×

‘ชัชชาติ’ ชงเลื่อนเก็บค่าขยะอัตราใหม่จาก 20 เป็น 80 บาทออกไปอีก 1 ปี หวั่นเป็นภาระประชาชน พร้อมหาทางลดภาระค่าบริหารขยะที่ กทม. จ่าย 7,000 ล้านบาทต่อปี

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (11 กรกฎาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานในการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2565 

 

ชัชชาติกล่าวภายหลังประชุมว่า ทางสำนักสิ่งแวดล้อมได้เสนอการพิจารณากำหนดวันบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2562 เนื่องจากปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้งบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปีในการจัดการขยะ แต่สามารถจัดเก็บค่าขยะได้เพียง 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากหากเทียบกัน

 

ดังนั้นจึงมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ เพื่อขอความเห็นชอบเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยอัตราใหม่ จาก 20 บาท เป็น 80 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากเกรงว่าจะไปซ้ำเติมประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ 

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ควรลดต้นทุนในการจัดการขยะที่ กทม. ต้องใช้งบประมาณหมื่นล้านบาทต่อปี มากกว่าการไปเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม โดยการรณรงค์แยกขยะด้วยแนวคิดขยะเป็นทองคำ เพิ่มแรงจูงใจในการแยกขยะ ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลและใช้ประโยชน์ หรือนำไปขายได้ เชื่อว่าหากมีการคัดแยกขยะ จะสามารถลดค่าจัดการขยะที่ กทม. ต้องเสียปีละ 8,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า สุดท้ายหากมีการเลื่อนการจัดเก็บค่าขยะครั้งนี้ออกไปอีก 1 ปี ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. 4 ปี จะมีการจัดเก็บตามอัตราใหม่หรือไม่ เพราะแม้จะมีการจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าบริหารจัดการขยะอยู่ดี ชัชชาติกล่าวว่า ปัจจุบัน กทม. จัดเก็บค่าขยะได้ประมาณ 600 ล้านบาท ขณะที่ค่าบริหารจัดการขยะ กทม. ต้องใช้งบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี จึงอยากให้โฟกัสเรื่องการลดค่าใช้จ่ายมากกว่า เพราะการขึ้นค่าจัดเก็บขยะเป็นภาระของประชาชน ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่รัฐเองต้องให้บริการพื้นฐานอยู่แล้ว 

 

ทั้งนี้ หากมีการจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ จะทำให้มีรายได้ในส่วนนี้จาก 500 ล้าน เป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่หมายความว่าประชาชนต้องจ่ายมากขึ้น ซึ่งประชาชนอาจมีข้อจำกัดมากกว่าภาคเอกชน หากประกาศขึ้นค่าขยะอัตราใหม่ภาคเอกชนสามารถขายขยะ หรือรีไซเคิลขยะได้มีประสิทธิภาพมากกว่า อาจทำให้ขยะลดน้อยลงด้วย โดยตัวเลขปัจจุบัน ค่าขยะมาจากบ้านเรือนประชาชน คอนโด ที่อยู่อาศัย ประมาณร้อยละ 60 จึงมองว่าประชาชนมีศักยภาพในการรีไซเคิลขยะหรือนำขยะไปขายได้น้อยกว่าภาคเอกชน 

 

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า เรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ รูปแบบการจัดเก็บขยะที่เลื่อนการจัดเก็บตั้งแต่ปี 2562 ยังนับน้ำหนักขยะเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงแรงจูงใจในการบริหารจัดการขยะ เช่น การคัดแยกขยะ จึงต้องคิดให้ดีในเรื่องข้อบัญญัติการจัดเก็บขยะอีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising