×

อ่าน 5 ความท้าทายปี 2564 และบทบาทกระทรวงพาณิชย์เมื่อไทยยังอยู่ในวิกฤต

15.12.2020
  • LOADING...
อ่าน 5 ความท้าทายปี 2564 และบทบาทกระทรวงพาณิชย์เมื่อไทยยังอยู่ในวิกฤต

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • จุรินทร์ชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่ต้องจับตา เศรษฐกิจโลกชะลอตัว, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน, การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจกระทบการค้าขายข้ามแดน, เงินบาทแข็งค่า และการเมืองในประเทศ
  • เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งการส่งออก กระทรวงพาณิชย์เร่งทำข้อตกลงทางการค้า RCEP และข้อตกลงฯ ย่อยแต่ละเมือง ส่วน CPTPP รอความชัดเจนจากคณะรัฐมนตรี 
  • มองเอกชนไทยปรับตัวได้ดีในทุกสถานการณ์ ย้ำกลยุทธ์เอกชนนำ รัฐบาลหนุน 

หลายปีมานี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวมาพักใหญ่ โดยจุดต่ำสุดที่เพิ่งผ่านมาคือหลังการรัฐประหารที่ทำให้ GDP ไทยปี 2557 ลดลงสู่ระดับ 1% และทยอยฟื้นตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ที่ราว 3% แต่หลายฝ่ายยังห่วงว่าเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ จนมาถึงวิกฤตใหญ่อย่างโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจน

 

ภายใต้วิกฤตใหม่และปัญหาโครงสร้างเดิมของเศรษฐกิจไทย THE STANDARD WEALTH มีโอกาสได้พูดคุยกับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะมีมุมมองและบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อย่างไร 

 

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

เศรษฐกิจไทย: 5 ความเสี่ยงการส่งออกในปี 2564 

ที่ผ่านมาการส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ปัจจัยต่างๆ นี้ยังส่งผลไปถึงปี 2564 โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งมี 5 ปัจจัยที่ต้องจับตามอง ได้แก่

 

1. เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หมายถึงตัวเลขการขยายตัวในเชิงบวกน้อยลงเรื่อยๆ จนมาหนักที่สุดในปี 2563 ที่กลายเป็นติดลบหรือการหดตัว แต่ปีหน้า IMF มองว่า GDP โลกจะกลับมาเป็นบวกได้

 

2. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่แม้จะลดความรุนแรงลง แต่อาจส่งผลกระทบต่อไทย อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่ โจ ไบเดน จะให้ความสำคัญกับนโยบายการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี (เช่น CPTPP หรือ FTA ใหม่ๆ) 

 

3. โควิด-19 ที่ส่งผลให้การเดินทางค้าขายข้ามประเทศยากขึ้น โดยเฉพาะการค้าชายแดน ปัจจุบันไทยมีการส่งออกไปยังอาเซียนในสัดส่วน 40% 

 

4. เงินบาทแข็งค่า ซึ่งกระทบความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก โดยคู่ค้าจะมีความรู้สึกว่าสินค้าไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่ง 

 

5. การเมืองในประเทศที่ยังไม่แน่นอน 

 

“การค้าชายแดนคือส่วนหนึ่งของการส่งออกไทย โดยในเดือนตุลาคม เมียนมาติดลบ 40% กัมพูชาติดลบ 21% ลาวติดลบ 17% เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าโควิด-19 มันมีผลกระทบมากกับการค้าชายแดน และกระทบมายังตัวเลขส่งออกด้วย” 

 

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เดินหน้าขยายการค้าชายแดนมาต่อเนื่องผ่านการเจรจาเปิดด่านการค้าใหม่ๆ เช่น ด่านหนองเอี่ยน ด่านหาดเล็ก ด่านโหยวอี้กวน ฯลฯ แต่บางส่วนหยุดชะงักไปเพราะโควิด-19 ซึ่งขณะนี้กำลังดูว่าสมดุลจุดไหนจะพอดี ระหว่างสุขภาพ โควิด-19 และเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าการส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งอยู่ที่ 23% และเริ่มทยอยดีขึ้น จนทั้งปี 2563 นี้คาดว่าการส่งออกไทยจะติดลบ 7% และคาดว่าปีหน้าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ โดยมองว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ 

 

ที่สำคัญ ปี 2564 ต้องมีมาตรการรัฐออกมาเพิ่มเติมอย่างการต่อยอดโครงการคนละครึ่งเพื่อช่วยทั้งร้านค้าและประชาชน ทำให้ภาคการบริโภคดีขึ้น เพื่อช่วยตัวเลข GDP ให้โตได้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะมีมาตรการเหมือนของขวัญปีใหม่คือพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ล็อตที่ 8 

 

 

ไทยจะรักษาตลาดการค้าระดับภูมิภาคและโลกอย่างไร 

การส่งออกจะเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยต่อไป ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องเชื่อมโยงไทยกับภูมิภาคและทั่วโลกให้มากที่สุด โดยที่ผ่านมาสงครามการค้ากระทบไปทั่วโลก ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำของสหรัฐฯ คาดว่าจะเปลี่ยนนโยบายส่วนนี้ไปด้วย 

 

ทั้งนี้มองว่าไบเดนจะหันให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี หรือการเจรจาแบบเป็นกลุ่มประเทศมากขึ้น ให้ความสำคัญกับองค์การการค้าโลกแทนที่จะเจรจาแบบทวิภาคี (สองประเทศ) แบบที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้มาก่อน รวมถึงคาดว่าไบเดนจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ 

 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาคือไบเดนจะกลับมาให้ความสำคัญกับ CPTPP หรือไม่ หลังจากทรัมป์ถอนตัวออกไป ในส่วนของไทยมีการศึกษาผลดีและผลเสียในการเข้าร่วมแล้ว แต่อยู่ที่ภาครัฐตัดสินใจ

 

“ไม่ว่าจะเป็นไบเดนหรือทรัมป์ สหรัฐฯ ยังคงใช้เรื่องนี้เป็นข้อต่อรองอยู่ ก็คือ GSP การให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรกับประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นการให้ฝ่ายเดียว ขึ้นอยู่กับความพอใจของสหรัฐฯ 

 

“ทั้งนี้ในช่วงที่ผมมา GSP ถูกตัดไป 2 รอบ รอบที่ 1 ถูกตัดสิทธิ์จากกรณีการกดดันให้ไทยยอมรับการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว และรอบที่ 2 ในกรณีไทยไม่อนุญาตให้สหรัฐฯ นำเข้าหมูเนื้อแดง โดยทั้งสองรอบมองว่าไม่กระทบมาก เพราะเอกชนเตรียมตัวแล้ว”

 

 

เรื่องที่ไทยต้องเร่งทำ RCEP และ Mini-FTA

การสร้างจุดยืนของไทยที่จะเชื่อมกับคู่ค้าและเวทีโลก จุรินทร์มองว่าคือการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ขณะนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ประกอบด้วย ASEAN 10 + จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

 

RCEP มีจุดต่างจากข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ คือการส่งเสริม SMEs ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และมีการต่อยอดไปถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา อีคอมเมิร์ซ รวมถึงการแข่งขันทางการค้า ที่ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปหลายด้าน อย่างไรก็ตาม ทุกดีลการค้าจะมีทั้งข้อดีและข้อด้อย โดยจุดแข็งที่ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ยังเป็นเรื่องภาคบริการ ธุรกิจสุขภาพ อาหาร ความบันเทิง ค้าปลีก ฯลฯ 

 

“การลงนามความตกลง RCEP นี้จะช่วยในภาพรวม เช่น ต่อไปนี้เวลาเราผลิตสินค้าในประเทศไทย หรืออีก 14 ประเทศสมาชิกมาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย ก็สามารถส่งสินค้าไปขายโดยไม่มีภาษีระหว่าง 15 ประเทศด้วยกัน ซึ่งมีประชากร 1 ใน 3 ของโลก เพราะฉะนั้นเราก็จะได้เปรียบประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก วัตถุดิบก็นำเข้ามาโดยไม่ต้องเสียภาษี”

 

แต่ RCEP จะต้องรอการลงสัตยาบันอย่างน้อย 9 ประเทศ ส่วนของไทยมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าจะพยายามนำเข้าสู่การพิจารณารัฐสภาให้ได้ภายในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะจบเดือนกุมภาพันธ์ และยังหวังว่าอินเดียจะกลับมาร่วม RCEP เช่นกัน

 

นอกจากนี้เรื่อง FTA (Free Trade Area) เราจะเร่งทำทั้งกับสหราชอาณาจักร ยุโรป รวมถึงเมือง รัฐ หรือมณฑลต่างๆ ด้วย เรียกว่าทำ Mini-FTA เช่น ไหหลำ ที่จะเป็นเหมือนฮ่องกง 2 หรือเมืองคยองกีในเกาหลีใต้ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเร่งเจรจาพูดคุยไปพร้อมๆ กันได้

 

“เราต้องเร่งพัฒนาตัวเอง คือการเจรจามันจะได้ทั้งหมดไม่ได้ มันต้องมีเสียบางส่วน แต่ต้องบวกลบคูณหารสำหรับอนาคตว่าสุดท้ายแล้วเราจะเอาหรือไม่เอา คือขณะที่เราเป็นหนึ่งใน RCEP เราก็ต้องคิดอีกมุมว่าถ้าเราไม่ใช่แค่หนึ่งใน RCEP ขณะที่เพื่อนอีก 9 ประเทศอาเซียนเขาเป็น 9 ใน RCEP ขาดไทยประเทศเดียว แล้วทีนี้จะทำอย่างไร” 

 

 

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ต้องแก้ที่จุดไหน 

ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการทั้งซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือการบริการ คือต้องคิดตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ การแปรรูป กระบวนการทางการตลาด ไปจนถึงการนำรายได้เข้าประเทศ เพื่อให้รายได้ตกอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด เช่น ถ้าเรานำเข้าสินค้าเข้ามาประกอบและส่งออก สิ่งที่ประเทศไทยได้คือค่าแรงเท่านั้น

 

ดังนั้นสิ่งที่ไทยสามารถทำให้เป็นของตนเองได้ คำตอบคืออาหาร ซึ่งไทยเป็นเหมือนครัวของโลก รวมถึงการเกษตร เพราะมีการผลิตพืชเกษตรเอง แต่ต้องหาทางแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านนวัตกรรม ไม่ว่าจะเกษตรอัจฉริยะ ต้องเป็นเกษตรยุคใหม่ เช่น ยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี (2563-2567) ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว และจะใช้ยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต โดยจะมาดูทั้งความต้องการของตลาด ลดกระบวนการ เพิ่มการวิจัย เพิ่มสายพันธุ์ข้าว ฯลฯ

 

และอีกเรื่องสำคัญคืออีคอมเมิร์ซที่พัฒนาไปเรื่อยๆ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะทำการตลาดที่เป็นไฮบริดมากขึ้น ผสมระหว่างออนกราวด์กับออนไลน์ โดยให้ทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนประสานการค้าระหว่างประเทศอีกทาง แต่หัวใจหลักอยู่ที่เอกชน ซึ่งเราค่อนข้างมั่นใจว่าเอกชนไทยปรับตัวเก่งอยู่แล้ว

 

“ในปัจจุบันและอนาคตเราต้องปรับหลักคิด ไม่ใช่ว่ารัฐเป็นทัพหน้า เอกชนเป็นผู้ตาม ผมคิดว่าโลกมันเปลี่ยนไป เอกชนต้องเป็นทัพหน้า รัฐหนุน เอกชนนำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องเกิดและต้องเกิดลึกลงไปในจิตสำนึกของความเป็นรัฐจริงๆ ด้วย” 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X