ผลสำรวจล่าสุดจากมุมมองความเห็นและความกังวลของบรรดาซีอีโอในบริษัทชั้นนำระดับโลกมากกว่า 1,300 คน โดยเป็นบริษัทในสหรัฐอเมริกามากถึง 400 คนของ KPMG ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (5 ตุลาคม) พบว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะสามารถปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2022 เหลือ 3.7% ในเดือนสิงหาคม แต่ต้นทุนบางส่วนยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้ 80% ของซีอีโอที่ร่วมการสำรวจยกให้ปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นเป็นปัจจัยที่น่าวิตกกังวลมากที่สุดสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในเวลานี้
โดย KPMG ชี้ว่า แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นยังคงกระตุ้นให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ขณะที่ต้นทุนด้านสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านพลังงาน จะยังคงสูงขึ้นในทุกโอกาส ส่วนต้นทุนอาหารมีแนวโน้มจะสูงขึ้นด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่ซีอีโอของสหรัฐฯ ก็มีความมั่นใจต่อความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจมากกว่าปีที่แล้วที่ 77% เมื่อเทียบกับ 64% ในปี 2022
พอล น็อปป์ ซีอีโอของ KPMG กล่าวว่า ธุรกิจสัญชาติอเมริกันตลอดจนธุรกิจระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา มีความสามารถในการฟื้นตัวได้ดีมาก ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่คาดการณ์ไว้เมื่อนานมาแล้วยังไม่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งหลายคนอาจสามารถโต้แย้งได้ว่า มีภาคส่วนเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องบ้าง แต่ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับมหภาคที่ทุกคนคาดหวัง
72% เชื่อว่าการลงทุนใน AI เพิ่มเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะเดียวกันการสำรวจพบว่า แม้จะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ 72% ของซีอีโอมองว่า การแข่งขันเพื่อครองและเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ด้วยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่กว่า 81% ก็กังวลว่า การขาดกฎระเบียบอาจทำให้บริษัทไม่สามารถเพิ่มผลกำไรและศักยภาพในการเติบโตสูงสุดได้อย่างเต็มที่
น็อปป์กล่าวว่า เริ่มมีการเรียกร้องให้ทางการมีการออกกฎระเบียบกำกับดูแลอย่างชัดเจนจากผู้นำธุรกิจ สมาชิกสภานิติบัญญัติ และสาธารณชนทั่วไป เกี่ยวกับการใช้ Generative AI อย่างมีจริยธรรม และเกี่ยวกับการใช้ Generative AI อย่างปลอดภัย
ขณะเดียวกันต่อกรณีของกระแสทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) หรือการทำงานแบบไฮบริดที่เปิดทางให้เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 2-3 วันที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้น การสำรวจของ KPMG พบว่า 62% ของซีอีโอตระหนักดีว่า โมเดลดังกล่าวไม่ใช่โมเดลในอุดมคติสำหรับการเติบโตของบริษัท โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 34% โดยซีอีโอหลายคนหวังว่าจะเห็นคนงานกลับมาทำงานมากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า
น็อปป์ระบุว่า การสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า บรรดาผู้นำธุรกิจเชื่อว่าองค์กรของพวกเขาจะมีประสิทธิผลมากขึ้นในอนาคต หากพนักงานอยู่ต่อหน้าและร่วมมือกันต่อหน้ามากขึ้น ก่อนเสริมว่า 90% ของซีอีโอระบุว่า พวกเขาเต็มใจที่จะเสนอสิ่งจูงใจสำหรับพนักงานให้กลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศมากขึ้นได้
อ้างอิง: