เปิดมุมมองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์คนใหม่ ผ่านแนวคิด Reshape the Future พลิกโฉมสู่ยานยนต์แห่งอนาคต มองอุตสาหกรรม EV ไทยโตก้าวกระโดดเป็นความท้าทาย ย้ำต้องส่งบุคลากรไปเทรนต่างประเทศ กลับมาพัฒนาให้ทันเทคโนโลยี พร้อมชูแนวคิด 3 RIBBONS STRATEGY รองรับค่ายรถย้ายฐานผลิต EV มาไทย
เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ต้องยอมรับว่ายานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาแรง เติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นการเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันในวันนี้ จึงมีแผนปรับองค์กรผ่านแนวคิด Reshape the Future พลิกโฉมสู่ยานยนต์แห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นการยกระดับ ‘เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่’ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิต สอดคล้องนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ภายในปี 2030 ซึ่ง EV เป็นส่วนหนึ่งในกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งในปี 2023 มีการประมาณการตัวเลขการผลิตรถยนต์ในประเทศอยูที่ 1,950,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 3.53%
โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน และคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ประเทศไทยจะมีการผลิตรถยนต์ที่ 2,400,000 คัน แบ่งเป็นรถ ZEV จำนวน 725,000 คัน ตั้งแต่ปี 2023-2030 ประเทศไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโต 3.5% ต่อปี ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำฐานการส่งออกหรือฮับ EV เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งจะเห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมาค่ายรถยนต์รายใหญ่ๆ ที่ขยายการลงทุน EV เลือกไทยเป็นฐานผลิต เพราะไทยมีการแข่งขัน แรงงานมีประสิทธิภาพ โดยสถาบันเองก็ต้องปรับบทบาท เช่น จากที่เคยทดสอบเพียงแค่รถยนต์ก็พัฒนาไปให้การทดสอบแบตเตอรี่ เราต้องเรียน Protocol ทั้งกระบวนการ
ที่สำคัญคือสถาบันจะปรับเปลี่ยนองค์กรที่ไม่ใช่แค่การพัฒนายานยนต์เท่านั้น ต้องอัปสกิล รีสกิลบุคลากรให้พร้อม มีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ส่งบุคลากรไปอบรม เรียนต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือยุโรป ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งระยะสั้นและฝึกงาน เพราะถ้าช้า ถึงเวลา ‘คนจะปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยี’
“การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต โดยเฉพาะ EV แบตเตอรี่ ถือเป็นการบ้านใหญ่ของสถาบันยานยนต์ ซึ่งค่ายรถทุกค่าย ธุรกิจในซัพพลาย ยางล้อ มาทดสอบที่สถาบันแทบทุกอย่าง ทั้งเทสระบบเบรก อะไหล่ เครื่องยนต์ ระบบที่นั่ง แบตเตอรี่ เราต้องปรับบทบาทไปสู่สถาบันนวัตกรรม ร่วมมือวิจัยและพัฒนากับเอกชน พาร์ตเนอร์ต่างประเทศ รวมทั้งเน้นรีสกิล อัปสกิลบุคลากร”
ชูแนวคิด ‘3 RIBBONS STRATEGY’ ปรับโฉมสถาบัน
สำหรับช่วงการปรับบทบาทองค์กร ช่วง 7 ปี (2023-2030) จะใช้ยุทธศาสตร์โบว์ 3 สี ฟ้า เขียว ขาว
- BLUE OCEAN จะมีการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ และเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ ทำการตลาดเชิงรุก เป็นผู้ให้บริการด้านเทคนิค (Technical Service) ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างครบวงจร ได้แก่ มาตรฐานบังคับ (มอก.) มาตรฐานกรมขนส่ง ASEAN MRA และมาตรฐานตามข้อตกลง 1958 Agreement ของสมาชิก 48 ประเทศ
- GREEN GROWTH การสร้างความยั่งยืน เตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการทดสอบการปล่อยสารมลพิษจากเครื่องยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6 เพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบ พร้อมให้บริการเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งมีศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจรที่สุดในอาเซียน ตามมาตรฐาน UNECE R100 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และ UNECE R136 สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสามารถทดสอบเพื่อการวิจัยและพัฒนาในการปรับปรุงสมรรถนะของแบตเตอรี่ได้อีกด้วย
- WHITE SPIRIT การสร้างความน่าเชื่อถือ คือความท้าทายองค์กรให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างโมเดลของธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือการปั้นสถาบันยานยนต์ให้มีความพร้อม เป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ ในการทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ เพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะ ‘การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก หรือศูนย์กลางของภูมิภาค’ ที่ ณ เวลานี้ถือว่าไทยพร้อมรองรับค่ายรถทุกค่าย และบริษัทรายใหญ่ของโลกในการผลิต EV
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พร้อมกันหรือยัง? ‘Great Wall Motor’ เตรียมเปิดตัว ORA Grand Cat รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นใหม่ครั้งแรกในไทย
- ‘NETA’ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ส่ง ‘NETA S’ บุกไทย เปิดโฉมครั้งแรกในงาน Motor Expo 2022
- ‘VinFast’ จับมือ ‘Autonomy’ จัดหารถยนต์ไฟฟ้า 2,500 คันป้อนตลาดสหรัฐฯ