แม้ว่าดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Index) จะยกให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่มีความสามารถในการรับมือและควบคุมโรคระบาด ด้วยคะแนนดัชนีที่ 73.2
แต่จากกรณีที่ผู้ติดเชื้อ ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่’ ยังมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน บวกกับตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในไทย ณ วันนี้ (นับจนถึงวันที่ 29 มกราคม) ก็มียอดรวมที่ 14 รายแล้ว (รักษาหายแล้ว 5 ราย) ไม่แปลกที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่จะเกิดความรู้สึกกังวลต่อโรคระบาดที่เกิดขึ้น
วันนี้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย นำโดย กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ได้นำเสนอแนวทางเฝ้าระวังและมาตรการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ตลอดจนฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกัน และกำลังสร้างความวิตกให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย ประกอบด้วย
- หอการค้าไทยเชื่อมั่นมาตรการภาครัฐในการเฝ้าระวังและป้องกันไวรัสโคโรนา และยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนปฏิบัติตาม
- ให้สถานพยาบาล คลินิก โรงพยาบาล ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด
- ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐนำเสนอ เรียนรู้วิธีป้องกันตัวเบื้องต้น
- ไม่ตื่นตระหนก ติดตามข่าวสารจากช่องทางที่น่าเชื่อถือ
- ภาครัฐต้องจัดสรรอุปกรณ์ป้องการแพร่กระจายของไวรัสให้ประชาชนอย่างเพียงพอ
ศรัณยู ชเนศร์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย มองว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือรัฐบาลอาจจะต้องเข้ามาดูแลจัดการการแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อให้กับโรงพยาบาล คลินิก และสถานพยาบาลที่ขาดแคลน รวมถึงควบคุมเพดานราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องให้ได้
เนื่องจากปัจจุบันความต้องการสินค้าประเภทหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 100% เพราะโดยปกติสินค้าในกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 อยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกันอีก ความต้องการสินค้าในกลุ่มดังกล่าวจึงเพิ่มขึ้นสูงมหาศาล
ด้าน นายแพทย์สุวินัย บุษราคัมวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กล่าวในประเด็นนี้ว่านอกเหนือจากการเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยแล้ว ขอบเขตการเฝ้าระวังอาจจะต้องขยายมายังกลุ่มคนไทยที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มให้บริการนักท่องเที่ยวจีนด้วย เช่น พนักงานโรงแรม หรือพนักงานร้านอาหาร
โดยมองว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่มที่มีโอกาสจะสัมผัสตัวกับนักท่องเที่ยวจีนหรือต้องอาศัยในห้องร่วมกัน (ตัวอย่างเช่น เคสพนักงานร้านสปาไทยที่ให้บริการนักท่องเที่ยวจีนที่ติดเชื้อโคโรนา (คนละสายพันธ์ุที่กำลังระบาด) และเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทจนหายเป็นปกติ)
ขณะที่ ‘มาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 นั้น’ ได้มีการนำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องกับหลายด้าน เริ่มที่ ‘การเผาอ้อย (การเกษตร)’ ซึ่งถือเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 โดยทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเกษตรกร โรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อย และรัฐบาล เริ่มตั้งแต่การรณรงค์หยุดการเผาไร่อ้อยให้เป็นศูนย์ภายในปี 2565 และลงโทษด้วยการปรับหรืองดให้เงินช่วยเหลือกับเกษตรกร
รวมถึงภาคเอกชนอาจจะเข้ามามีบทบาทในการหาวิธีการแปรรูปเศษหญ้าหรืออ้อยที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ต้นและซังข้าวโพด ไปเป็นสินค้าชนิดอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทดแทนการเผา
ส่วน ‘การขนส่ง-รถยนต์’ ได้นำเสนอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับรถควันดำทุกประเภท ยกเลิกรถบริการสาธารณะทุกประเภทที่หมดอายุใช้งาน และเปลี่ยนเป็นรถพลังงานสะอาด โดยให้ภาครัฐเสนอมาตรการจูงใจประชาชนที่ใช้รถยนต์เก่า (10 ปีขึ้นไป) ให้เปลี่ยนเป็นรถ Hybrid หรือ EV
สำหรับการก่อสร้าง ได้มีการนำเสนอให้ภาคเอกชนกลุ่มผู้ประกอบการก่อสร้างดำเนินการตามแผน EIA อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้พื้นที่ก่อสร้างสร้างมลพิษทางอากาศ ขอความร่วมมือใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปประกอบหน้างานแทนการใช้เครื่องมือเครื่องจักร ขยายเขตพื้นที่จำกัดห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้าพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่กำหนด พร้อมให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ
ทั้งนี้ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ากระบวนการหลังจากแถลงข่าวในวันนี้ หอการค้าไทยจะเดินทางเข้าพบกับรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอแนวทางเฝ้าระวังและมาตรการแก้ปัญหาทั้งหมดให้พิจารณาในลำดับถัดไป