วันนี้ (21 มิถุนายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ประชุมร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ในหัวข้อเรื่องโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง)
ชัชชาติกล่าวภายหลังการประชุมว่า เรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนพูดถึง ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนสั่งให้ทำ สำหรับมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทยได้รับมอบหมายงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ช่วยจัดการอบรมเวิร์กช็อปในเรื่อง PM2.5 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
ส่วน กทม. เองมีนโยบายหลักในการจัดการเรื่องดังกล่าวอยู่ 4 ด้าน ได้แก่
- กำจัดต้นตอ PM2.5 ผ่านโครงการนักสืบฝุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ต้นตอฝุ่นในกรุงเทพฯ ทำให้มีข้อมูลในระยะยาวและทำงานเชิงรุกได้ เช่น กำจัดต้นตอจากรถยนต์ที่ใช้ระบบเชื้อเพลิงดีเซลที่อาจจะเผาไหม้ได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนรถยนต์ระบบสันดาปเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และดูต้นตอโรงงานปล่อยควันพิษ
- กำหนดพื้นที่เขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ทำให้เกิดจุดปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 ในปริมาณต่ำให้ได้ สนับสนุนให้คนใช้รถสาธารณะมากขึ้น และปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหา
- แจกอุปกรณ์ป้องกันช่วยบรรเทาฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย และเครื่องกรองอากาศให้กับกลุ่มเปราะบาง สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข
- จัดทำระบบคาดการณ์และแจ้งเหตุด้วยความช่วยเหลือจากกลุ่มเครือข่าย อาจร่วมกับหน่วยงานเอกชนหรือมหาวิทยาลัยติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น จากเดิมที่มีอยู่ 50 จุดทั่วกรุงเทพฯ ให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1,000 จุด รวมทั้งสร้างความแม่นยำในการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ อาจจะมีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แสดงข้อมูลค่าฝุ่นให้ประชาชนทราบในจุดต่างๆ เช่น โรงเรียน หรือพื้นที่สาธารณะ
ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า ปัญหา PM2.5 จะแก้ได้ต้องมี 2 องค์ประกอบหลักคือ Hard Power กฎหมายต้องเข้มข้น และ Soft Power เปิดข้อมูลปริมาณฝุ่น PM2.5 และใช้พลังประชาชนให้มีส่วนร่วมในการบังคับให้ลดการปล่อยฝุ่น
“ที่ผ่านมายังขาดข้อมูลเรื่อง PM2.5 ที่แท้จริง และไม่ได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะข้อมูลวิจัยล่าสุดของเรื่องนี้อยู่ที่ปี 2554 ฉะนั้น จากนี้ต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และ กทม. และจะต้องวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวให้ได้ แม้ฝุ่นจะมาเป็นฤดูกาล แต่มีผลต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาวหรือตลอดชีวิต” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวด้วยว่า เป้าหมายในการลด PM2.5 ในกรุงเทพฯ จะต้องทำให้ลดลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่กล้าสัญญาว่าปริมาณจะลดลงเท่าไร แต่จะแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ส่วนการปรับเกณฑ์วัดค่า PM2.5 คงไม่สำคัญเท่าตัวเลขที่วัดได้จริง เพราะมาตรฐานเป็นแค่ความสบายใจ
ขณะที่วานนี้ (20 มิถุนายน) ชัชชาติได้ร่วมพูดคุยในหัวข้อ Bangkok Air Pollution: Policy, Civil Society and Business ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยกล่าวถึงวิธีการแก้ไขปัญหา PM2.5 ที่วางไว้ 4 วิธีหลัก
โดยระบุว่า วิธีทั้งหมดที่ กทม. จะนำมาใช้เป็นแผนที่จะดำเนินการภายใต้อำนาจที่มีอยู่ โดยจะลดการทำงานแบบแยกส่วน และบูรณาการการทำงานแบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านการใช้แพลตฟอร์ม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที