×

กทม. เตรียมแผนรับมือน้ำเหนือ ไหลเข้ากรุงช่วงกลาง ส.ค. นี้ รับกังวลจุดฟันหลอ แนวคันกั้นน้ำอีกกว่า 20 แห่ง

โดย THE STANDARD TEAM
26.07.2022
  • LOADING...
รับมือน้ำเหนือ

วันนี้ (26 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมในการรับมือน้ำเหนือที่จะไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา มาถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยกล่าวว่าน้ำเหนือเป็น 1 ใน 4 น้ำที่อาจทำให้ กทม. มีน้ำท่วม และน้ำเหนือถ้ามาพร้อมกับน้ำทะเลหนุน จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ซึ่งปกติ กทม. มีคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่แล้ว ความยาว 88 กิโลเมตร เป็นของ กทม. 80 กิโลเมตร ของเอกชน 8 กิโลเมตร 

 

ถ้าน้ำที่ระบายไหลเข้ามา กทม. เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นถึงคันกั้นน้ำของ กทม. และอาจไหลเข้าชุมชนได้ เพราะคันกั้นน้ำ กทม. ทำคันกั้นน้ำไว้ความสูงด้านบน 3.5 เมตร และด้านล่าง 2.8 เมตร 

 

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า ดังนั้นปัญหามี 2 เรื่องคือ ถ้าน้ำไหลมามากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็อาจไหลท่วมชุมชนได้เหมือนกับปี 2554 ที่ระบายน้ำมา กทม. อยู่ที่ 2,200-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ตอนนี้ข้อมูลจากกรมชลประทาน พบว่าน้ำที่ระบายมาจากทางเหนือ ระบายอยู่ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังถือว่าไม่อยู่ในจุดวิกฤต ดังนั้นต้องเฝ้าระวัง

 

ส่วนเรื่องที่ 2 คือจุดฟันหลอ (จุดรอยต่อระหว่างคันกันน้ำ) ที่มีอยู่บริเวณคันกั้นน้ำมากกว่า 20 แห่ง แม้ระดับน้ำไม่สูงเลยคันกั้นน้ำ แต่น้ำจะไหลเข้ามาได้ ดังนั้นได้สั่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลแล้ว และ กทม. กำลังจัดซื้อจัดจ้างเพื่ออุดฟันหลออีกประมาณ 10 จุด แต่อาจจะไม่ทันน้ำเหนือรอบนี้

 

อย่างไรก็ตาม ในสัญญาระบุแล้วว่า ให้ผู้รับเหมาเตรียมกระสอบทรายไว้ป้องกันหากระดับน้ำเพิ่มสูง ซึ่งจุดฟันหลอจะมีปัญหา 2 ส่วน ส่วนแรกคือเป็นพื้นที่เอกชน ไม่ยินยอมให้ก่อสร้างคันกั้นน้ำ กทม. อย่างเช่น แถวถนนทรงวาด มีฟันหลอ 18 เมตร ที่เอกชนไม่ยอมให้สร้างคันกั้นน้ำ และเป็นจุดที่น้ำท่วมหลัก 

 

กทม. จึงเตรียมพร้อมให้วางแนวรอบพื้นที่เอกชนไว้แล้ว และสำรวจทุกจุดให้พร้อม อย่างน้อยให้ทัน 27 กรกฎาคมนี้ แต่ถ้ากรมชลประทานระบายน้ำจากจังหวัดชัยนาท วันที่ 27 กกฎาคมนี้ น้ำจะใช้เวลาเดินทาง 7 วัน มาถึง กทม. ดังนั้นน้ำที่ กทม. จะขึ้นสูงประมาณกลางเดือนสิงหาคม ถ้ามีน้ำทะเลหนุนก็ต้องเฝ้าระวัง แต่อยู่ในแผนที่สั่งให้ดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising