หากย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์เรื่องราวและความงดงามของประวัติศาสตร์แบรนด์ Chanel หลายคนก็จะพบเจอว่าดีเอ็นเอของทางแบรนด์ฝรั่งเศสชื่อดัง มักถูกเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับวงการศิลปะมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่สมัยผู้ก่อตั้ง Gabrielle Chanel ที่เธอมักคลุกคลีและแฮงเอาต์กับเพื่อนศิลปินระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น Salvador Dali, Pablo Picasso, Jean Cocteau, Igor Stravinsky, Pierre Reverdy หรือ Misia Sert โดยมาวันนี้แม้กับ Virginie Viard ครีเอทีฟไดเรกเตอร์หญิงแกร่งของ Chanel เธอก็ไม่เคยลืมที่จะสานต่อความสำคัญด้านศิลปะเหมือน Gabrielle Chanel โดยร่วมงานกับศิลปินอย่าง Xavier Veilhan เป็นต้น
แต่ Chanel ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ และไม่ได้อยากจะส่องสปอตไลต์ ผลักดัน และพูดถึงวงการศิลปะแค่เปลือกนอกแบบเชิงการตลาดบนเวทีระดับโลกเช่นแฟชั่นโชว์ แต่ทางแบรนด์อยากลงลึกและช่วยเหลือวงการศิลปินระดับท้องถิ่นของแต่ละประเทศจริงๆ เหมือนกับช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้จัดดินเนอร์สุดพิเศษริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อยกย่องและสนับสนุนผลงานซีรีส์นิทรรศการงานศิลป์ ‘Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย’ ที่ก่อตั้งโดย กรกฤต อรุณานนท์ชัย และในปีนี้ถูกคัดเลือกผลงานโดย คริสตินา ลี ภัณฑารักษ์และนักเขียนหญิงมาแรงในแวดวงศิลปะ โดยทางแบรนด์ก็ได้เชิญหลากหลายบุคคลจากวงการอาร์ต ดีไซน์ ภาพยนตร์ ดนตรี และแฟชั่นให้มารู้จักกันพร้อมเปลี่ยนมุมมอง ไม่ว่าจะเป็น Tom Sachs หนึ่งในศิลปินสาย Contemporary ที่สำคัญสุดแห่งยุคจากมหานครนิวยอร์ก, Friend of the House คนสำคัญ ออกแบบ ชุติมณฑน์, เจ้ย อภิชาติพงศ์, จูเน่ เพลินพิชญา, เจมส์ ธีรดนย์, บาส นัฐวุฒิ, ณิชา ณัฏฐณิชา และ อ๊อฟ จุมพล
แต่ความพิเศษไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะทาง Chanel ยังได้เชิญ Global Brand Ambassador ที่หลายคนต้องคุ้นหน้าอย่าง Soo Joo Park มาด้วย ซึ่งเธอก็ได้บินมางานนี้โดยเฉพาะ และสร้างเซอร์ไพรส์ทำการแสดง 17 นาทีเพื่อโชว์เมดเลย์ผลงานเพลงของเธอเป็นครั้งแรก ก่อนจะเดบิวต์ในเร็วๆ นี้ โดย Soo Joo Park ก็ได้ทำโชว์ร่วมกับ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ที่มาทำ Lighting Design และได้ Hudson Mohawke โปรดิวเซอร์และดีเจระดับโลกจากสกอตแลนด์บินมาดูแลด้านดนตรีให้
ผู้บริหารของ Chanel ประเทศไทย ได้เผยกับ THE STANDARD POP ว่า ทางแบรนด์จะไม่หยุดสนับสนุนวงการศิลปะและแวดวงอื่นๆ ในประเทศไทยอย่างแน่นอน พร้อมจะมีอีกหลายโปรเจกต์ในวันข้างหน้า เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และรู้ว่าแบรนด์อย่าง Chanel ที่มีแพลตฟอร์มและทรัพยากรก็สามารถช่วยเหลือและขับเคลื่อนวงการศิลปะ วงการภาพยนตร์ หรือวงการดนตรีในประเทศเราได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งก็ถือว่าทำให้เห็นมิติใหม่และอีกด้านหนึ่งของแบรนด์ที่หลายคนอาจคุ้นเคยแค่กับเรื่องราวของกระเป๋าหรือแฟชั่น
ภาพ: Chanel