×

‘ชัชชาติ’ ประชุมร่วม สมาคมสันนิบาตฯ เตรียมยื่น พ.ร.บ.ถอดถอนผู้บริหารสมาชิกท้องถิ่นให้สภา ถกปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดิน หลังสร้างหนี้ให้ อปท.

โดย THE STANDARD TEAM
28.06.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (28 มิถุนายน) ที่ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ประชุมร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) เพื่อหารือความร่วมมือระหว่าง ส.ท.ท. กับ กทม. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและเครือข่ายผู้บริหารเมือง ประเด็นด้านการกระจายอำนาจ และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมี พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ เป็นตัวแทนเข้าหารือ

 

ภายหลังการประชุมชัชชาติกล่าวว่า การหารือวันนี้เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของท้องถิ่น ซึ่ง กทม. เองก็เป็นสมาชิกใน ส.ท.ท. ด้วย ทั้งนี้ มองว่าเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่พบปัญหาเหมือนกันหลายเรื่อง ไม่จำเป็นต้องคิดใหม่ แต่ให้นำแนวทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นมาใช้เป็นการร่วมมือซึ่งกันและกัน ซึ่งจะสะท้อนว่าพลังการกระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะได้ใกล้ชิดกับประชาชน เข้าไปแก้ปัญหาได้

 

สำหรับเทศบาลนครยะลา กับ กทม. จะทำสัญญาเป็นเฟรนด์ชิพซิตี้ หรือเมืองที่เป็นมิตรต่อกัน โดยทาง กทม. จะเชิญวงดนตรีซิมโฟนีของยะลามาร่วมกิจกรรมดนตรีในสวน นอกจากนี้ กทม. ยังมีแผนสร้างเครือข่ายที่เป็นมิตรอีกหลายเทศบาล เพื่อทำให้เห็นว่าพลังท้องถิ่นสำคัญไม่แพ้รัฐบาลกลาง ที่ผ่านมาถ้าท้องถิ่นไหนทำได้ดี คุณภาพชีวิตประชาชนจะดีขึ้นมาก

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า เรื่องกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาถูกลดการจัดเก็บจากร้อยละ 100 เหลือร้อยละ 10 ทำให้ทุกองค์กรรายได้หายไปเป็นจำนวนมาก เช่น ปี 2563 รายได้หายไปมากกว่า 19,000 ล้านบาท ส่งผลให้แต่ละท้องถิ่นมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการรวมตัวกันเพื่อเสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล

 

ส่วนอีกเรื่องสำคัญที่หารือวันนี้คือ เรื่องกฎหมายการถอดถอนผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกได้ เรื่องนี้จะส่งผลให้การทำงานลำบากขึ้น เช่น การเข้าชื่อถอดถอนสามารถทำได้ตั้งแต่ 6 เดือน ที่ผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ อีกทั้งใช้ชื่อผู้ร่วมถอดถอนไม่มาก ซึ่งแตกต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ไม่มีกฎหมายตัวนี้มาควบคุม จากนี้จะต้องดูรายละเอียด หารือกับสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมเสนอข้อสังเกตไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

ด้านพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า กทม. ถือเป็นสมาชิกในฐานะผู้ก่อตั้ง ส.ท.ท. ตั้งแต่ในสมัยผู้ว่าท่านแรก ที่เดิมมีการใช้ตำแหน่งว่า นายกเทศมนตรี กทม. ปัจจุบัน กทม. ก็ยังเป็นสมาชิกอยู่ การมาหารือวันนี้ ประเด็นแรกเป็นการมาแสดงความยินดีกับชัชชาติในการรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ส่วนประเด็นที่จะหารือในวันนี้ เป็นเรื่องการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ประกอบด้วย กทม., เมืองพัทยา, เทศบาล, องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สิ่งสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้คือ ความใกล้ชิดประชาชน และรับรู้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 

 

สิ่งหนึ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาคล้ายกัน คือเรื่องการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเงินการคลัง อย่างเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากรัฐบาลลดการจัดเก็บภาษีเหลือร้อยละ 10 ส.ท.ท. เชื่อว่าถ้าประชาชนในพื้นที่มีความสุข มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อต่อจิ๊กซอว์แต่ละท้องที่เป็นภาพใหญ่ ประเทศจะมีความมั่นคงต่อไป และการมาวันนี้ในฐานะตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครยะลา อยากมาแสดงจุดยืนการเป็นเมืองเฟรนด์ชิพซิตี้ การเป็นมิตรต่อกันระหว่าง กทม. และยะลา 

 

พงษ์ศักดิ์ยังได้กล่าวถึงในประเด็น พ.ร.บ.ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นว่า พ.ร.บ.ถอดถอนนี้ยังต้องมี 3 เรื่องที่ต้องหารือ เรื่องแรก ความลักลั่นในการใช้กฎหมาย เพราะบังคับใช้เฉพาะผู้บริหารสมาชิกองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น แต่ผู้บริหารระดับชาติไม่มี พ.ร.บ.นี้ควบคุม ประเด็นที่สอง ระยะเวลาสามารถยื่นถอดถอนได้ภายใน 6 เดือน หลังเลือกตั้งประชาชนมีสิทธิยื่นถอดถอนด้วยจำนวนผู้ยื่นร้อยละ 10 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และถ้ายื่นถอดถอนแล้วผลการตรวจสอบว่าไม่มีความผิด ก็สามารถยื่นถอดถอนได้ใหม่ ทั้งที่ความเป็นจริงถ้าสอบสวนว่าไม่ผิด ควรต้องจบเรื่อง

 

และประเด็นสุดท้าย ควรมีการถ่วงดุลอำนาจเมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองระดับชาติ เห็นได้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อมีความเห็นว่ากระทำความผิดต้องส่งฟ้องศาลให้วินิจฉัย แต่ พ.ร.บ.ถอดถอนท้องถิ่นกระบวนการจบที่ผู้กำกับ ไม่มีการฟ้องศาลต่อ เช่น กทม. ถ้าพบว่ามีความผิด ผู้มีอำนาจถอดถอนคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถ้าเป็นเทศบาลก็จะจบที่ชั้นผู้ว่าราชการจังหวัด สะท้อนให้เห็นว่าการวินิจฉัยไม่มีการถ่วงดุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising