‘ปฐมบทใหม่ของความสุข’ เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ ‘เซ็นทรัล นครปฐม’
แน่นอนว่าการสร้างแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางนครปฐมจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ขยายศักยภาพเมืองด้านเศรษฐกิจ ศิลปะ และการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิด ‘Imagining Better Futures for All’ หรือ ‘มุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่ดี เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน’ ของเซ็นทรัลพัฒนา
ทว่าอีกหนึ่งแก่นแกนที่น่าสนใจคือ การทำงานภายใต้ความเชื่อ ‘Community at Heart’ หรือการส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยการนำ ‘Local Essence’ มาผสมผสานกับการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเติบโตและเป็นส่วนหนึ่งไปพร้อมกับชุมชน ตอกย้ำความเป็น Local Essence Advocator ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเซ็นทรัลพัฒนาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่หรือเปิดศูนย์การค้าใหม่ จะหยิบเอาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน มาสะท้อนอัตลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดผ่านการออกแบบในหลากมิติ
เซ็นทรัล นครปฐม ก็เช่นกัน ด้วยแง่งามของความเป็นเมืองเก่าที่มีความร่วมสมัย รุ่มรวยศิลปะและวัฒนธรรม จึงเป็นที่มาของแบรนด์แคมเปญที่ต้องการสร้าง Local Engagement ให้คนเมืองได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดอัตลักษณ์และบอกต่อความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่สู่สายตาคนทั่วไป โดยนำศิลปะมาใช้ในการเล่าเรื่องเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์เมือง
ปฐมบทของความสร้างสรรค์
นอกจาก ‘เซ็นทรัลพัฒนา’ จะลงพื้นที่ไปทำความรู้จักกับชุมชนและวิถีชีวิตของคนเมืองเพื่อดึงศักยภาพและอัตลักษณ์เมืองออกมาให้มากที่สุดก่อนจะสร้างศูนย์การค้าในแต่ละจังหวัด
วิธีกะเทาะแก่นแท้ในท้องถิ่นออกมาได้ดีที่สุดคือการเล่าผ่าน ‘มุมมองของคนเมือง’
เพราะร่องรอยแห่งอดีตที่หลอมรวมให้เมืองเก่าแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่มีความร่วมสมัย แก่นแกนของวัฒนธรรมคนเมือง ของดี ของเด่น หรือแม้แต่เรื่องราวความสุขและความภาคภูมิใจ คงไม่มีใครถ่ายทอดได้ดีเท่ากับ ‘คนนครปฐม’ อีกแล้ว
Art Collaboration: อัตลักษณ์เมืองมุมใหม่ที่ถูกเล่าผ่าน ‘ตัวอักษร’
หนึ่งในโปรเจกต์ที่สื่อสารความตั้งใจของเซ็นทรัลพัฒนาก็คือ โปรเจกต์ ‘Art Collaboration’ ที่เซ็นทรัล นครปฐม ชวนอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ร่วมกันเพนต์งานศิลปะบน Sculpture ตัวอักษรคำว่า เซ็นทรัล นครปฐม เพื่อถ่ายทอดอัตลักษณ์เมืองนครปฐมผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่
‘นครแห่งปฐมอุดมวัฒน์’ คือชื่อผลงานศิลปะชิ้นนี้ ซึ่งในแต่ละตัวอักษรทำหน้าที่สื่อสารถึงความเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมแห่งความงามและความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมที่เคยมีมาในดินแดนนครปฐม จวบจนการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ซึ่งทับซ้อนมิติกันในดินแดนแห่งนี้
อย่างตัวอักษร ซ.โซ่ ศิลปินนำ ‘องค์พระปฐมเจดีย์’ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมของเมืองมาเป็นลวดลายหลัก ผสมผสานเข้ากับ ‘ส้มโอหวาน’ และ ‘ลูกสาวงาม’ ที่จำมาจากคำขวัญ มาถ่ายทอดผ่านลายวาด Doodle ให้เห็นถึงผลไม้ที่ยิ้มแย้ม งดงาม และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในเมืองนครปฐม
อักษร ท.ทหาร มีลวดลายของพระราชวังสนามจันทร์ สถานที่แห่งประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ตัวแทนความยิ่งใหญ่ สง่างาม และความคลาสสิก ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออกได้อย่างลงตัว
อักษร ร.เรือ ศิลปินเลือกวาดปลาสวยงามและปลากัด ของขึ้นชื่อจังหวัดนครปฐม และบ่งบอกถึงเทศกาลประกวดปลาสวยงามซึ่งเป็นเทศกาลประจำปีที่คนเมืองภูมิใจ
หรืออักษร ม.ม้า ที่นำเสนอในรูปแบบศิลปะแนว Abstract ชวนให้คนดูตีความเชิงความรู้สึก ความน่าสนใจคือ โทนสีที่ใช้เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งเป็นโทนสีที่สะท้อนถึงสถานที่ที่อุดมไปด้วยพรรณไม้สวยงามนานาชนิด
และเพื่อให้สมกับที่เป็นเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปะชั้นนำของประเทศ ตัวอักษรที่ใช้รังสรรค์งานศิลป์นี้จึงเลือกใช้ฟอนต์หลักของมหาวิทยาลัยศิลปากร เน้นย้ำการนำแก่นแท้ในท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างชัดเจน
Artistic Hoarding: ชมเมืองนครปฐมผ่านผนังกั้นโครงการก่อสร้าง
ในฐานะเมืองแห่งเรื่องราวและเรื่องเล่าที่รุ่มรวยด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โปรเจกต์ตั้งต้นตั้งแต่เริ่มปักหมุดสร้าง ‘เซ็นทรัล นครปฐม’ ที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยคือ ‘Artistic Hoarding’ ซึ่งเปลี่ยนภาพลักษณ์ของผ้าไวนิลที่โอบล้อมพื้นที่ก่อสร้างแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นงานศิลปะขนาดใหญ่ที่สร้างความสวยงามให้กับเมืองตลอดระยะเวลาที่ก่อสร้างศูนย์การค้า
ทั้ง 14 ชิ้นงานสร้างสรรค์ผ่านมุมมองของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรหลากหลายภาควิชา และยังมีผลงานของนักเรียนจากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมอยู่ด้วย
ปัจจุบันผนังกั้นโครงการก่อสร้างถูกรื้อถอนไปแล้ว และหลายคนอาจไม่มีโอกาสได้เห็น เลยขอหยิบบางชิ้นงานมาให้ดูกัน
ผลงาน ‘Nakhon แดน Paradise’ งานศิลป์ที่นำเสนอความเป็นอยู่ของชาวนครปฐมที่แฝงไปด้วยธรรมชาติ ศูนย์รวมจิตใจและความเจริญพื้นถิ่น เปรียบเสมือนแดนสุขาวดีที่มีความเป็นเอกลักษณ์และทันสมัย
ผลงาน ‘Nakhon Pathom Illustrate’ ศิลปินนำเทคนิค Digital Painting มาใช้ โดยหยิบเอาอัตลักษณ์ของนครปฐมมาทำเป็นภาพประกอบ เล่าผ่านข้าวหมูแดงภายใต้ฟอร์มขององค์พระปฐมเจดีย์
ผลงาน ‘The City of Happiness’ แรงบันดาลใจจากความหลากหลายของคนนครปฐม เกิดเป็นวิถีชีวิตที่น่าหลงใหล เช่น ชุมชนคนจีน การละเล่นว่าว อาหารท้องถิ่น สอดแทรกสถานที่สำคัญและของขึ้นชื่อของเมือง หลอมรวมเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองนครปฐม
Artist Co-Creation: มองปฐมบทใหม่ของนครปฐมผ่านสายตา ‘นักรบ มูลมานัส’
นอกเหนือจากการเล่าเรื่องผ่านมุมมองคนเมืองนครปฐมแล้วนั้น อีกหนึ่งเครื่องมือทรงพลังที่เซ็นทรัลพัฒนาหยิบมาใช้เป็นครั้งแรกสำหรับการเปิด ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครปฐม โดยเฉพาะ คือ Artist Co-Creation ชวนศิลปินแห่งยุคมาร่วมเชิดชูอัตตลักษณ์เมืองผ่านการสร้างสรรค์ Key Visual ให้กลายเป็นงานศิลป์ร่วมสมัย
สำหรับ ‘เซ็นทรัล นครปฐม’ ได้ ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปินคอลลาจชื่อดังแห่งยุค ที่ถนัดเล่าเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านงานศิลปะในรูปแบบ ‘คอลลาจ’ รับหน้าที่ตีความ ‘ปฐมบทใหม่ของความสุข’
นักรบเลือกร้อยเรียงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น และอัตลักษณ์เมือง โดยมีกลิ่นอายของอดีตและปัจจุบันเป็นส่วนผสม และสอดประสานเรื่องราวแห่งอนาคตไว้อย่างกลมกลืน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวแห่งปฐมบทใหม่ของความสุขที่เซ็นทรัล นครปฐม แลนด์มาร์กใหม่ของการใช้ชีวิต
“จะดีแค่ไหนหากเราสามารถนำคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดให้อยู่ในความสนใจของผู้คน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและกลมกลืนกับชุมชนและสังคม และถ้าสิ่งนี้สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ” นักรบเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
เสน่ห์ของศิลปะรูปแบบคอลลาจคือ ในทุกรายละเอียดที่ปรากฏในภาพล้วนมีความหมายที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ ทั้ง 6 งานของนักรบก็เช่นกัน เขาศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อเล่าความเป็นนครปฐมที่หลอมรวมอัตลักษณ์เมืองตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ได้อย่างลงตัว
#ลึกซึ้งตรึงใจ โชว์เคสที่สุดของความเป็นนครปฐม ต่อยอดแรงบันดาลใจจากแนวคิดการออกแบบ Façade ด้านหน้าอาคารของศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครปฐม ที่ใช้อิฐจากแหล่งเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ และการเลือกใช้โทนสีหลักประจำของศูนย์การค้าให้เป็นโทนสีเดียวกับสีประจำจังหวัด
#พลังแห่งการเรียนรู้ คอมมูนิตี้ของมัลติเจเนอเรชัน ถ่ายทอดแง่มุมของเมืองแห่งมหาวิทยาลัยศิลปะที่เต็มไปด้วยพลังของ Young Spirit ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับคนหลากเจนให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้
#เก็บครบทุกรายละเอียดของนครปฐม ศิลปินตีความคำขวัญของจังหวัดมานำเสนอให้อยู่ภายในภาพเดียว
#อนาคตที่สอดประสานกลิ่นอายจากอดีตและปัจจุบัน หยิบแรงบันดาลใจจากอดีตมาเป็นกลิ่นอายในการสร้างสรรค์ พร้อมถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ของชีวิตปัจจุบันที่มุ่งสู่อนาคต
#จาก(แรงบันดาล)ใจของศิลปิน ที่มองว่าเราอยู่ในยุคร่วมสมัย มองไปทางไหนก็เห็นรากเหง้าที่ยึดโยงกับรอยทางในอดีต ขณะเดียวกันก็คงอยู่ในปัจจุบันที่กำลังเดินหน้าสู่อนาคต
#กาลเวลาแห่งความสุข ถ่ายทอดความสัมพันธ์ของจังหวัดที่ผูกโยงกับอาณาจักรทวารวดี นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว ‘ดอกบัว’ ยังเป็นตัวแทนอาณาจักรทวารวดี และ ‘ดอกแก้ว’ ก็เป็นดอกไม้ประจำจังหวัด และ ‘ดอกกล้วยไม้’ ยังเป็นดอกไม้ในพื้นที่ซึ่งปลูกเป็นจำนวนมาก และนี่คือองค์ประกอบที่ศิลปินตั้งใจสอดแทรกไว้ในภาพเพื่อเล่าเรื่อง
จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่ปรากฏอยู่ในภาพทั้งหมดนั้น ศิลปินเลือกภาพจำของผู้คนที่มีต่อนครปฐม เพื่อเชื่อมโยงคนเมืองให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน และภาคภูมิใจไปกับอัตลักษณ์เมืองที่จะสอดแทรกเข้าไปในทุกพื้นที่ของเซ็นทรัล นครปฐม
Artistic Photo Spot: ต่อยอดความสร้างสรรค์ทั่วเมืองนครปฐม
งานศิลป์ร่วมสมัยของนักรบยังทำหน้าที่สื่อสารกับคนเมืองในแนวทางใหม่ๆ ในรูปแบบของ Artistic Photo Spot เป็นวิธีการทักทายเมืองและคนเมืองด้วยภาษาที่สร้างสรรค์ โดยพาศิลปะและความสร้างสรรค์กระจายไปทั่วเมืองนครปฐม
Artistic Photo Spot ที่จะนำไปวางไว้ที่ 20 คาเฟ่ชื่อดังทั่วเมืองนครปฐม โดยนำเอาชิ้นงานคอลลาจของศิลปินบางส่วนมาตกแต่ง Artistic Photo Spot ชักชวนให้คนเมืองมาถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียล เป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์ และยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในปฐมบทใหม่ของความสุข
ถ้าโจทย์ของเซ็นทรัลพัฒนาคือการทำให้ ‘เซ็นทรัล นครปฐม’ เป็นส่วนหนึ่งของเมือง ทำให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ เหนือสิ่งอื่นใดคือ คนที่มามีความสุข เหมือนที่เคยพัฒนาพื้นที่ความสุขนี้ให้กับคนทั่วประเทศผ่านศูนย์การค้าเซ็นทรัลกว่า 40 สาขาทั่วประเทศแล้ว
‘เซ็นทรัล นครปฐม’ ศูนย์การค้าลำดับที่ 42 ของเซ็นทรัลพัฒนา จะเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของเซ็นทรัลพัฒนาในฐานะ Place Maker ผู้พัฒนาพื้นที่แห่งอนาคตตัวจริง