วันนี้ (16 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย กรณิศ บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่เก็บซาก ปลาหมอคางดำ และ ปลานิล ภายในบึงมักกะสัน บริเวณสะพานจตุรทิศ ถนนจตุรทิศ กรุงเทพฯ หลังวานนี้ (15 กรกฎาคม) มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาจับปลา
ชัชชาติกล่าวว่า สาเหตุของปลาตายวันนี้เกิดจากปลาน็อกน้ำเนื่องจากขาดออกซิเจน เพราะเมื่อวานนี้โรงบำบัดน้ำเสียดินแดงปิดปรับปรุงซ่อมปั๊มน้ำตั้งแต่เวลา 03.00-23.00 น. ทำให้ประตูน้ำถูกปิด ปลาจึงต้องอาศัยน้ำที่มีอยู่ในบ่อ ซึ่งมีออกซิเจนจำนวนจำกัด จนสุดท้ายมีปลาตายเป็นจำนวนมาก
ปัญหาที่เจอเมื่อวานนี้ไม่เพียงแต่พบปลาหมอคางดำ แต่ยังมีเรื่องน้ำที่หยุดปล่อยจากการซ่อมบำรุงอีกด้วย โดยวันนี้ปล่อยน้ำออกมาตามปกติ ซึ่งยืนยันว่าเป็นน้ำคุณภาพดีที่ผ่านกระบวนการบำบัดเรียบร้อยแล้ว
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ประเภทปลาที่เจอเมื่อวานนี้ส่วนใหญ่จะเป็นปลานิล 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นปลาหมอคางดำ ยอมรับว่าถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะถือว่าปลาหมอคางดำเข้ามาถึงพื้นที่เมืองแล้ว ส่วนพื้นที่ที่เจอปลาหมอคางดำจำนวนมากจะเป็นเขตบางขุนเทียนแถวน้ำกร่อย ซึ่งวันนี้จะประชุมผู้อำนวยการเขตรอบพื้นที่ปริมณฑลอีกครั้ง
ส่วนมาตรการป้องกัน ชัชชาติระบุว่า กรมประมงมีแผนแก้ไขปัญหาอยู่ ในขั้นแรกคือจับให้มากที่สุด ขั้นที่สองคือปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ขั้นที่สามคือเพิ่มมูลค่าทำปลาแดดเดียวหรือทำอาหาร ขั้นที่สี่คือแบ่งเขตป้องกันไม่ให้แพร่กระจายข้ามเขต ขั้นที่ห้าคือหารือร่วมกับเอกชน ขั้นที่หกคือใช้เทคโนโลยี อาจเป็นการตัดต่อพันธุกรรมให้เป็นหมัน ซึ่งกรมประมงกำลังดำเนินการ และสุดท้ายคือการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเกษตรกร