×

รู้จักโมเดลนวัตกรรม ‘ธนาคารน้ำ (ระบบปิด)’ แก้ปัญหาน้ำแล้ง-ท่วมแบบชาวชุมชนหนองมะโมง

13.09.2019
  • LOADING...
ธนาคารน้ำระบบปิด

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เดิมทีจังหวัดชัยนาทเป็นพื้นที่แห้งแล้ง แต่การมาของนวัตกรรม ‘ธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด)’ ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้โดยไม่ต้องซื้อน้ำเหมือนที่ผ่านมา
  • ธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) นอกจากจะช่วยให้มีน้ำใช้ได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้ช่วงแห้งแล้งที่สุดอย่างเดือนเมษายน ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยบริหารน้ำไม่ให้เกิดการท่วมในยามฝนตกหนักอีกด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดช่วงเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลายจังหวัดต่างประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก โดยมีพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีการรายงานอย่างต่อเนื่องว่าได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมมากที่สุดในรอบ 17 ปี

 

ล่าสุดสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเทศบาลตำบลหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ได้ทำการเปิดตัว 2 นวัตกรรม แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) ในพื้นที่ชุมชนหนองมะโมง 

 

ซึ่งจุดประสงค์หลักของ ‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ คือการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับชุมชน อันเป็นปัญหาที่หลายจังหวัดในประเทศตอนนี้กำลังประสบอยู่ เพื่อทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค เนื่องจากแต่เดิมชุมชนหนองมะโมงมีปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งมาเป็นเวลากว่า 100 ปี และที่น่าสนใจคือเมื่อนำนวัตกรรมดังกล่าวเข้ามาใช้ในปี 2560 ปรากฏว่าสภาวะแห้งแล้งหรือน้ำท่วมฉับพลันค่อยๆ ทยอยหายไปจากพื้นที่แห่งนี้ทันที

 

ธนาคารน้ำระบบปิด

 

ที่มาโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด)

เดิมทีโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) เกิดจากแนวคิดของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องการจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง จากเดิมหวัดชัยนาทเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาไม่มีน้ำกินน้ำใช้ 

 

ดังนั้นหน่วยงานท้องถิ่นจึงมีแนวคิดที่จะทำธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) เพื่อกักเก็บน้ำ โดยมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เข้าไปสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว พร้อมทั้งมีโครงการที่จะทำธนาคารน้ำจำนวน 155 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3-4 หมู่บ้านในตำบลอีกด้วย

 

ทั้งนี้ธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) เป็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินโดยระบบบ่อปิด มีวิธีการทำโดยการขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม กว้าง 30 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ลึก 1.20-1.50 เมตร ใช้ก้อนหินและชั้นทรายวางจนเต็มก้นหลุมเพื่อให้ได้น้ำที่ใสสะอาด แตกต่างจากการใช้ขวดหรือยางรถยนต์เป็นตัวกรองในชุมชนอื่น ซึ่งการขุดไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก ไม่ต้องเปิดหน้าดินเป็นวงกว้าง และจะไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง 

 

อย่างไรก็ตาม การทำธนาคารน้ำนี้จำเป็นจะต้องมีการศึกษาด้านธรณีวิทยาและด้านภูมิศาสตร์เพื่อหาจุดลุ่มต่ำหรือจุดที่เป็นทางน้ำไหล เพื่อทำให้น้ำสามารถไหลลงธนาคารน้ำใต้ดินได้ ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นการอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกไปในตัวด้วย

 

โดยรูปแบบการทำธนาคารน้ำแบบปิดมีข้อดีคือสามารถทำให้น้ำไหลลงบ่อใต้ดินได้รวดเร็วมาก ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยในช่วงฤดูฝนนั้น ความสามารถของธนาคารน้ำคือสามารถรีชาร์จน้ำลงบ่อได้รวดเร็ว ลดการท่วมขังในพื้นที่ ส่วนหน้าแล้งก็สามารถนำน้ำที่กักเก็บไว้มาใช้ได้ อีกทั้งการทำธนาคารยังช่วยทำให้ดินชุ่มน้ำและอุ้มน้ำมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ดินบริเวณที่ทำธนาคารเกิดตาน้ำ (ทางน้ำเล็กๆ ที่อยู่ใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดไม่ขาดสาย) และหลังจากนั้นประชาชนก็จะสามารถขุดน้ำบาดาลและน้ำประปาขึ้นมาใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อน้ำเหมือนที่ผ่านมา

 

ธนาคารน้ำระบบปิด

 

ว่าด้วยเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้และขั้นตอนการทำ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) มีดังนี้

 

  1. หินใหญ่คละขนาด (หินลิปแลป) ขนาด 15-30 เซนติเมตร
  2. หินย่อยขนาดเล็ก (3/4)
  3. ผ้ามุ้ง หรือผ้าตาข่าย หรือจีโอเท็กซ์ไทล์
  4. ท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว หรือ 3 นิ้ว ความยาวประมาณ 2 เมตร
  5. ท่อพีวีซีสามทาง หรือท่อพีวีซีตัวแอล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว หรือ 3 นิ้ว

 

ธนาคารน้ำระบบปิด

 

ส่วนขั้นตอนการทำแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้

 

  1. สำรวจจุดรวมน้ำหรือจุดที่พบน้ำท่วมขัง โดยขุดบ่อให้ทะลุชั้นดินเหนียว ขนาดแล้วแต่ธรณีวิทยาของแต่ละพื้นที่ ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร ลึก 1.5 เมตร (ตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่) 
  2. ตั้งท่อ PVC (ท่ออากาศ) ตรงกลางบ่อ 90 องศา พร้อมนำวัสดุ เศษอิฐ หิน หรือเศษวัสดุที่ไม่ย่อยสลายขนาดพอเหมาะใส่ลงในบ่อ (เศษวัสดุต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมี) สูงประมาณ 1.30 เมตร 
  3. นำผ้าตาข่ายมุ้งเขียว หรือผ้าสแลน ปูทับด้านวัสดุหยาบ (เป็นการกรองวัสดุที่ไหลมากับน้ำไม่ให้ลงไปในบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน และป้องกันไม่ให้หินเกล็ดหล่นในช่องว่างของวัสดุหยาบ)
  4. นำหินขนาดเบอร์ 1 (3/4) โรยทับบนผ้ามุ้งหรือผ้าสแลนจนเสมอปากบ่อ หนา 10-20 เซนติเมตร (ป้องกันเศษใบไม้ ใบหญ้า ตะกอนดิน ไม่ให้ลงไปอุดตันวัสดุหยาบ)

 

เท่านี้ก็จะได้ธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร ลึก 1.5 เมตร สามารถเติมน้ำลงชั้นใต้ดินได้ไม่น้อยกว่า 6 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือ 6,000 ลิตรต่อชั่วโมง พร้อมการเดินทางของน้ำใต้ดินมีลักษณะกระจายออกเป็นรัศมีวงกลมตามแรงเหวี่ยงของโลกหรือตามเส้นทางเดินใต้ดิน เดินตามร่องระบายอากาศของรากต้นไม้ โดยเฉพาะหญ้าแฝกและรากต้นไม้จะสามารถสร้างทางน้ำใต้ดินได้เป็นอย่างดี 

 

ธนาคารน้ำระบบปิด

 

วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม (NIA) หนึ่งในผู้ส่งเสริมโครงการ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของการผลักดันนวัตกรรมดังกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ยังประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นมักเป็นเพียงแค่การพลิกแพลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น หลายสภาวะยังไม่มีรูปแบบ แนวทาง หรือมาตรการในการรับมือและจัดการปัญหาเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ

 

“ซึ่งการแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้เกิดความยั่งยืนนั้นจำเป็นจะต้องมีการวางแผนแนวทางหรือประยุกต์ใช้เครื่องมือที่สามารถป้องกันและบรรเทาที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่เป็นสิ่งก่อสร้าง โดยเป็นการออกแบบโครงสร้างของถาวรวัตถุ เช่น บ้านเรือน อาคารสำนักงาน ให้มีความแข็งแกร่ง สามารถป้องกันสภาวะต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้นวัตกรรมวัสดุเทคโนโลยีและแนวคิดการออกแบบใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าธนาคารน้ำ (ระบบปิด) นี้เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ และน่านำไปทดลองใช้งานในหลายพื้นที่ของไทยที่ประสบปัญหาดังกล่าว” 

 

ธนาคารน้ำระบบปิด

 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นวัตกรรมธนาคารน้ำ (ระบบปิด) อาจเป็นสิ่งที่ได้ผลกับพื้นที่อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท แต่กับพื้นที่จังหวัดอื่นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่าหากนวัตกรรมเหล่านี้เข้าไปอยู่ในระบบของพื้นที่เหล่านั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากแบบนี้ได้มากหรือน้อยเพียงใด

 

เราคงต้องติดตามกันต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising