×

ท้าผู้นำประเทศสูดฝุ่นพิษเข้าปอด แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แบบโอบามาสไตล์

21.01.2020
  • LOADING...
PM2.5

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ถ้าฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ แต่เราไม่ให้ความสําคัญ และไม่แก้อย่างทันท่วงที อาจส่งผลทำให้จำนวนคนที่เป็นมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความจำเสื่อมเพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจในอนาคต 
  • แล้วทำไมรัฐบาลที่มีหน้าที่ดูแลความสุขของคนในประเทศทุกคน จึงไม่ให้ความสําคัญกับปัญหานี้มากเท่าที่ควร
  • ถ้ารัฐบาลยังยืนยันอยู่ว่าปัญหาฝุ่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ประชาชนอย่างเราๆ อาจสามารถเปลี่ยนความคิดของคณะรัฐบาลได้ โดยการสร้างแคมเปญให้คณะรัฐบาลออกไปยืนสูดดมฝุ่นในสถานที่ที่พวกเขาบอกว่า ‘ไม่มีปัญหา’ แต่เป็นสถานที่ที่ประชาชนบอกว่า ‘มีปัญหา’

คงจะมีน้อยคนที่จะยังกล้าเถียงว่าฝุ่น PM2.5 ไม่มีพิษภัยต่อร่างกายของคนเรา เพราะมีงานวิจัยที่ออกมาพิสูจน์ให้เห็นจนกลาดเกลื่อนว่าการสูดเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ และดูดซับเข้าไปในกระแสเลือด จะส่งผลทำให้คนป่วยเป็นมะเร็งปอดได้ และไม่ใช่แค่มะเร็งเท่านั้นที่ฝุ่นเป็นตัวก่อเหตุ แต่ฝุ่นยังสามารถทำให้คนเป็นโรคหัวใจ เป็นโรคความจำเสื่อม และป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจอีกด้วย

 

พูดง่ายๆ ก็คือปัญหาฝุ่น หรือ Smog นั้นเป็นปัญหาสาธารณสุข หรือ Public Health ที่ยิ่งใหญ่มาก แถมมันยังเป็นปัญหาที่เราอาจจะไม่เห็นผลเสียในฉับพลันทันทีด้วย 

 

คำถามก็คือว่า ถ้าฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ แต่เราไม่ให้ความสําคัญมากที่สุด และไม่แก้อย่างทันท่วงที เพียงเพราะว่าเราอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบระยะยาวของมันในวันนี้ อาจจะส่งผลทำให้จำนวนคนที่เป็นมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความจำเสื่อมเพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจในอนาคต แล้วทำไมรัฐบาลของเรา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลความสุขของคนในประเทศทุกคน จึงไม่ให้ความสําคัญกับปัญหานี้มากเท่าที่ควร

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผลกระทบใหญ่ๆ ของการสูดฝุ่นเข้าไปในร่างกายของเรามันลอยคว้างอยู่ในอนาคต ซึ่งมันดูไกลเสียเหลือเกิน คนที่แคร์ในเรื่องฝุ่นมากกว่าก็คือคนที่มองการณ์ไกล ซึ่งในคณะรัฐบาลอาจมีคนเหล่านั้นไม่เพียงพอก็ได้

 

แต่เหตุผลที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผมเชื่อว่าชีวิตของคนในคณะรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ได้รับกระทบจากปัญหาฝุ่นโดยตรง เพราะไม่จำเป็นต้องไปยืนรอรถเมล์ในสถานที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเดินถนนโดยที่ไม่มีหน้ากากป้องกันฝุ่น (เพราะว่าหน้ากากมันแพง) มันจึงเป็นอะไรที่ง่าย และพอที่จะอธิบายได้ว่าทำไมคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรงเหล่านี้นั้นจึงไม่ได้คิดว่ามันมีปัญหาอะไรมากมาย

 

คล้ายๆ กันกับคนที่เกิดมารวยมาก แต่บอกกับคนที่เกิดมาจนว่าคุณไม่ต้องรวยคุณก็มีความสุขได้ หรือคนที่มีสุขภาพจิตดีบอกกับคนจิตตกว่า “ก็ไม่ต้องจิตตกสิ ง่ายนิดเดียว”

 

และด้วยความที่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจไม่มี Empathy หรือทักษะในการเอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างเพียงพอ ไม่ว่าพวกเราจะนำทางออกในการขจัดปัญหาฝุ่นใดๆ ก็ตามไปเสนอให้พวกเขาฟัง พวกเขาก็คงไม่ฟัง เพราะในความเข้าใจของเขา ฝุ่นไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่พอที่เขาจะต้องมาให้ความสําคัญอะไรกับมันมาก

 

แต่ผมมีทางออกอยู่ทางหนึ่งที่เราจะสามารถทำให้คณะรัฐบาลหันหน้ามาสนใจปัญหาฝุ่นมากขึ้น

 

ผมเรียกวิธีการนี้ว่าวิธีการแก้ปัญหาอย่างโอบามานั่นเอง

 

———

 

ย้อนเวลากลับไปปี ค.ศ. 2015 เมืองฟลินต์ ในสหรัฐอเมริกา มีปัญหาน้ำเป็นพิษ (คือทางรัฐพบว่าน้ำประปาในฟลินต์ถูกปนเปื้อนไปด้วยสารตะกั่ว (Lead) ซึ่งเป็นสารพิษที่มีผลกระทบสูงมากกับเด็กๆ และสตรีมีครรภ์ถ้าดื่มเข้าไป) ซึ่งปัญหาน้ำประปาเป็นพิษนี้ได้สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลโอบามาเป็นอย่างมาก จนวันหนึ่งโอบามาถึงกับยอมบินไปฟลินต์ เพื่อไปอภิปรายให้กับประชาชนฟังว่า สถานการณ์ยังอยู่ในความควบคุมของรัฐบาล

 

และในขณะที่โอบามากำลังอภิปรายออกทีวีอยู่นั้น เขาก็พูดขึ้นมาว่า “ผมหิวน้ำจัง ขอน้ำสักแก้วได้ไหม” หลังจากนั้นก็มีคนเอาแก้วน้ำที่เปิดมาจากน้ำประปาของฟลินต์มาให้โอบามาดื่ม

 

สิ่งที่โอบามาทำในวันนั้น ก็คือการขอน้ำประปาที่มีสารพิษเจือปนอยู่มาดื่มให้คนดูเป็นวิธีการที่เขาทำเพื่อให้คนในฟลินต์ไว้วางใจได้ว่าน้ำประปานั้นสะอาด และไร้พิษพอที่ประธานาธิบดียินดีที่จะดื่มได้

 

และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้โอบามาต้องป่วยเป็นโรคปอดที่ติดมาจากการดื่มน้ำที่มีสารตะกั่วมาจนถึงทุกวันนี้ (อันนี้ผมพูดเล่นนะครับ)

 

แต่ประเด็นของผมก็คือ อย่างน้อยวิธีการแก้ปัญหาของโอบามาก็คือการพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดยืนของคนอื่น ถึงแม้ว่ามันจะไม่สำเร็จมากนักในการเปลี่ยนทัศนคติของคนในฟลินต์ ที่มีต่อปัญหาน้ำประปาก็ตาม

 

แต่ถ้าเราย้อนกลับมาดูปัญหาฝุ่นในเมืองไทยล่ะก็ ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลยังยืนยันอยู่ว่าปัญหาฝุ่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ประชาชนอย่างเราๆ อาจสามารถเปลี่ยนความคิดของคณะรัฐบาลได้ โดยการสร้างแคมเปญให้คณะรัฐบาลออกไปยืนสูดดมฝุ่นในสถานที่ที่พวกเขาบอกว่า ‘ไม่มีปัญหา’ แต่เป็นสถานที่ที่ประชาชนบอกว่า ‘มีปัญหา’

 

แค่นั้นยังไม่พอ เพราะผลกระทบของฝุ่นที่มีต่อร่างกายของคนเรามีค่าเชิงลบที่สูงกว่าสำหรับเด็กๆ และสตรีมีครรภ์ เราก็ควรที่จะมีแคมเปญให้คณะรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กหรือสตรี จูงมือพาลูกหลาน แฟนสาว หรือภรรยาออกมาสูดอากาศที่เขาบอกว่า ‘ไม่มีปัญหา’ ด้วยกันสักสัปดาห์สองสัปดาห์ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนที่อาจไม่มีเงินพอในการซื้อหน้ากากป้องกัน หรือเครื่องฟอกอากาศ และทำให้เขารู้สึกอุ่นใจในสิ่งที่รัฐบาลกำลังสื่อสารและทำออกมาได้

 

หรืออย่างน้อยๆ ถ้าการที่คณะรัฐบาลออกมาสูดอากาศพิสูจน์แล้วเกิดเปลี่ยนใจ ยอมรับว่ามันเป็นปัญหาใหญ่จริงๆ เราก็สามารถเดินหน้าผลักดันทางออกอื่นๆ ให้กับพวกเขาได้

 

แต่ถ้ามันไม่เป็นไปตามที่เราคิด ถ้ารัฐบาลกล้าออกมาสูดดมฝุ่นเข้าไป แต่ก็ยังยืนยันว่ามันไม่ใช่ปัญหา อย่างน้อยๆ เราก็ทำให้ปอดของเขา และของลูกหลานเขา มีฝุ่นร้ายในระบบทางเดินหายใจเหมือนๆ กันกับเรา

 

ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่ 

 

และติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/thestandardth

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising