ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางใหญ่หลายประเทศได้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ปรับลดดอกเบี้ยรวม 0.5% ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ปรับลดดอกเบี้ยรวม 0.85% ตั้งแต่ต้นปี และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ปรับลดดอกเบี้ยรวม 0.25% ตั้งแต่ต้นปี หลังจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ เริ่มอยู่ในการควบคุม ท่ามกลางความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี สู่ระดับ 2.25% ต่อปีแล้ว ท่ามกลางระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากคณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่าจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้างท่ามกลางภาวะธนาคารคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ระดับ 0.25% ในปีนี้ จากระดับราว 0 ถึงติดลบ 1% เนื่องจากมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสอดคล้องกับคาดการณ์ของ BOJ แล้ว ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินเยน
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีความแตกต่างกันไป หลังจาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เมื่อเดือนที่แล้ว โดยอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ในประเทศและได้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเร็วขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโต แม้ว่าทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในภูมิภาค แต่การใช้จ่ายครัวเรือนที่อ่อนแอลงกำลังส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของทั้ง 2 ประเทศ
วันนี้ (16 ตุลาคม) ในอาเซียนก็มีอีก 2 ธนาคารกลางที่มีการประชุมตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ 6.0% ขณะที่ฟิลิปปินส์มีมติลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 6.0%