×

คนจันท์กำลังซื้อสูง เหตุผลที่ CPN ทุ่ม 3.5 พันล้าน เปิดเซ็นทรัล จันทบุรี ศูนย์การค้าแห่งที่ 37 จับตาโครงการต่อไป ‘นครสวรรค์และนครปฐม’

30.05.2022
  • LOADING...
CPN

หลังใช้เวลากว่า 5 ปีในการเตรียมการ 2 ปีในการพัฒนาและก่อสร้าง ในที่สุด CPN ก็ได้ฤกษ์เปิดโครงการมิกซ์ยูส ‘เซ็นทรัล จันทบุรี’ มูลค่า 3.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นศูนย์การค้าแห่งที่ 37 ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ จันทบุรีเป็นจังหวัดที่ไม่ใหญ่มาก และ CPN ก็มีคู่แข่งที่เป็นรีเทลขนาดใหญ่ทั้งห้างโรบินสันไลฟ์สไตล์ (โครงการของเซ็นทรัลรีเทล หรือ CRC) ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร และเปิดมานานนับ 10 ปี นอกจากนี้ยังมีไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง Lotus’s, Big C ตลอดจน Makro อยู่แล้ว

 

แต่เหตุผลที่ทำให้ CPN ตัดสินใจทุ่มเงินลงทุนสร้างโครงการมิกซ์ยูสที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่ศูนย์การค้า Semi-Outdoor, โรงแรม, โครงการที่อยู่อาศัย, คอนเวนชันฮอลล์ พร้อมพื้นที่สีเขียวกว่า 4 ไร่ และ Sport Destination 4,000 ตารางเมตร เป็นเพราะคนจันทบุรีมีกำลังซื้อสูง ซึ่งมาจากอาชีพหลักอย่างสวนผลไม้และอัญมณี

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

จังหวัดจันทบุรีมี GDP กว่า 2.4 แสนล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 14 ของประเทศ ขณะที่ฐานข้อมูล The1 ก็บอกว่า จันทบุรีมีกำลังซื้อสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็น Middle to Wealth & Business Successor ของจังหวัด จับกลุ่มประชากรกลุ่มเป้าหมาย Catchment เป็นจำนวนมากกว่า 1.8 ล้านคน รวมประชากรในจันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว  

 

นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการดึงกลุ่ม Cross Border Trading โดยเฉพาะ High Spender จากกัมพูชา ที่นิยมมาช้อปปิ้งและ Medical Tour ตลอดจนมีนักท่องเที่ยวทั่วไปมาที่จันทบุรีปีละ 1 ล้านคนอีกด้วย 

 

CPN ยังสร้างความแตกต่างให้กับเซ็นทรัล จันทบุรีด้วย 24 แบรนด์ดัง ครั้งแรกในจังหวัดที่คนจันท์รอคอย เช่น Uniqlo, Jaspal, Lyn, CC OO, Bonchon, AKA, Sizzler, Fuji, CoCo Ichibanya, Oishi Biztoro, KOI The เป็นต้น และตอนนี้มีอัตราการเช่า 80-90% แล้ว 

 

“ความสำเร็จของเซ็นทรัล จันทบุรี สะท้อนได้จากวันแรกที่เปิดตัวมีทราฟฟิกพุ่งเกินเป้ากว่า 60,000 คน ขณะที่ต่อไปนั้นเราคาดว่าจะมีทราฟฟิกที่ราว 30,000 คนต่อวัน” เลิศวิทย์ ภูมิพิทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าว พร้อมเสริมว่า อาจใช้เวลาราว 5 ปี กว่าที่โซนอื่นๆ เช่น โรงแรม และโครงการที่อยู่อาศัย จะสร้างเสร็จ

 

สิ่งที่ต้องจับตากันต่อไปคือ การพัฒนาศูนย์การค้าของ CPN เพราะตามแผนที่แม่ทัพคนใหม่อย่าง วัลยา จิราธิวัฒน์ ประกาศตั้งงบลงทุนรวม 5 ปี (ปี 2565-2569) ไว้ที่ 1.2 แสนล้านบาท สำหรับการขยายและพัฒนาโครงการ Mixed-Use Development ใหม่ และพลิกโฉมโครงการปัจจุบัน

 

เฉพาะศูนย์การค้าจะถูกเปิดเพิ่มให้ครบ 50 แห่งทั้งในและต่างประเทศ และคอมมูนิตี้มอลล์ 16 แห่ง (อยู่ระหว่างการศึกษาการขยาย) โดยโครงการที่เผยออกมาแล้วคือ เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ช่วงระหว่างถนนบรมราชชนนีกับถนนนครอินทร์ฝั่งขาออก ปักหมุดย่านราชพฤกษ์ โดยทำเลนี้ CPN ซื้อที่ดินมาไว้ในมือไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว

 

 

ตามแผน โครงการดังกล่าวมีมูลค่ารวมกว่า 6.2 พันล้านบาท เจาะทำเลราชพฤกษ์บนที่ดิน 40 ไร่ พื้นที่อาคารรวม (Gross Floor Area: GFA) 93,000 ตารางเมตร และจะเปิดในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 เบื้องต้นจะเป็นศูนย์การค้า 4 ชั้น ที่มีร้านค้า 300 ร้าน และมีที่จอดรถ 2,200 คัน

 

ยังมีโครงการอื่นๆ อีกทั้งที่ดินย่านไข่แดงอย่าง Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ อันเคยเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งคาดว่าที่ดินในตำนานแห่งนี้จะถูกพัฒนาเป็นมิกซ์ยูสที่มาครบทั้งศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน

 

โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมทุนระหว่าง บมจ.ดุสิตธานี และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา มูลค่าโครงการรวม 4.6 หมื่นล้านบาท พัฒนาโครงการบนพื้นที่ 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลม ตรงข้ามสวนลุมพินี โดยมี ศูนย์การค้าภายใต้ชื่อเซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 80,000 ตารางเมตร และอาคารสํานักงานเกรด A เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส (Central Park Offices) 40 ชั้น บนพื้นที่รวมทั้งหมด 90,000 ตารางเมตร เป็นต้น

 

อาคารเอ็มบาสซี เฟส 2 ซึ่งจะเป็นอาคารศูนย์การค้า, ห้างสรรพสินค้า พร้อมอาคารสำนักงาน โดยที่ดินแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยในส่วนที่เหลือทั้งหมดจำนวน 9.2 เอเคอร์ หรือ 23 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา

 

ที่ดินผืนนี้กลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มทุน Hongkong Land จากฮ่องกง ชนะประมูลไปในราคา 420 ล้านปอนด์ หรือตีเป็นเงินไทยกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ดินที่สูงที่สุดในประเทศไทยที่ตารางวาละ 2.2 ล้านบาท และยังทำลายสถิติเดิมของราคาที่ดินสถานทูตอังกฤษเดิมที่กลุ่มเซ็นทรัลประมูลมาพัฒนาศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่ราคา 9 แสนบาทต่อตารางวา และต่อมากลุ่มเซ็นทรัลได้มอบให้ CPN เป็นผู้พัฒนา

 

และยังแว่วๆ ว่า CPN มีแผนที่จะพัฒนาศูนย์การค้าที่จังหวัดนครสรรค์และนครปฐมเพิ่มเติมอีกด้วย โดยมีที่ดินแล้ว แต่กำลังศึกษาถึงรูปแบบศูนย์การค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น 

 

CPN เพิ่งรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/65 มีรายได้รวม 7.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีกำไรปกติ 2.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.0% ซึ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นนี้ถือเป็นตัวเลขที่ดีกว่า บล.หยวนต้า และ บล.เอเซียพลัส ประเมินไว้มาก

 

เฉพาะธุรกิจศูนย์การค้ามี Occupancy Rate ที่ 91% ขณะที่ยอดทราฟฟิกอยู่ที่ 70-80% ของระดับปกติ รายได้เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจากการรับรู้ผลการดำเนินการของเซ็นทรัล ศรีราชา, เซ็นทรัล อยุธยา และเซ็นทรัล วิลเลจ เฟส 2 เต็มไตรมาส ซึ่งทำให้มีพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น 70,000 ตารางเมตรจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

นอกจากนี้ส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมเพิ่มเท่าตัวเป็น 343 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งจากเมกาบางนาราว 135 ล้านบาท หลังรวม SF ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว 

 

บล.หยวนต้า ประเมินว่า ปี 2565 CPN จะมีกำไรปกติ 9.3 พันล้านบาท ขณะที่ บล.เอเซียพลัส ประเมินจะมีกำไร 9.28 พันล้านบาท 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising