วานนี้ (1 กุมภาพันธ์) เอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2567 ว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีข้อสั่งการในเบื้องต้น เกี่ยวกับการดำเนินการต่อเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน โดยได้มีข้อสั่งการให้ผู้อำนวยการเขตดำเนินการตรวจสอบปัญหาในพื้นที่ภายในและโดยรอบโรงเรียน ทั้ง 437 แห่ง เพื่อให้สามารถรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
เอกวรัญญูกล่าวต่อว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่โรงเรียนเขตสวนหลวง ทางโรงเรียนได้ประกาศหยุดเรียนเป็นเวลา 3 วัน (30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2567) และได้ส่งทีมแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา เข้าประเมินสภาพจิตใจผู้อยู่ในเหตุการณ์ จำนวน 59 คน (นักเรียน 50 คน ครู 9 คน) มีการจัดงานบำเพ็ญกุศล และมีการสั่งเพิ่มมาตรการความปลอดภัย เช่น ตรวจกระเป๋าก่อนเข้าสถานศึกษา
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในโรงเรียน จึงกำหนด 9 มาตรการหลัก ดังนี้
- กำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนเป็นนโยบายสำคัญของโรงเรียน
- ดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง
- กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และมีคู่มือปฏิบัติสำหรับบุคลากรเพื่อความปลอดภัย
- จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน โดยมีตัวแทนครูและผู้ปกครองร่วมกันตรวจสอบปีละ 4 ครั้ง
- จัดให้มีระบบการดูแลคุ้มครองเด็กที่ดี กำหนดให้มีโครงการป้องกันยาเสพติด และพฤติกรรมข่มขู่ รังแกนักเรียน
- จัดให้มีระบบความปลอดภัยด้านอาคารและสถานที่โดยรอบของโรงเรียน
- กำหนดการเดินทางไป-กลับโรงเรียนอย่างถูกวิธี มีความปลอดภัยจากการจราจร
- มีการบันทึกข้อมูลอุบัติภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ
- จัดให้มีหลักสูตร ‘จิตสำนึกความปลอดภัย’
เอกวรัญญูกล่าวว่า มาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนจะครอบคลุมในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การเฝ้าระวังอัคคีภัย การซ้อมอพยพหนีไฟ การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ การป้องกันอุบัติเหตุ การป้องกันการลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียน และการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น