ผมจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่ฟุตบอลเจลีกอยู่ในความสนใจของคนไทยมากขนาดนี้นั้นนานแค่ไหน
น่าจะมากกว่า 20 ปี ในยุคที่ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นใหม่ได้ไม่นาน ในยุคที่ยังมีซูเปอร์สตาร์รุ่นบุกเบิกอย่าง คาซึโยชิ มิอุระ, รุย รามอส, มาซามิ อิฮาระ, ซึโยชิ คิตะซะวะ, นาโอะฮิโระ ทาคายามะ, ฮิโรชิ นานามิ, มาซายูกิ โอคาโนะ
นักเตะเหล่านี้ได้เล่นร่วมกับตำนานลูกหนังที่มาไว้ลายในแดนซามูไรในช่วงสุดท้ายของชีวิตการเล่นอย่าง ซิโก้, กาเรก้า, กีโด บุควัลด์, ปิแอร์ ลิตต์บาร์สกี้, แกรี ลินิเกอร์, เลโอนาร์โด้ (เป็นข้อยกเว้น เพราะหลังมาเล่นในญี่ปุ่นก็ได้ไปเล่นในยุโรปและประสบความสำเร็จสูง), เบเบโต้, ฮริสโต้ สตอยช์คอฟ, ไมเคิล เลาดรู๊ป, ซัลวาตอเร สกิลลาชี, ดราแกน สตอยโควิช
ยุคนั้นคือยุคเรืองรองที่สุดของเจลีก และผมเชื่อว่าน่าจะเป็นยุคที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยแฟนบอล ‘หลักสาม’ ขึ้นไป
แต่ช่วงเวลาดีๆ นั้นอยู่ได้ไม่นาน ความน่าสนใจของเจลีกลดลงเรื่อยๆ เมื่อเหล่าซูเปอร์สตาร์ระดับเวิลด์คลาสทยอยแขวนสตั๊ดอำลาสนาม ขณะที่ซูเปอร์สตาร์สายเลือดใหม่อย่าง ฮิเดโตชิ นากาตะ และอีกมากมายทยอยออกไปค้าแข้งกันในลีกยุโรป
นั่นทำให้เจลีกค่อยๆ จางหายไปจากสายตาของแฟนบอลไทย รวมถึงแม้แต่แฟนบอลชาวญี่ปุ่นเองก็ลดจำนวนลงอย่างน่าวิตก เกิดเป็นวิกฤตการณ์ลูกหนังของชาติเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี วันนี้เจลีกกลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ลีกในปัจจุบันเองก็ไม่ได้มีซูเปอร์สตาร์ล้นฟ้ามากมายอะไรเหมือนก่อน พวกเขาไม่สามารถสู้กับอำนาจทางการเงินของสโมสรจากจีนที่ทำตัวเหมือน The Collector ในจักรวาล Marvel ที่รวบรวมเอาสิ่งของล้ำค่าเอาไว้มากมายโดยไม่สนใจว่าต้องจ่ายแค่ไหน
การที่เจลีกกลับมาได้นั้นเกิดขึ้นจากจุดเชื่อมโยงที่สำคัญ
จุดเชื่อมโยงดังกล่าวคือ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ผู้เปิดประตูมิติให้แก่นักเตะไทย หลังกลายเป็นนักเตะคนสำคัญของทีมฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร ในช่วงเลกที่ 2 ของฤดูกาล 2017 ที่ผ่านมา
แต่ความสำเร็จของ ‘เมสซีเจ’ หรือที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกันในชื่อ チャナティプ (ชนาธิป) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายนั้น ไม่ใช่แค่ทำให้คนไทยสนใจเจลีก
เวลานี้เจลีกเองก็สนใจนักฟุตบอลไทยมากขึ้นจากเดิมอีกหลายเท่า
เรื่องนี้มันมีเหตุผลอยู่ครับ และเป็นการดีที่เราจะหยิบมาพูดคุยกัน
ผู้เปิดประตูกาลเวลาที่ชื่อ ‘ชนาธิป’
บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ในช่วงนั้นชนาธิปเพิ่งย้ายไปอยู่กับ คอนซาโดเล ไม่นาน และได้รับความสนใจไม่น้อยจากชาวญี่ปุ่นในฐานะซูเปอร์สตาร์จากประเทศไทย
คนญี่ปุ่นเองก็ตื่นเต้นกับกองกลางฉบับกระเป๋าที่มีลีลาการลากเลื้อยและการผ่านบอลที่น่าตื่นตาตื่นใจ
ทุกคนอยากรู้ว่าเขาจะ ‘ทำได้’ ไหมในการเล่นลีกที่มีระดับมาตรฐานสูงของเอเชียอย่างเจลีก
คำตอบที่ ชนาธิป มอบให้แก่ทุกคนคือการผ่านบอลให้เพื่อนทำประตูหรือ ‘แอสซิสต์’ ตั้งแต่เกมแรกที่ลงสนามในรายการ ลูวาน คัพ (Levain แต่เรียกตามการออกเสียงญี่ปุ่นว่า ‘ลูวาน’ ซึ่งเป็นชื่อของขนมบิสกิตแสนอร่อยยี่ห้อดังครับ) แม้ว่าสุดท้ายทีมจะพ่ายต่อ เซเรโซ โอซาก้า 1-3 และต้องตกรอบก็ตาม
หลังจากนั้นในเกมเจลีก หรือจริงๆ ต้องเรียกว่า เจ1 ลีก (J1 League-ดิวิชันสูงสุดของฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่น) ชนาธิปได้ลงสนามเป็นตัวจริงทันทีตามคำสั่งของโค้ช ชูเฮ โยโมดะ และใน 63 นาทีแรกที่สนามซัปโปโรโดมของเขา (ซึ่งทางสโมสรมีการเตรียมต้อนรับขวัญใจคนใหม่อย่างอบอุ่น สไตล์ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น) กองกลางเจ้าของสมญา ‘เมสซีไทย’ (タイのメッシ) ก็สร้างความประทับใจได้อย่างมาก
ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นตอนนี้ก็ต้องบอกว่า ‘ดาเมจแรงมาก’
ความเร็ว ความคล่องตัว ทักษะ การสัมผัสบอล การเล่นที่ชาญฉลาด ไหวพริบ ปฏิภาณ ทุกอย่างมีในตัวของเขาหมด และหากไม่เป็นการเข้าข้างมากเกินไป ชนาธิป ดูจะ ‘เหนือ’ กว่าเพื่อนร่วมทีมด้วยซ้ำไป
เรียกว่าเซนส์บอลเอาตัวรอดในเจลีกได้สบายๆ
อย่างไรก็ดี ความประทับใจแรกนั้นเป็นเรื่องของภาพลวงตาครับ ของจริงคือการ ‘ยืนระยะ’ พิสูจน์ตัวเองให้ได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก เพราะมีปัจจัยมากมายที่เป็นบททดสอบชีวิตที่แสนหนักหน่วงของเขา
ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตในต่างแดน ครอบครัว หัวใจที่ต้องห่างกัน ไปจนถึงการเอาชนะใจโค้ชและเพื่อนร่วมทีมให้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
นักฟุตบอลที่เก่งกาจมากมายตกม้าตายเพราะไม่สามารถผ่านบทดสอบเหล่านี้ได้
แต่ ชนาธิป ทำได้ และทำได้ดีมากด้วย
นอกจากความมุ่งมั่น ทุ่มเทเต็มร้อยในสนาม ที่แม้จะมีช่วงที่ยากลำบากเพราะต้องเล่นในบทบาทที่ไม่ถนัด และยังไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีมอย่างสนิทใจจนทำให้ได้ทำอะไรในเกมน้อย แต่สุดท้ายเจก็กลายเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของทีมได้สำเร็จ และเป็นตัวจริงของทีมแทบทุกนัด (มีแค่เกมเดียวที่ไม่ได้เป็นตัวจริง และเกมนั้นเจต้องเป็นตัวสำรองเพราะป่วยหลังกลับมาจากเมืองไทย)
สุดท้ายเขาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการนำ คอนซาโดเล รอดพ้นจากการตกชั้น และไต่อันดับขึ้นมาไกลถึงที่ 11 ทั้งๆ ในช่วงที่เขาย้ายมานั้นทีมอยู่ในกลุ่มท้ายตารางและมีผลงานที่ย่ำแย่อย่างมาก
ถ้าใครได้ติดตามต่อเนื่องจะเห็นว่า คอนซาโดเล เล่นได้ดีขึ้นแทบจะเป็นคนละทีมกับช่วงออกสตาร์ทครึ่งฤดูกาลหลัง โดยมีตัวเขาร่วมกับอีกหนึ่ง ‘เจ’ คือ เจย์ โบธรอยด์ สตาร์ลูกหนังชาวอังกฤษ ที่ท็อปฟอร์มและเป็นฮีโร่ของทีม
จากเรื่องในสนาม เมื่อออกมานอกสนามเขายังกลายเป็น ‘ขวัญใจ’ ของแฟนบอลชาวฮอกไกโดอย่างรวดเร็ว ด้วยอุปนิสัยน่ารักๆ ยียวนและความเป็นกันเองของเขา ซึ่งไม่ใช่นักเตะระดับสตาร์ทุกคนจะมอบสิ่งเหล่านี้ให้แฟนๆ
ตรงนี้สำคัญมากครับ เพราะนั่นทำให้แฟนบอลเองก็ ‘รับ’ เขาเข้ามาอยู่ในหัวใจเรียบร้อย
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เสื้อผ้า สินค้าต่างๆ ที่ปะชื่อของชนาธิป กลายเป็นสินค้าระดับ best seller ของสโมสร เป็นของ rare item ที่แฟนบอลไทยที่ไปเที่ยวฮอกไกโดยังแทบหาซื้อไม่ได้ (เพื่อนผมซึ่งมีความสนิทสนมกับชนาธิปพอสมควร ก็ยังหาซื้อแทบไม่ได้เหมือนกัน!)
มากกว่านั้นคือการที่เจลีกเลือกเขาเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่ได้ออกโปรโมต ร่วมกับซูเปอร์สตาร์ระดับท็อปของเจลีกแค่ไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือ ลูคัส โพดอลสกี ที่ปัจจุบันเล่นให้กับทีมวิสเซล โกเบ
และการที่ มิซูโน แบรนด์กีฬาระดับชั้นนำของญี่ปุ่นเลือกเขาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ กับรองเท้าฟุตบอลรุ่น Rebula V1 ซึ่งเป็นสตั๊ดรุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งทำการตลาดได้ไม่นาน โดยให้ค่าตอบแทนมหาศาล ซึ่งทำให้เขาเป็นนักฟุตบอลไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติในการเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์กีฬาระดับชั้นนำในต่างแดน
เรา-ในความหมายถึงทั้งแฟนบอล, สื่อ และตัวของชนาธิปเอง พอจะเรียกผลงานช่วงประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมาทั้งหมดได้ว่า ‘ความสำเร็จ’ โดยไม่มีอะไรต้องอายครับ
มันเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ด้วยซ้ำหากมองว่าการมาญี่ปุ่นครั้งนี้ของเขาคือภารกิจที่สำคัญ
ภารกิจในการนำนักเตะไทยก้าวสู่ระดับนานาชาติ
วันนี้ ชนาธิป เปิดประตูกาลเวลาให้นักเตะไทยในประเทศที่ถูกพูดถึงมานานว่าน่าจะเป็น ‘บันไดขั้นแรก’ ก่อนจะฝันถึงการไปเล่นในสรวงสวรรค์ของโลกลูกหนังในยุโรป
โดยที่ตัวเขาเองก็มีโอกาสจะก้าวไปสู่อีกขั้นของความฝันด้วยเช่นกัน
กลยุทธ์ ‘ตีเอเชีย’ ของเจลีก
ความสำเร็จของ ชนาธิป ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขของเขาและคนรอบข้างเท่านั้นครับ
เจลีกเองก็มีความสุขไปกับความสำเร็จของซูเปอร์สตาร์จากเมืองไทยไปด้วย
เพราะนี่คือความสำเร็จสูงสุดของ ‘The Asia Project’ ของเจลีก นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2012 เป็นต้นมา
โปรเจกต์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากทางด้านเจลีกเล็งเห็นว่า ‘ตลาด’ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากร 120 ล้านคนนั้นเริ่มถึงทางตัน ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ และความนิยมของฟุตบอลนั้นไม่อาจเทียบชั้นกับเบสบอล ซึ่งเป็นกีฬามหาชนของชาวอาทิตย์อุทัยได้
พวกเขาจำเป็นต้องขยายตลาด และตลาดที่พวกเขามองเห็นโอกาสคือตลาดเอเชีย หรือพูดให้ถูกกว่านั้นคือตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพียงแต่ในภูมิภาคนี้ เจ้าตลาดที่ครองหัวใจของแฟนบอลมายาวนานคือลีกยุโรป โดยเฉพาะพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ซึ่งการที่เจลีกจะไปแข่งขันด้วยนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้
ความล้มเหลวในช่วงเกือบ 20 ปีที่แล้วที่พยายามขยายตลาดอย่างไม่เจียมตัวก็เป็นเครื่องเตือนใจอยู่
สิ่งที่พวกเขาเลือกจะทำคือการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้พวกเขาค่อยๆ เข้าไปอยู่ในใจของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรมากถึง 600 ล้านคน
‘เติบโตไปด้วยกัน’ คือสิ่งที่พวกเขาคิดและทำ
ทุกอย่างเริ่มต้นในปี 2012 โดยเจลีกได้บรรลุข้อตกลงกับสโมสรในไทย พรีเมียร์ลีก (ในเวลานั้น) ในการเป็นพันธมิตรลูกหนังที่จะให้องค์ความรู้ (Know-how) และมอบโอกาสให้แก่นักเตะไทยได้ไปเล่นในประเทศญี่ปุ่นง่ายขึ้น
โดยเฉพาะเรื่องของการช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลนั้นสำคัญมากครับ เพราะขึ้นชื่อว่าคนญี่ปุ่นแล้วพวกเขาจริงจังเสมอ สิ่งที่เขาให้จึงไม่ใช่แค่เอกสารวิชาการ แต่เป็นองค์ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดจาก ‘คน’ ซึ่งก็คือโค้ชและผู้ทรงความรู้จากญี่ปุ่นที่มาถ่ายทอดวิชาให้ถึงที่ ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ
ในไทยมีบางสโมสรที่ได้สตาฟฟ์โค้ชชาวญี่ปุ่นเข้ามาช่วยทำทีม ขณะที่ลาวเคยได้โค้ช โคคิจิ คิมูระ มาทำทีม ส่วนในสิงคโปร์มีการเปิดอบรมโค้ชโดยสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นร่วมกับเจลีก
สำหรับเรื่องของ ‘โอกาส’ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราจึงได้ยินข่าวว่านักฟุตบอลไทยถูกทีมจากญี่ปุ่นจับตามองเรื่อยๆ (ชนาธิปเองก็เคยมาทดสอบฝีเท้ากับ ชิมิสุ เอส พัลส์ ในปี 2013) ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นกับทุกชาติในอาเซียนครับ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์ หรือกัมพูชา
นักเตะที่มีศักยภาพอย่าง อีรฟาน บัคดิม สตาร์ทีมชาติอินโดนีเซีย (เวนต์โฟเรต โคฟุ และคอนซาโดเล ซัปโปโร), เลอ คอง วินห์ (คอนซาโดเล ซัปโปโร), จัน วัฒนากา (ฟูจิเอดะ มายเอฟซี) ถูกดึงตัวไปเล่นในเจลีกในดิวิชันต่างๆ
การไปของนักเตะเหล่านี้ทำให้เจลีกกลายเป็นที่สนใจของคนอาเซียน ซึ่งพร้อมส่งใจช่วยนักเตะขวัญใจของชาติอยู่แล้ว
สิ่งที่เจลีกคาดหวังคือ คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปิดใจรับลีกของพวกเขาให้เข้ามาอยู่ในใจ และหวังให้เจลีกพัฒนาไปสู่การเป็น ‘พรีเมียร์ลีกแห่งเอเชีย’
นั่นเป็นเป้าหมายที่แท้จริงในระยะยาว
ที่เพิ่งจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในปีนี้เอง
โอกาสและบททดสอบของนักเตะไทยคลื่นลูกต่อไป
อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือนักเตะในระดับอาเซียนฝีเท้าไม่ถึงชั้นจะต่อกรกับนักเตะญี่ปุ่นได้
บางคนได้แค่ทดสอบฝีเท้า บางคนได้เซ็นสัญญาแต่แทบไม่ได้ลงสนาม
ชนาธิป จึงเป็นคนแรกจริงๆ ของนักเตะจากอาเซียนที่สามารถแจ้งเกิดได้นับตั้งแต่เกิดโครงการนี้ และเป็นการต่อความหวังของเจลีกในโครงการนี้ รวมถึงยังเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของนักฟุตบอลอาเซียน ไม่ว่าจะที่ไทยหรือที่ไหนที่วาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนสตาร์ชาวไทยได้
โดยเฉพาะในไทยที่มาตรฐานฝีเท้าสูงกว่าชาติอื่น
ไม่น่าแปลกใจครับที่เราจะได้ยินข่าวนักฟุตบอลไทยเชื่อมโยงกับสโมสรในเจลีกถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนหลัง มีชื่อของดาวเตะระดับแถวหน้าของไทยอย่าง ธีรศิลป์ แดงดา, ธีราทร บุญมาทัน, ทริสตอง โด นำขบวนร่วมกับดาวรุ่งอีกหลายคน เช่น กฤษดา กาแมน หรืออย่าง วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ ที่ไปทดสอบฝีเท้ากับ โออิตะ ทรินิตะ ทีมระดับ เจ2 ลีก เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
ยังไม่ได้นับรวมกับ สิทธิโชค ภาโส หรือ ‘เจ้าย้า’ ที่ความจริงย้ายไปเล่นในญี่ปุ่นก่อน ชนาธิป อีกกับ คาโงชิมา เอฟซี สโมสรในระดับ เจ3 ลีก และที่ฮือฮาล่าสุดในฐานะคนไทยคนแรกที่ยิงประตูในเจลีกได้คือ ‘เจ้าไอซ์’ จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ เจ้าหนูจาก แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่ย้ายไปเล่นให้สโมสรพันธมิตรอย่าง เอฟซี โตเกียว และเก็บเลเวลอยู่ในระดับรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่อยู่ใน เจ3 ลีก ซึ่งทำผลงานได้ดี และมีโอกาสจะก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่
รวมถึงการที่เจลีกเองมีการเปลี่ยนแปลงกฎที่จะไม่นับชาติพันธมิตรอาเซียนเป็นโควต้าผู้เล่นต่างชาติ หรือมีค่าเทียบเท่ากับผู้เล่นญี่ปุ่น ทำให้โอกาสที่นักเตะไทยจะได้ไปค้าแข้งในแดนซามูไรก็มีมากขึ้นไปอีก
แต่ในกลิ่นที่หอมหวานเย้ายวนนั้น ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่านักฟุตบอลไทย ‘พร้อม’ สำหรับการไปค้าแข้งต่างแดนแค่ไหน?
การห่างบ้านห่างเมืองห่างคนรักและครอบครัว การไม่รู้ภาษา ไม่ใช่เรื่องที่รับมือได้ง่าย
เช่นเดียวกับสภาพจิตใจ หรือ mentality ที่ต้องดูด้วยว่ามีจิตใจที่เข้มแข็งพอที่จะพิสูจน์ตัวเองในเวทีที่ใหญ่กว่าหรือยัง
การเล่นในเจลีกยากกว่าการเล่นในไทยลีกหลายเท่า ด้วยมาตรฐานการเล่นที่สูงกว่า เอาแค่เรื่องพละกำลังความแข็งแกร่งของร่างกายก็หนักแล้ว ไหนจะพื้นฐานการเล่น ความรู้ความเข้าใจเกม และที่สำคัญคือเรื่องของ ‘วินัย’ ที่ต้องมาเป็นลำดับแรก
นักเตะไทยจะทำได้ไหม? พร้อมไหมที่จะเอาชีวิตเข้าแลกกับมัน?
ฟังดูเหมือนน่ากลัวนะครับ แต่เอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องปกติพื้นฐานสำหรับโลกของนักฟุตบอลอาชีพ
นักเตะลาตินอเมริกาในบราซิล, อาร์เจนตินา, อุรุกวัย, ชิลี อายุแค่ 13-14 ปี พวกเขาก็พร้อมเดินทางไกลเพื่อไปให้ถึงฝันแล้ว
สำหรับนักเตะบ้านเรา เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ไม่ใช่เรื่องที่เราคุ้นชินนัก
แต่มันเป็นสิ่งที่เราควรจะคุ้นชินกับมัน และสร้าง ‘ค่านิยม’ ให้นักฟุตบอลไทยกล้าที่จะออกมาเผชิญโลกกว้างในต่างแดน
จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ว่ากัน
อย่างน้อยเรามีตัวอย่างที่ดีให้เห็นจาก ชนาธิป รวมถึง สิทธิโชค และ จักรกฤษณ์ ว่าการออกมาค้าแข้งในต่างแดนให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ถ้าคลื่นลูกแรกซัดเข้าฝั่งมาได้ แล้วมีคลื่นลูกที่สอง ลูกที่สาม ลูกที่สี่ตามมา
คลื่นลูกหลังย่อมทรงพลังกว่าลูกแรกอย่างแน่นอน และนั่นหมายถึงเราสามารถฝันได้ไกลขึ้นด้วยเช่นกันครับ
ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ เขาเองก็เคยผ่านจุดนี้มาก่อน
เขาทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ – จริงไหมครับ 🙂
อ้างอิง:
- www.fourfourtwo.com/my/features/10-asean-players-went-japan-chanathip-songkrasin
- www.japantimes.co.jp/sports/2016/03/13/soccer/j-league/j-league-branching-grow-brand-asia
- www.nytimes.com/2014/03/06/sports/soccer/j-league-looks-to-be-a-force-in-southeast-asia.html
- www.sportbusiness.com/sportbusiness-international/media-j-league-transform-perform
- ในบ้านเรามีบริษัทเคเบิลทีวียักษ์ใหญ่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลเจลีก ใน 2 ดิวิชันสูงสุดคือ เจ1 ลีก และ เจ2 ลีก มาให้ชมมากถึงสัปดาห์ละ 4-5 คู่ ไม่นับฟุตบอลถ้วย ลูวาน คัพ
- อีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างเจลีกและไทย คือการจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการพิเศษ J-League Asia Challenge ในช่วงต้นปี 2017 ที่ผ่านมา โดยมีทีมอย่าง คาชิมา แอนท์เลอร์ส และ โยโกฮามา มารินอส แชมป์และรองแชมป์ในปี 2016 มาร่วมแข่งขันกับ แบงค็อก ยูไนเต็ด และสุพรรณบุรี เอฟซี
- เจลีก ส่งแมวมองมาติดตามฟอร์มของนักเตะไทยอย่างต่อเนื่อง โดย ‘เฮงซัง’ วิทยา เลาหกุล เปิดเผยว่ามีอย่างน้อย 10 รายที่ทางญี่ปุ่นสนใจและสอบถามมาอย่างต่อเนื่อง
- …และเท่าที่ได้ยินเสียงแว่วเข้าหูมา จะมี ‘สตาร์’ ระดับท็อปของไทยไปเล่นในทีมระดับชั้นนำของ เจ1 ลีก รอลุ้นกันนะครับ