×

เมื่อเทคโนโลยีคือสิ่งสะท้อนสังคม ย้อนดูวิถีไทยกับมือถือผ่านบทเพลง

13.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • คนไทยใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘โทรศัพท์เคลื่อนที่’ กันมาช้านานตั้งแต่ในวันที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้เริ่มให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ NMT470 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2529
  • เพลง สัญญา ของ บอย โกสิยพงษ์ ที่ได้วง Groove Riders มาร้องให้ มีการหยิบเอาเสียงค่อกๆ แค่กๆ ที่เรียกว่า Mobile Distortion เข้ามาใส่ นับเป็นลูกเล่นที่แปลกประหลาดและทำให้สะดุดหู
  • ผลงานที่เป็นมาสเตอร์พีซของ ดวงจันทร์ สุวรรณี อย่างเพลง โชว์เบอร์ไม่โชว์ใจ เป็นมิติใหม่ของมุมมองเพลงไทยเกี่ยวกับมือถือ เพราะพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่ทำให้คนไม่ค่อยได้เจอหน้ากัน มีเพียงข้อความและเสียงที่คาดเดาอารมณ์และความรู้สึกที่แท้จริงไม่ได้

“โทรหาเราสิ เพลงรอสายเราเพราะนะ”

 

ประโยคหนึ่งที่เราเคยบอกผู้ชายที่แอบชอบสมัยมัธยมปลาย แอบอ่อยเขาด้วยการส่งเมสเสจไปบอกให้เขาโทรหา เราก็แค่ทำทีท่าว่าไม่ต้องรับ ทำเหนียมอายบิดตัวไปมา ให้เขาได้ฟังเพลงที่สื่อสารแทนความรู้สึกของเรา และเราเชื่อว่าคุณๆ ทั้งหลายต้องเคยมีสักครั้งที่โทรไปยังศูนย์บริการมือถือแล้วบอกให้เขาตั้งเสียงเพลงรอสายเป็นเพลงที่คุณอยากได้ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้ยิน

 

คนไทยใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘โทรศัพท์เคลื่อนที่’ กันมาช้านาน นับนิ้วไปมาก็เข้าสู่ปีที่ 32 แล้วตั้งแต่ในวันที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้เริ่มให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ NMT470 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2529 ในวันที่เบอร์โทรศัพท์มือถือของทุกคนต้องขึ้นต้นด้วยเลข 01 และเทคโนโลยีไร้สายนี้เองก็ต่างพัฒนาและขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าอยู่เสมอ

 

แต่เรื่องหนึ่งที่มือถือเข้ามามีบทบาทอย่างน่าสนใจคือเรื่องของ ‘โทรศัพท์มือถือในเพลงไทย’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม วิวัฒนาการของการสื่อสาร รวมไปถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมดนตรีที่เปลี่ยนไป ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งเสียง “ตู๊ด…ตู๊ด” ระหว่างรอสายจะต้องมีบทเพลงเข้ามาแทนที่ หรือการที่บทเพลงเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือกลายเป็นเพลงฮิตของคนไทยไปอย่างไม่น่าเชื่อ และส่งให้ศิลปินหลายๆ คนโด่งดังค้างฟ้ามาจนถึงทุกวันนี้

 

โทรศัพท์มือถือและเพลงไทยมีอะไรซ่อนอยู่

 

 

อย่ากลัวว่าวันเวลาจะทำให้เธอต้องเสียใจ

เพลงแรกๆ ที่ทำให้เรานึกถึงบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยได้ชัดเจนแจ่มแจ้งจริงๆ คือเพลง สัญญา ของ บอย โกสิยพงษ์ ที่ได้วง Groove Riders มาร้องให้ เพลงไทยที่พูดถึงเรื่องราวของความคิดถึง ความห่างไกลที่เชื่อมโยงเข้ากับการโทรหากัน และความเก๋ของเพลงนี้คือการหยิบเอาเสียงริงโทนของโทรศัพท์โนเกียไปใส่ รวมไปถึงเสียงค่อกๆ แค่กๆ ที่เราคุ้นเคยเวลามีสายโทรศัพท์เข้าและเราอยู่ใกล้ลำโพงหรืออุปกรณ์อื่น หรือที่เรียกว่า Mobile Distortion เข้ามาใส่อีกด้วย นับเป็นลูกเล่นที่แปลกประหลาดและทำให้สะดุดหู

 

เจ เจตริน จากเพลง อยากให้รู้ว่าเหงา อัลบั้ม ​J-Day (2541)

 

อยากให้รู้ว่าเหงา คิดถึงแทบขาดใจ

การปรากฏตัวของมือถือในเพลงไทยนั้นมีมากมาย แต่บทเพลงเหล่านี้คือเพลงที่เราขออนุญาตหยิบยกขึ้นมาพูดถึง เพราะการปรากฏตัวของมือถือนั้นบ่งบอกสถานภาพสังคมในยุคนั้นได้อย่างยอดเยี่ยม เช่น เพลง อยากให้รู้ว่าเหงา ของเจ-เจตริน วรรธนะสิน ในปี 2541 การปรากฏภาพของพี่เจเวอร์ชันก่อนมีลูกชายเดินไปมาพร้อมคุยโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘สมอลทอล์ก’ แต่สมอลทอล์กยุคนั้นก็ไม่ใช่สายขนาดเล็กที่เราใช้กันทุกวันนี้หรอก แต่ประหนึ่งยกไมค์ของคอลเซ็นเตอร์มาติดไว้ที่หูเลยล่ะ! แถมเพลงนี้ของเจ เจตริน ยังปรากฏภาพของการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับรถที่ถูกต้องตามสมควร

 

มิวสิกวิดีโอเพลง เพราะเคืองฉัน ของวง Quantum (2551)

 

ถ้าเราถามว่าคุณรู้จักวงที่ชื่อว่า Quantum หรือไม่ นึกดูสิ วงที่เป็นเจ้าของเพลง เพราะเคืองฉัน เพลงอารมณ์ดีที่ว่าด้วยเรื่องของคู่รักที่ง้องอนกัน ในเนื้อเพลงได้มีการเอ่ยเอื้อนร้องขอออกมาว่า “โนเกียรุ่นใหม่ที่ถ่ายรูปสวย เธอโยนเข้าป่ากล้วย ฉันย้วยเพราะเสียดายแทน” นอกจากเป็นการบ่งบอกถึงเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของโนเกียที่โดดเด่นก่อนไอโฟนจะคูลเสียอีก ยังเป็นการบอกถึงภาวะทางอารมณ์ของผู้หญิงที่มักจะเกรี้ยวกราดผ่านมุมมองของผู้ชายที่มีมาก่อนเพจพ่อบ้านใจกล้าหลายสิบปี

 

 

โทรหาแหน่เด๊อ จำเบอร์โทรน้องได้บ่

จำได้หรือไม่ว่าเพลงที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือได้แจ้งเกิดศิลปินหน้าใหม่มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ! เริ่มต้นจากศิลปินสาวอาร์แอนด์บีหน้าใหม่ที่แจ้งเกิดอย่างสวยงาม ลีเดีย-ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา ในเพลง ว่างแล้วช่วยโทรกลับ ในปี 2548 เพลงที่คร่ำครวญถึงคนรักที่ไม่ยอมรับสายของเจ้าหล่อนสักที และความพีกที่สุดของเพลงนี้ที่กลายเป็นสิ่งจดจำคือท่อนที่ร้องว่า “ต่อสายเธอทั้งคืน ก็เจอแต่ ฮืมมม ฝากข้อความ” จำได้ขึ้นใจจริงๆ ทั้งเสียงร้องขึ้นจมูกของเธอและเอ็มวีที่ทำให้กรุงเทพฯ ดูหนาวขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ

 

ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ จากเพลง ว่างแล้วช่วยโทรกลับ อัลบั้ม Lydia (2548)

 

นอกจากนี้เรายังได้รู้จักกับนักร้องสาวดอกหญ้าในป่าปูนอย่าง ต่าย-อรทัย ดาบคำ โดยซิงเกิลแรกในชีวิตของเธอคือเพลง โทรหาแหน่เด๊อ ในปี 2546 และอัลบั้มแรกของเธอที่มีเพลงดังกล่าวยังส่งให้เธอเป็นศิลปินลูกทุ่งหญิงที่ทำยอดขายเกิน 1 ล้านก๊อบปี้ และไม่ใช่แค่อัลบั้มเดียว แต่เธอทำได้ถึง 3 อัลบั้ม! ทั้งยังพ่วงด้วยตำแหน่งของศิลปินหญิงที่มียอดดาวน์โหลดเพลงผ่านโทรศัพท์มือถือสูงสุดของค่ายแกรมมี่โกลด์อีกด้วย

 

มิวสิกวิดีโอเพลง โชว์เบอร์ไม่โชว์ใจ ของ ดวงจันทร์ สุวรรณี (2546)

 

และอีกเพลงที่เราชื่นชอบมากเป็นพิเศษจนทำให้ศิลปินลูกทุ่งหญิงจากปักษ์ใต้อย่าง ดวงจันทร์ สุวรรณี ได้มีผลงานที่เป็นมาสเตอร์พีซของตน นั่นคือเพลง โชว์เบอร์ไม่โชว์ใจ เพลงที่พูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่ทำให้คนไม่ค่อยได้เจอหน้ากัน มีเพียงแต่ข้อความและเสียงที่คาดเดาอารมณ์และความรู้สึกที่แท้จริงไม่ได้ ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ๆ ของมุมมองเพลงไทยที่พูดถึงเรื่องมือถือในยุคนั้น เก๋มาก!

 

 

นอกจากนี้เรายังมีเพลงฮิตๆ ที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือในยุคนั้นอย่างเพลง Miss Call จากวง Senorita, ใช้เบอร์เดิม ของแดน-บีม, โทรหากันหน่อย วงสุนทรี, โทรมา…ว่ารัก บี้ สุกฤษฎิ์ และอื่นๆ อีกมากมายที่ออกมาให้คนไทยได้ฟังกันอย่างเต็มอิ่ม รวมไปถึงการสร้างสรรค์ศิลปินดิจิทัลคนแรกของวงการอย่าง DDZ เจ้าของเพลง โทรมาทำไม ออกมา เราเชื่อว่าคุณฮัมเพลงนี้ได้ “ใครโทรมาครับ โทรมาทำไมครับ ใครโทรมาครับ โทรมาทำไมครับ ใครโทรมาครับ โทรมาทำไม ไม่อยากคุยครับ อกหักครับ”

 

มิวสิกวิดีโอเพลง แค่คนโทรผิด ของ เป๊ก อ๊อฟ ไอซ์ (2551)

 

ไม่ต้องรับสาย ถ้าเธอไม่เหงา

ใครจะไปนึกล่ะว่าครั้งหนึ่งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อย่าง ‘ทรูมูฟ’ จะเคยทุ่มเงินไปกับแคมเปญของการพ่วงขาย ‘ซิมมือถือ’ เข้าไปในอัลบั้มเพลง โดยชูจุดขายโดดเด่นของ ‘มิวสิกซิม’ ว่าเป็นซิมที่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียบริการรายเดือนสำหรับการสมัครเสียงรอสาย และในโปรเจกต์นี้เองที่ทรูมูฟเอาซิมมือถือของตัวเองไปปะติดอยู่ในอัลบั้มโปรเจกต์ในตำนานของสามหนุ่มป๊อปไอคอนในยุคนั้นอย่าง เป๊ก อ๊อฟ ไอซ์ ที่มีเพลง แค่คนโทรผิด เป็นเพลงขายในอัลบั้ม ซึ่งก็กล่าวถึงเรื่องราวของการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ที่มีเนื้อร้องตีหัวเข้าบ้านด้วยท่อนฮิตว่า “ไม่ต้องรับสาย ถ้าเธอไม่เหงา” รวมไปถึงยังมีท่าเต้นที่น่าจดจำจากทั้งสามหนุ่มอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้เราจะไม่พูดถึงอัลบั้ม Rhythm & Boyd E1EVEN1H (2549) หน้าปกแอปเปิ้ลลูกโตสีแดงสดก็ไม่ได้ เพราะความเก๋ในยุคนั้นคือคุณสามารถหาซื้ออัลบั้มนี้ได้ง่ายดายมากในเซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศที่แถมซิมโทรศัพท์ไว้ในอัลบั้ม พร้อมเพลงเพราะๆ ที่เป็นการแจ้งเกิด แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ยุคที่ยังทำเพลงกับวง 7thSCENE, แชมป์-ศุภวัฒน์ พีรานนท์ ในเพลง ที่ฉันรู้ ซึ่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง หรืออย่างการปรากฏตัวของ ตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ และคัตโตะ วง Lipta ที่โด่งดังจากเพลง คำถามโง่ๆ จากอัลบั้มดังกล่าว

 

หลังจากนั้นคอนเซปต์มิวสิกซิมก็มีตามมาอีกเป็นล็อต ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้ม Woman Story ของ พั้นช์-วรกาญจน์ โรจนวัชร ที่ขายความเก๋มากขึ้นไปอีกด้วยการผลิตซีดีรูปแบบพิเศษ แถมเบื้องหลังการทำงานที่จับสาวพั้นช์แปลงร่างเป็นหญิง 7 ลุค 7 สไตล์ หลากหลายยิ่งกว่าเลอซาช่า รวมไปถึงอัลบั้ม BoydPod ที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษและรีบพุ่งตัวไปซื้ออัลบั้มเขามาทันที ถึงจะต้องได้รับซิมมือถือเป็นอันที่ 8 ที่ 9 ก็ตาม ซึ่งนับเป็นหน้าหนึ่งของการขายเพลงในยุคที่ MP3 และการดาวน์โหลดผิดกฎหมายมีกันเกลื่อนเมือง

 

มิวสิกวิดีโอเพลง ช่วยรับที ของ เบิร์ด ธงไชย (2550)

 

หากตรงนั้นมีใครใจดีได้ยินเสียงนี้ดัง

ในหน้าหนึ่งของปรากฏการณ์มือถือในเพลงไทย ศิลปินเบอร์หนึ่งตลอดกาลอย่าง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ เองก็ใช่ว่าจะไม่ร่วมลงสนามแข่งขันด้วย เพราะภายหลังในปี 2550 พี่เบิร์ดส่งเพลง ช่วยรับที ในอัลบั้ม Simply Bird ซึ่งสิ่งที่น่าจดจำของเพลงนี้คือการที่พี่เบิร์ดแปลงสภาพตัวเองเป็นซิมโทรศัพท์ในชื่อ ‘ซิมพี่เบิร์ด’ อันเป็นการยั่วล้อกับชื่ออัลบั้มได้อย่างน่ารักน่าชัง

 

 

ส่วนทางฟากลาดพร้าวอย่าง ปาน-ธนพร แวกประยูร ศิลปินหญิงเบอร์หนึ่งของอาร์เอสเองก็มีเพลง เบอร์นี้ไม่มีคนของเธอ จากอัลบั้ม ผู้หญิงยิ่งกว่าละคร (2551) ออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หยิบยกเอาเรื่องเมียหลวง-เมียน้อยตามแนวถนัดของเพลงปานมาดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งประโยคที่หลอนหัวเสมออย่าง “จำไว้ หากไม่มีใครตายอย่าโทร” คือภาพจำที่ใครๆ ก็ชื่นชอบในความก๋ากั่นของเพลงและมิวสิกวิดีโอที่ได้ ธัญญ่า-ธัญญาเรศ เองตระกูล, กระแต-ศุภักษร เรืองสมบูรณ์ และจุ๋ย-วรัทยา นิลคูหา มาร่วมแสดง กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปในชั่วข้ามคืนเช่นกัน เป็นหนึ่งข้อยืนยันว่าคนไทยส่วนใหญ่ชอบเรื่องราวร้ายๆ แรงๆ และการเอาคืนของผู้หญิงที่ดูสนุกสนาน เข้มแข็ง แต่อ่อนแออยู่ในที

 

มิวสิกวิดีโอเพลง โอมจงเงย ของ แสตมป์ อภิวัชร์ (2556)

 

อยู่ดีๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือเรื่องของความหลากหลายและมุมมองของนักแต่งเพลงไทยที่หยิบจับเอาเรื่องราวใกล้ตัวของโทรศัพท์มือถือมาดัดแปลงมุมมองให้น่าสนใจ ซึ่งในปัจจุบันก็อย่างที่ทราบกันว่าเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านมือถือนั้นพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ดังนั้นการปรากฏของเพลงอย่าง โอมจงเงย ของแสตมป์ อภิวัชร์ จึงนับเป็นแง่มุมที่น่าสนใจด้วยการพูดถึงพฤติกรรมการติดโทรศัพท์มือถือของคนในปัจจุบัน

 

 

หรืออย่างเพลงที่โด่งดังมากๆ ในยุคนี้ของ WonderFrame ที่ชื่อ อยู่ดีๆ ก็… ก็นับเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่หยิบยกเอาเรื่องของแอปพลิเคชันสนทนามาเป็นเพลง ทั้งยังผูกติดกับพฤติกรรมและความรู้สึกในเชิงความรักได้อย่างน่าสนใจ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ว่าเพลงไทยที่เกี่ยวข้องกับมือถือที่ใกล้ชิดติดตัวนั้นขายได้เสมอจริงๆ

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเพลงไทยที่มีเรื่องราวของโทรศัพท์มือถือเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณคุ้นเคยกันสักเพลงหรือไม่ ถ้าหากตกหล่นเพลงอะไรไปที่มีความน่าสนใจ แชร์มาให้เราหรือแชร์ให้เพื่อนคุณได้ฟังด้วยกันสิ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising