ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ธุรกิจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่เติบโตช้าลง ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็ต้องเดินหน้าลงทุนในเรื่องที่จำเป็น เพื่อเพิ่มศักยภาพและขยายขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจควบคู่กันไป นี่จึงเป็นภารกิจสำคัญของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer: CFO ) ในการดูแลสุขภาพทางการเงินขององค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงาน Pulse Survey ของ PwC ที่สำรวจมุมมองของ CFO และคณะกรรมการของบริษัทชั้นนำจาก Fortune 1000 และบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ความเสี่ยงที่กำลังเผชิญ ตลอดจนแผนกลยุทธ์และลำดับความสำคัญของบริษัท โดยจากกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม 87 คนที่เป็น CFO พบว่า CFO มากถึง 89% กำลังประสบปัญหาการสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการลดต้นทุนเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันอัตรากำไรระยะสั้นและการลงทุนเพื่อการเติบโตในระยะยาว ซึ่งนี่ยังถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วย แต่ CFO จะต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างสองปัจจัยนี้ได้?
‘ลดต้นทุน’ ภารกิจสำคัญอันดับต้นของ CFO
รายงานของ PwC ฉบับดังกล่าวระบุว่า 67% ของ CFO ที่ถูกสำรวจระบุว่า แรงกดดันด้านอัตรากำไรระยะสั้นเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอันดับต้นๆ ขณะที่ผู้บริหารฝ่ายการเงินรายอื่นๆ ก็กำลังทบทวนรูปแบบการกำหนดราคา เนื่องจากราคาที่ลดลงและสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่ออัตรากำไรในระยะสั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ 6 ใน 10 ของ CFO (59%) มองว่าการลดต้นทุนเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของฝ่ายการเงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกัน CFO ก็จัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในด้านต่างๆ เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น เทคโนโลยีใหม่ เพื่อสนับสนุนรูปแบบธุรกิจ และปรับข้อเสนอด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น CFO มากกว่าครึ่ง (52%) กล่าวว่า นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI: Gen AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Analytics) มาใช้เพื่อสร้างแบบจำลองการคาดการณ์และเสริมสร้างความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ เป็นต้น
ลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ CFO ตระหนักดีว่าการมุ่งเน้นที่การลดต้นทุนเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ธุรกิจพลาดโอกาสและเติบโตช้ากว่าคู่แข่ง แต่การดึงมูลค่าสูงสุดของการลงทุนด้านเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ออกมายังคงเป็นข้อกังวลอันดับต้นๆ ซึ่งรายงานระบุว่า แม้ว่าผู้บริหารฝ่ายการเงินอาจรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจหลังผ่านวิกฤตโควิด แต่พวกเขายังคงติดตามความเสี่ยงอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เช่น 7 ใน 10 ของ CFO (74%) กล่าวว่า การโจมตีทางไซเบอร์ยังคงเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อธุรกิจของตน โดย 37% วางแผนที่จะแก้ไขแนวทางปฏิบัติในการจัดการความเสี่ยงขององค์กร ขณะที่ 33% กำลังปรับปรุงเทคโนโลยีและกระบวนการ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ (Pillar Two) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะแค่เรื่องภาษีเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกระบวนการทำงานภายในองค์กรด้วย
CFO เกือบครึ่งมีแผนลงทุนใน Gen AI
รายงานของ PwC กล่าวต่อว่า 45% ของ CFO วางแผนที่จะลงทุนใน Gen AI ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยพวกเขาเข้าใจดีถึงความสำคัญของการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุกระดับ เช่น การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ โปรแกรม เทคโนโลยีและข้อมูล ตลอดจนความปลอดภัยและการควบคุมเพื่อเพิ่มมูลค่าจากการลงทุน
นอกจากนี้ 43% ของ CFO กล่าวว่า มีการทำงานกับผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ ในการปรับอันดับความสำคัญของงบประมาณ เพื่อตอบสนองต่อสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทาน การทบทวนกลยุทธ์การตั้งราคา และการมองหาแหล่งเงินทุนจากภายนอก ขณะที่ 30% ก็กำลังวิเคราะห์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางการเงินอย่างไร และ 41% ระบุว่า การไม่ปฏิบัติตามพันธสัญญาด้านความยั่งยืนถือเป็นความเสี่ยงปานกลางหรือร้ายแรงสำหรับบริษัทของตน
แนวทางการสร้างสมดุลระหว่างการลดต้นทุนและการลงทุนเพื่อการเติบโต
รายงานของ PwC ฉบับนี้ยังได้แนะนำแนวทางในการสร้างสมดุลระหว่างการลดต้นทุนและการลงทุนเพื่อการเติบโต ดังต่อไปนี้
- CFO ควรพัฒนาแนวทางการจัดการต้นทุนที่หลากหลายมิติ เพื่อนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างน่าเชื่อถือ และสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรให้ดีขึ้น โดยลงทุนในบุคลากรที่มีความสามารถและเทคโนโลยีที่จำเป็น
- CFO ควรต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน โดยมีกระบวนการติดตามผลตอบแทนการลงทุน (Return on Investment: ROI) เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีนั้นๆ สร้างคุณค่าได้หรือไม่
- CFO ควรทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความเสี่ยงและด้านเทคโนโลยี รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้สามารถระบุและบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้ นอกจากนี้ ควรต้องประเมินว่าทั้งตนเองและทีมงานมีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือไม่
- CFO ควรวางแผนการยกระดับทักษะให้บุคลากรสามารถใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
คุณผู้อ่านจะเห็นได้ว่า แม้ว่าการลดต้นทุนควบคู่ไปกับการลงทุนจะเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ แต่อย่าลืมนะครับว่า จริงอยู่ที่แม้ว่าการลงทุนนั้นอาจมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนเลยและหยุดนิ่งอยู่กับที่จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงใหญ่หลวงกว่ามากนัก
อ้างอิง: