×

เปิดโปงพฤติกรรมอันตรายในที่ทำงาน ซีอีโอสตาร์ทอัพชี้ ‘การประจานเพื่อนร่วมงาน’ ทำลายวัฒนธรรมองค์กร

17.01.2025
  • LOADING...
เพื่อนร่วมงาน

ท่ามกลางความหลากหลายของพฤติกรรมในที่ทำงาน Shizu Okusa ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทด้านสุขภาพ Apothékary ในนิวยอร์ก ชี้ให้เห็นสัญญาณอันตรายที่ควรระวัง นั่นคือการสื่อสารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง โดยเธอเน้นย้ำว่า ‘การประจานเพื่อนร่วมงาน’ ต่อหน้าสาธารณะนั้นไม่เคยนำไปสู่การแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์

 

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น หลายคนอาจเลือกที่จะนำเรื่องนั้นไปพูดในที่ประชุมต่อหน้าคนอื่นๆ และชี้หน้าว่ากล่าวกัน ซึ่งมันไม่เคยจบลงด้วยดีเลย” Okusa กล่าว

 

บริษัทของเธอสร้างรายได้ถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7 แสนล้านบาท) ในช่วง 9 เดือนของปีที่ผ่านมา ตามเอกสารที่ CNBC Make It ได้ตรวจสอบ

 

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าที่ไม่พอใจผลงานของลูกน้องและนำมาประจานในที่ประชุมทีม หรือเพื่อนร่วมงานที่ต่อว่าคนอื่นกลางออฟฟิศเพราะไม่ช่วยงานโปรเจกต์

 

พฤติกรรมเหล่านี้สร้างความอึดอัดให้กับทุกคนในที่ทำงาน รวมถึงผู้ที่เป็นเพียงผู้พบเห็นเหตุการณ์ และอาจนำไปสู่ปัญหาด้าน HR เพราะเข้าข่ายการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นปฏิปักษ์ในที่ทำงาน

 

Okusa แนะนำว่าควรใช้วิธี ‘เรียกคุย’ แทน นั่นคือการเชิญอีกฝ่ายมาพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวและแสดงความกังวลโดยตรง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันโดยไม่ต้องกลัวความอับอายหรือการตัดสินจากผู้อื่น

 

“ฉันคิดว่าความล้มเหลวส่วนใหญ่เกิดจากการสื่อสารที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการพูดที่ไม่เหมาะสม การแบ่งปันข้อมูลที่ไม่ดีพอ หรือการไม่เข้าใจบริบท” เธอกล่าวเสริม พร้อมย้ำว่าผู้จัดการโดยเฉพาะต้องเป็นผู้กำหนดมาตรฐานที่ดีด้านวัฒนธรรมและการสื่อสารในองค์กร

 

Carolyn Kleiman ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจาก Resume Builder แนะนำว่า หากเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน อย่าเพิ่งระเบิดอารมณ์ในที่ประชุมหรือออนไลน์ ให้ถอยออกมาประเมินสถานการณ์ก่อน หากเป็นปัญหาเรื่องวิธีการทำงาน เช่น คุณชอบทำงานล่วงหน้าแต่เพื่อนร่วมงานชอบทำนาทีสุดท้าย การพูดคุยกันสั้นๆ แบบตัวต่อตัวก็น่าจะช่วยได้ แต่หากเป็นปัญหาเรื่องบุคลิกหรือนิสัยส่วนตัว อาจต้องพยายามจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์แบบมืออาชีพไว้

 

สำหรับกรณีที่มีปัญหากับหัวหน้างาน Gorick Ng ที่ปรึกษาด้านอาชีพจาก Harvard แนะนำว่าให้บันทึกเหตุการณ์ไว้และนำไปพูดคุยในการประชุมแบบตัวต่อตัว โดยอาจพูดว่า “ฉันสังเกตเห็นว่าคุณมักจะ (ยกตัวอย่างการสื่อสารที่ไม่ดี) มันจะดีกว่าถ้าคุณทำแบบนี้แทน”

 

และพยายามมองในแง่ดีว่าหัวหน้าไม่ได้ตั้งใจทำร้ายจิตใจใคร แต่หากพฤติกรรมยังไม่เปลี่ยนแปลง และเพื่อนร่วมงานก็มีประสบการณ์คล้ายกัน อาจต้องยกระดับเรื่องไปที่ฝ่าย HR

 

‘การสื่อสารที่ดี’ เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมความสัมพันธ์ในที่ทำงาน การเลือกวิธีสื่อสารที่เหมาะสมไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหา แต่ยังสะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพและวุฒิภาวะของผู้สื่อสาร ท้ายที่สุดแล้ว การสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณพูดอะไร แต่อยู่ที่ ‘วิธีการพูด’ และ ‘จังหวะเวลา’ ที่เหมาะสมต่างหาก

 

ภาพ: Master1305 / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising