจไปทั่วโลก พร้อมเปิดกว้างมากขึ้นในการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย และทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์ ‘ตราสัญลักษณ์จีน’ ที่ส่องประกายบนเวทียานยนต์ระดับโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘Tesla’ ประกาศหั่นราคาขายในตลาดจีน 9% กูรูหวั่นจุดชนวนสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้า
- ยุโรปปูพรมแดงต้อนรับ BYD เข้าตั้งฐานการผลิต ฟากแบรนด์ผลิตรถยนต์เจ้าถิ่นอาจอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป
- สตาร์ทอัพ ‘รถยนต์ไฟฟ้าจีน’ เนื้อหอม โกยเงินลงทุนจาก Venture Capital ไปกว่า 6 พันล้านดอลลาร์
อ้างอิง: