เวทีรับฟังความเห็นเพื่อขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีเป้าหมายพัฒนาโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยใช้โมเดลเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณกว่า 18,860 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่ 16,753 ไร่ กินพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะ คือตำบลนาทับ สะกอม และตลิ่งชัน
เวทีรับฟังที่เกิดขึ้นในวันนี้ (11 กรกฎาคม) มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเจ้าภาพและในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ จัดเวทีคู่ขนาน 2 ที่ โดยที่แรกเลือกใช้โรงเรียนจะนะวิทยา รองรับคนในเบื้องต้น 90 คน แต่วันนี้ตัวเลขที่ทาง ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. คาดการณ์คือมีผู้เข้าร่วมที่เวทีแห่งนี้กว่า 2,000 คน ส่วนอีกที่เลือกใช้พื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน
แม้จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด และเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการถูกเลื่อนมาแล้ว 1 ครั้ง แต่ครั้งนี้สามารถผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยมาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดและรัดกุม ระดมกำลังตำรวจจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายร้อยนาย ตรึงกำลังตั้งแต่ก่อนวันจัดงานหลายวัน กระทั่งก่อนวันจัดเวทีดังกล่าวมีการคุมพื้นที่อย่างเข้มงวด แม้กระทั่งสื่อมวลชนก็ไม่สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ก่อนการจัดงานได้
โดยในช่วงเช้าวันนี้ เวทีการรับฟังความคิดเห็นมีกำหนดเริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มปิดการจราจรบริเวณหน้าสถานที่จัดงานตั้งแต่เวลา 08.00 น. มีการคัดกรองคนเข้าร่วมเวทีอย่างเข้มข้น ตั้งด่านแรกห่างจากสถานที่จัดงานประมาณ 5 กิโลเมตร และมีด่านอีก 2 ด่านที่ตั้งอยู่เป็นระยะๆ ก่อนถึงสถานที่จัดงาน โดยเฉพาะบริเวณประตูโรงเรียนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. ตรึงกำลังกว่า 2 ชั้น และในพื้นที่สนามหญ้าโรงเรียนมีกำลังตำรวจชุดพร้อมปฏิบัติการมีโล่ หมวก และกระบอกครบชุดตรึงกำลังอีก 3 ชั้นก่อนถึงเวทีจัดงาน
สำหรับเวทีจัดการรับฟังความคิดเห็นเริ่มต้นในเวลา 09.30 น. โดย ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ “เวทีครั้งนี้ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผังเมืองอะไรเลยนะครับ เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการขับเคลื่อนโครงการ แต่เรามาศึกษาว่าเราจะมาทำอะไรในบ้านของพี่น้องประชาชนบ้าง” ยืนยันว่าโครงการนี้ยังเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็น ยังไม่ได้มีการเริ่มดำเนินการแต่อย่างใด ขณะที่ตัวแทนของภาคเอกชนก็ชี้แจงแผนการลงทุนต่างๆ ประมาณ 40 นาที ก่อนที่จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้มีการลงชื่อไว้
“ที่ทุกคนได้พูด จะมีเจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมไว้ทั้งหมดนะครับ” เสียงโฆษกประกาศก่อนที่จะมีประชาชนขึ้นเวทีร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ กำหนดเวลาไว้คนละไม่เกิน 3 นาที ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งหมด 18 คน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทั้ง 18 คนก็มีทั้งคนที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ แต่ก็มีเรื่องอื่นๆ แทรกอยู่บ้าง เช่นเรื่องของที่ดินทำกิน เรื่องของทุนการศึกษา และมี 1 รายที่ร้องเพลง ‘ต.ช.ด.ขอร้อง’ ก่อนที่ ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม กล่าวชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมและปิดเวที
ขณะที่ห่างออกไป 5 กิโลเมตร กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและประชาชนที่คัดค้านต่อโครงการดังกล่าวได้ตั้งขบวนมาจากชายหาดสวนกง อำเภอจะนะ เดินทางมาถึงบริเวณแยกหอนาฬิกากรงนก ยืนปราศรัยประจันหน้ากับตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่ ไครียะห์ ระหมันยะ ในฐานะตัวแทนของกลุ่มที่คัดค้านโครงการ อ่านแถลงการณ์ใจความตอนหนึ่งว่า ขอให้ยุติความไม่ชอบธรรมทั้งปวงที่ ศอ.บต. กำลังดำเนินการในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และมองว่าเวทีการรับฟังความเห็นที่ทาง ศอ.บต. จัดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่เวทีการเปิดรับฟังความเห็นที่เป็นวิสัยปกติทั่วไป เรียกร้องให้ชาวจะนะและชาวจังหวัดสงขลา ร่วมกันแสดงจุดยืนตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อทวงความยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ก่อนที่จะเดินทางเข้าตลาดจะนะ ปราศรัยรณรงค์ต่อไป
โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่กำลังจะพลิกพื้นที่จะนะให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะประกอบด้วย สวนอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา โรงไฟฟ้าสะอาด และศูนย์รวมและกระจายสินค้า ที่มุมหนึ่งก็มองว่านี่คือการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้มีความเจริญ สร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็มองว่านี่คือการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาเกิด อาศัยและประกอบอาชีพมาหลายชั่วอายุคน หลากแง่หลายมุมที่ถึงแม้ว่าวันนี้เวทีการรับฟังความคิดเห็นจะจบลงแล้ว แต่โครงการนี้ยังคงต้องจับตาความเคลื่อนไหวทั้ง 2 ฝ่าย ว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อไป
ภาพ: ตูแวดานียา มือรีงิง / THE STANDARD
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์