×

โรคระบาด สงคราม ยุคมืด สาเหตุการล่มสลายของบ้านเมืองในอดีต สู่บทเรียนโลกหลังโควิด-19

01.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • โรคระบาดนับเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เคยทำให้อารยธรรมของมนุษย์ประสบอยู่ในภาวะวิกฤต บ้านเมืองบางแห่งถึงกับล่มสลายมาแล้ว
  • สิ่งที่ตามมาหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรคือ ‘ยุคมืด’ ซึ่งสะท้อนถึงการเสื่อมลงของสังคมและการเมือง เพราะรัฐมีขนาดที่เล็กลงและขาดอำนาจในการบริหาร ในช่วงเวลานี้เองที่มักเกิดปรากฏการณ์ที่วัฒนธรรมของชนชั้นนำจะหายไปหรือแทบมองไม่เห็น เปิดโอกาสให้เมืองใหญ่เมืองน้อยพัฒนาอัตลักษณ์ และเลือกนับถือศาสนาที่เหมาะสมกับบ้านเมืองของตนเองขึ้นมา
  • ภาวะที่ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 นี้เอง เราจะได้เห็นถึงการเสื่อมถอยของอำนาจรัฐ ประเทศบางประเทศ และปริมาณการบริโภคจะมีแนวโน้มที่ลดลง

โรคระบาดนับเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เคยทำให้อารยธรรมของมนุษย์ประสบอยู่ในภาวะวิกฤต บ้านเมืองบางแห่งถึงกับล่มสลายมาแล้วก็มี เช่น วัฒนธรรมไมซีเนียนของกรีซที่ประชากรถดถอยเป็นเวลาหลายศตวรรษ 

 

ปัจจัยที่ทำให้บ้านเมืองสักแห่งหนึ่งต้องถึงคราวล่มสลายพังทลายลง (Collapse) นั้นมีหลายอย่างด้วยกัน ปัจจัยที่คนไทยดูจะคุ้นเคยมากที่สุดก็คงเป็นผลมาจากสงคราม โดยเฉพาะในคราวสงครามเสียกรุงครั้งที่สอง ส่งผลให้โครงสร้างทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมต้องล่มสลายลง ประชากรจำนวนหนึ่งถูกกวาดต้อนไปยังพม่า จนทำให้รัฐยากที่จะฟื้นฟูอำนาจกลับขึ้นมาได้โดยง่าย 

 

ดังนั้น ลองจินตนาการว่า ในบางประเทศถ้าโรคระบาดที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มีประชากรสัก 1 ใน 4 ของประชากรป่วยหรือตาย ก็อาจเสี่ยงต่อการล่มสลายหรือเสื่อมคลายอำนาจ (Decline) ลงของประเทศนั้นๆ ได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ (Human Security) 

 

กาย ดี. มิดเดลตัน (Guy D. Middleton) นักโบราณคดี ลิสต์สาเหตุที่ทำให้เกิดการล่มสลายของอารยธรรมทั่วโลกนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ในแง่ของสิ่งแวดล้อม มีตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่าขนานใหญ่ โรคระบาด แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม แมลงกัดกินธัญพืช พายุระดับเฮอริเคน และการเพิ่มขึ้นของประชากรจำนวนมากจนสิ่งแวดล้อมไม่อาจรองรับได้

 

กลุ่มที่สองเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมการเมือง ซึ่งส่งผลต่อการล่มสลายของรัฐนั้นๆ ได้ อันได้แก่ การเปลี่ยนเส้นทางทางการค้า การแข่งขันกันของบ้านเมือง การทำสงคราม การรุกรานจนไม่อาจตั้งถิ่นฐานได้อีก การเปลี่ยนอุดมการณ์ และการปฏิวัติโดยชนชั้นชาวนาหรือชนชั้นล่าง 

 

มิดเดลตัน อธิบายว่าในอารยธรรม หรือในระดับวัฒนธรรมแต่ละแห่งย่อมมีปัจจัยการล่มสลายที่ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว หากแต่มีปัจจัยอื่นร่วมผสมโรงด้วย ซึ่งนำไปสู่การล่มสลาย 

 

ในที่นี้ผมขอยกสาเหตุของการเสื่อมถอยอำนาจ และการล่มสลายลงของอาณาจักรโบราณ 3 แห่งมาเล่าให้ฟัง ได้แก่ อียิปต์ โรมันตะวันตก และเขมรโบราณ อย่างย่นย่อ   

 

พีระมิดแห่งเมืองกีซา 

(ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Ancient_Egypt)

 

การล่มสลายของอาณาจักรเก่าของอียิปต์

ในยุคปลายสุดของอาณาจักรอียิปต์ยุคอาณาจักรเก่า (2686-2181/2160 ปีก่อน ค.ศ.) หรือตกอยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 7 หรือ 8 สภาพสังคมในเวลานั้นมีคนเปรียบว่าเหมือนอยู่ใน ‘ยุคมืด’ ซึ่งกินเวลาระหว่าง 2181-2055 ปีก่อน ค.ศ. โดยเกิดความวุ่นวายทางการเมืองอย่างหนัก บางช่วงเวลาเกิดสงครามกลางเมือง และความอดอยากแผ่กระจายไปทั่ว จนถึงขั้นที่กินกันเอง (Cannibalism) ก็มี สภาพสังคมดังกล่าวนี้ยุติลงเมื่อ 2055 ปีก่อน ค.ศ. ภายใต้ฟาโรห์เมนทูโฮเทปที่ 2 แห่งราชวงศ์ที่ 11 ผู้ได้ชื่อว่าเป็นฟาโรห์พระองค์แรกของอาณาจักรกลาง 

 

 

สาเหตุของการล่มสลายของอาณาจักรนี้ประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่ที่น่าสนใจมีอยู่ 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยแรกคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยผลจากการศึกษาของนักโบราณคดีสิ่งแวดล้อมพบว่า ชั้นตะกอนทับถมในแม่น้ำไนล์เมื่อราว 4,200 ปีมาแล้วบางมาก ซึ่งสะท้อนว่าเกิดความแห้งแล้งขึ้น และนักพฤกษศาสตร์โบราณคดียังพบหลักฐานที่สอดรับกันคือ ปริมาณละอองเรณูของต้นกก (Cyperaceae) ในชั้นทับถมดังกล่าวมีปริมาณที่ลดลง แสดงว่าแม่น้ำตื้นเขินทำให้ต้นกกไม่สามารถเติบโตได้ดี 

 

ปัจจัยถัดมาคือ การจัดการโครงสร้างทางการเมืองผิดพลาด กล่าวคือ ในปลายยุคของราชวงศ์ที่ 5 (2494-2345 ปีก่อน ค.ศ.) ปรากฏว่ามีความพยายามในการกระจายอำนาจการปกครองไปยังขุนนางและผู้ปกครองระดับท้องถิ่น/จังหวัด คนกลุ่มนี้กลับไปฝังรกรากจนสั่งสมทั้งอำนาจและความมั่งคั่งขึ้นมาได้ กระบวนการนี้เกิดขึ้นยาวนาน 

 

ดังนั้น เมื่อถึงราชวงศ์ที่ 6 อำนาจของผู้ปกครองท้องถิ่นได้ขึ้นสู่จุดสูงสุด เมื่อเมืองหลวงคือเมมฟิสต้องเผชิญกับภัยของความแห้งแล้ง ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันเวลา และส่งผลทำให้เกิดการแตกสลายของอำนาจที่ส่วนกลางขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองส่วนภูมิภาคสามารถจัดการได้ จึงเกิดการแข่งเมืองต่อเมืองหลวง ซึ่งนำไปสู่ภาวะจลาจล จนเข้าสู่ยุคมืดหลายร้อยปี

 

สิ่งที่สะท้อนผ่านหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงยุคมืดคือพบว่า การสร้างสุสานที่ซับซ้อนได้หยุดลง เปลี่ยนมาเป็นการให้ความสำคัญกับสุสานของสามัญชนและชนชั้นนำในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงของศิลปะ งานหัตถกรรม ภาชนะดินเผา และเกิดความเป็นท้องถิ่นนิยม (an increased localism becoming apparent 55) อีกทั้งยังเกิดรูปแบบศิลปะใหม่ๆ ในเขตอียิปต์เหนือและใต้

 

โชคดีของอียิปต์ ฟาโรห์เมนทูโฮเทปที่ 2 สามารถปราบปรามเมืองต่างๆ ได้ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความเป็นเอกภาพ จึงได้ทำการผูกมิตรกับเมืองต่างๆ รวมถึงการสร้างสำนึกร่วมกันของอาณาจักรขึ้นมาใหม่ด้วยการการสร้างรูปเคารพของตนเองและเทวสถานไปทั่วอียิปต์เผยแพร่ประวัติของตนเองเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความเกรียงไกร อีกทั้งยังเชื่อมตนเองเข้ากับเทพมิน (Min) ซึ่งเป็นเทพของการสร้างสรรค์ประชากร ซึ่งในแง่ของรูปเคารพนั้น เทพมินจะชูมือขวาขึ้น ในขณะที่มือซ้ายทำท่าทางชักว่าว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างอาณาจักรขึ้นมาใหม่นั่นเอง 

 

โรมันฟอรัมที่ Via di Monte Tarpeo ประเทศอิตาลี 

(ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Roman_Forum)

 

การล่มสลายของอาณาจักรโรมันตะวันตก 

นักประวัติศาสตร์แต่ละคนต่างกำหนดปัจจัยอันเป็นเหตุผลถึงการล่มสลายของอาณาจักรโรมันตะวันตกแตกต่างกันไป แต่ดูเหมือนจะมีความเห็นสอดคล้องเกือบคล้ายกันว่า การล่มสลายนี้มีเหตุผลมาจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ใช่แค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น 

 

ด้วยขนาดของอาณาจักรโรมันที่มีขนาดใหญ่มาก ทำให้ยากต่อการปกครองควบคุมด้วยจักรพรรดิเพียงองค์เดียว ดังนั้น จึงทำให้เกิดการจัดสรรแบ่งปันอำนาจในรูปแบบที่เหมือนกับพีระมิด ซึ่งมีจักรพรรดิอยู่บนยอดสูงสุด 

 

ในระยะแรกกลไกการปกครองยังใช้ระบบจักรพรรดิกับสภาสูงที่มาจากชนชั้นนำในสังคม จากนั้นระบบได้ใช้ระบบราชการ ซึ่งได้ค่อยๆ เพิ่มอำนาจครอบงำการบริหารขึ้นทุกปี แต่แล้วเมื่อระบบไม่สามารถกระจายผลประโยชน์ให้กับทุกคนได้อย่างดีพอ เมืองหลวงก็พยายามเฟ้นหาจักรพรรดิใหม่ ในขณะที่ในส่วนภูมิภาค พวกผู้ปกครองท้องถิ่นก็ตั้งจักรพรรดิของตนเองขึ้นมาปกครอง 

 

ด้วยเหตุนี้เอง ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ซึ่งถือเป็นยุควิกฤตของอาณาจักรนี้พบว่า ได้เกิดจักรพรรดิจริงและจอมปลอมขึ้นหลายคนด้วยกัน ทำให้สภาพของอาณาจักรเวลานั้นเป็นแบบกระจัดกระจาย บางครั้งถึงกับมีอาณาจักรเกิดขึ้นซ้อนในอาณาเขตของอาณาจักรโรมันเสียเอง 

 

ตัวอย่างเช่น ในราวคริสต์ทศวรรษ 270 เฟอร์มัส และอชิลลีอุสได้ประกาศแยกตัวเป็นอิสระในอียิปต์ หรือในคริสต์ทศวรรษ 280-290 จักรพรรดิคารอซิอุสและอัลเล็คตุสได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระในอังกฤษ ภาวะที่เกิดรัฐที่ไม่สามารถควบคุมอาณาเขตได้นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกองทัพที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีจำนวนน้อยจนเกินไป

 

ในระยะเวลาเดียวกันนี้พบว่า โรมันเองก็เริ่มประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น ความร่ำรวยไปกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นสูง (Super Elite) การลดขนาดของอาณาจักรก็ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาษี อีกทั้งมีการคอร์รัปชันไม่จ่ายเงินทหาร ซึ่งส่งผลทำให้การจะรับมือต่อพวกอนารยชนเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจที่หดตัวลงนี้สะท้อนให้เห็นผ่านหลักฐานทางโบราณคดีด้วย 

 

ตัวอย่างสำคัญคือพบว่ามีการลดลงถึงขั้นการหยุดผลิตภาชนะดินเผาที่ใช้กันในครัวเรือน เกิดการสร้างอาคารบ้านเรือนที่ไม่แข็งแรง และมีขนาดเล็กลงทั้งของสามัญชนและชนชั้นสูง นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้เงินเหรียญน้อยลง ซึ่งสะท้อนถึงความซับซ้อนของเศรษฐกิจที่กำลังลดลง เพราะคนให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนแทน

 

นอกจากปัจจัยภายในเองแล้ว ปัจจัยจากการรุกรานจักรวรรดิซัสซานิดแห่งเปอร์เซีย และการรุกรานของอนารยชน (Barbarian Invasions) ก็นับว่ามีผลอย่างมาก นักวิชาการชาวอังกฤษมักให้น้ำหนักกับการรุกรานของชาวฮั่น ซึ่งส่งผลทำให้ชาวโกธ์และพวกที่ไม่ใช่โรมันหลบหนีอพยพเจ้าสู่จักรวรรดิโรมัน ซึ่งพวกอนารยชนนี้ต่อมาได้ตั้งอาณาจักรของตนเองในพื้นที่โรมันตะวันตก 

 

ที่ดูจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของโลกตอนนี้หน่อยคือ ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 3 ได้เกิดโรคระบาดอย่างหนักในอาณาจักรโรมัน ส่งผลทำให้กำลังทหาร ไพร่บ้านพลเรือน และการผลิตอาหารลดลง ทำให้อำนาจของจักรวรรดิลดลงตามไปด้วย โรคระบาดที่ว่านี้มีทั้งไข้ทรพิษ ไข้หวัดใหญ่ และโรคอื่นๆ (บางความเห็นว่าอาจเป็นอีโบลา)  

 

นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการนับถือศาสนาใหม่ของชาวโรมันคือ ศาสนาคริสต์ ซึ่งได้เปลี่ยนกำลังคนที่เป็นทหารให้กลายเป็นกลุ่มผู้นับถือศาสนา ทำให้กำลังการผลิตลดลง ขณะเดียวกันศาสนาคริสต์ก็ได้โอบอุ้มคนยากจนและสามัญชนที่ได้รับความลำบากจากการปกครองของชนชั้นสูงโรมัน เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้ชนชั้นปกครองขาดความชอบธรรมในการปกครอง

 

ในปี 2011 ได้มีบทความของ ดร.อัลฟ์ บันต์เจน และทีม ศึกษาภูมิอากาศสมัยโบราณด้วยการศึกษาจากวงปีต้นไม้ พบว่าในช่วง ค.ศ. 250-600 เกิดความผันผวนของสภาพภูมิอากาศอย่างสูง บางปีเกิดอากาศอบอุ่นจัด และบางปีเกิดฝนตกหนัก ซึ่งส่งผลทำให้ผลิตผลจากการทำการเกษตรขาดปริมาณที่แน่นอน และย่อมส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของประชากรในช่วงยุคปลายของอาณาจักรโรมันตะวันตกตามมา ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความอ่อนแอของอาณาจักรนั่นเอง 

 

ความอ่อนแอจนถึงขั้นของการสลายตัวของจักรวรรดิโรมันตะวันตกนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนและยาวนาน กินเวลาเป็นร้อยปี โดยย่อแล้วก็คือเกิดการแย่งชิงอำนาจกัน จักรพรรดิบางสมัยอ่อนแอ ถูกครอบงำโดยสภา บางครั้งจักรพรรดิถูกลอบปลงพระชนม์ เช่น จักรพรรดิจูเลียส เนโปส (Julius Nepos) ในปี ค.ศ. 480 และในท้ายที่สุดอาณาจักรโรมันตะวันตกก็เสื่อมอำนาจลงจนเหลือขนาดใกล้เคียงกับประเทศอิตาลีในปัจจุบัน 

 

นครวัด ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรเขมรโบราณ

 

การล่มสลายของอาณาจักรเขมรโบราณ

หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อำนาจของอาณาจักรเขมรโบราณก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลงไป จำนวนประชากรลดลง เช่นเดียวกับศาสนสถานต่างๆ จำนวนมากก็ถูกทิ้งร้างไป แต่ก็ใช่ว่าเมืองจะถูกร้างไปเสียทีเดียว เพราะปรากฏว่ามีการสร้างศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธเถรวาทจำนวนมากขึ้นมาแทน และยังมีประชาชนอาศัยอยู่ถึงจะไม่มากเท่ากับในอดีต 

 

อย่างไรก็ตาม บทบาทของเมืองหลวง ณ เมืองพระนคร เมืองหลวงของอาณาจักรเขมรนั้นหมดลงอย่างถาวรเมื่อ ค.ศ. 1431 เมื่อกษัตริย์อยุธยาคือ สมเด็จเจ้าสามพระยา (บรมราชาธิราชที่ 2) ได้เข้าโจมตีเมืองพระนคร ทำให้เกิดการย้ายเมืองหลวงลงไปทางใต้

 

ความมั่งคั่งของอาณาจักรเขมรนั้นเกิดขึ้นจากการเพาะปลูกข้าวได้เป็นจำนวนมากบนพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงขนาดใหญ่ ผลผลิตที่ได้จากการปลูกข้าวจำนวนมหาศาลนี้เองที่ทำให้สามารถเลี้ยงประชากรจำนวนมากถึง 1.9 ล้านคนได้ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และใหญ่กว่าโรมันเสียอีก 

 

เดิมทีสันนิษฐานกันว่า บาราย (อ่างเก็บน้ำ) ขนาดใหญ่ต่างๆ ในเมืองพระนครนั้นมีหน้าที่จ่ายน้ำให้กับนาข้าว ทำให้เชื่อมั่นกันว่าบารายพวกนี้มีหน้าที่ในทางชลประทาน จนขนานนามเมืองแห่งนี้ว่าเป็นเมืองพลังน้ำ (Hydraulic City) 

 

แต่จากบันทึกของโจว ต้ากวน ทูตจีนที่อยู่ในเมืองพระนครระหว่าง ค.ศ. 1296-1297 (ตกราว 11 เดือน) ได้บรรยายไว้ว่า วิธีการเพาะปลูกข้าวของชาวเขมรนั้นเป็นเพียงการหว่านข้าวในพื้นที่ลุ่มที่น้ำจากทะเลสาบเขมรเคยท่วมในแต่ละปีเท่านั้น ซึ่งสามารถปลูกข้าวได้ 3-4 ครั้งต่อปี นอกจากนี้แล้ว ระบบน้ำจากบารายนั้นไม่เอื้อต่อการทำการเกษตร และน้ำยังเป็นกรด ไม่มีอินทรียสารสมบูรณ์พอจะหล่อเลี้ยงข้าวอีกด้วย ดังนั้น บารายขนาดใหญ่ในเมืองพระนครจึงสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความเชื่อทางศาสนาเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าระบบการจัดการน้ำนั้นมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองพระนครเป็นอย่างมาก แต่แล้วในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 นักสิ่งแวดล้อมโบราณ คือ ดร.เบรนดอน บัคเลย์ และทีม พบว่าได้เกิดความแห้งแล้งขนาดใหญ่ (Megadrought) เป็นระยะเวลายาวนานร่วมทศวรรษ พร้อมกับความผันผวนของลมมรสุม รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ร่วมอีก ส่งผลทำให้ไม่มีน้ำมากพอจะเลี้ยงประชากรได้อีก ซึ่งนำความเสื่อมถอยมาสู่เมืองพระนคร 

 

ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมนี้เห็นได้ชัดจากการศึกษาวงปีต้นไม้จาก 3 พื้นที่ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, เมืองมูกังไกทางตอนเหนือของเวียดนาม และวนอุทยานบิดูพ นุย บา ของเวียดนามใต้ รวมถึงวงปีของหินงอกหินย้อยในถ้ำจากอินเดียและจีน รวมถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากศรีลังกาและพิษณุโลก 

 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวขอให้สังเกตว่าไม่มีข้อมูลที่มาจากเมืองพระนคร (เขมร) โดยตรงเลย แต่เป็นพื้นที่ห่างไกลแทบทั้งสิ้น จึงทำให้น่าสงสัยต่อความน่าเชื่อถือ และถ้าเราลองเปรียบเทียบดูก็จะพบว่า อาณาจักรอยุธยาก็ยังดำเนินไปตามปกติ แทบไม่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งดังกล่าว หรือเป็นเพราะความแห้งแล้งดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ดังนั้น ความเป็นไปได้ก็อาจจะเกิดจากการที่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีภาวะแห้งแล้งจริง ซึ่งได้ส่งผลทำให้วิศวกรของเขมรไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน และเป็นเหตุผลหนึ่งของการตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปทางใต้ โดยมีปัจจัยจากแรงกดดันของกองทัพสยามที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง

 

ประตูทางเข้าเมืองนครธม ซึ่งสร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

 

ภาวะหลังการล่มสลาย – After Collapse 

สิ่งที่ตามมาหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรคือ ‘ยุคมืด’ ซึ่งสะท้อนถึงการเสื่อมลงของสังคมและการเมือง เพราะรัฐมีขนาดที่เล็กลงและขาดอำนาจในการบริหาร ในช่วงเวลานี้เองที่มักเกิดปรากฏการณ์ที่วัฒนธรรมของชนชั้นนำจะหายไปหรือแทบมองไม่เห็น ส่งผลทำให้โบราณสถาน เอกสาร จารึก และข้อมูลต่างๆ มีจำนวนที่ลดลง จนบางครั้งนักโบราณคดีบางคนเช่น คอริน เรนฟิร์ว นักโบราณคดีชื่อดังมองว่าเป็น ‘Archaeological Invisibility’ (หรือมองไม่เห็นหลักฐานโบราณคดี) แต่ผลจากการที่ศูนย์กลางอำนาจเสื่อมถอยลงนี้เอง ได้เปิดโอกาสให้เมืองใหญ่เมืองน้อยพัฒนาอัตลักษณ์ และเลือกนับถือศาสนาที่เหมาะสมกับบ้านเมืองของตนเองขึ้นมา

 

อดีตน่าจะช่วยคาดการณ์อนาคตได้ระดับหนึ่ง ถ้าเชื่อมโยงกับปัจจุบัน ผมกำลังคิดว่าภาวะที่ประเทศต่างๆ ตอนนี้ประสบปัญหาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นี้เอง เราจะได้เห็นถึงภาวะการเสื่อมถอยของอำนาจรัฐ 

 

ประเทศบางประเทศ ปริมาณการบริโภคจะมีแนวโน้มที่ลดลง ซึ่งจะทำให้อัตราของสิ่งก่อสร้างลดลง คุณภาพอยู่ในระดับแค่พออยู่อาศัย หมายถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมหรือเทคนิคการก่อสร้างเพื่อประหยัดต้นทุนมากขึ้น และด้วยแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อม เช่น ความแห้งแล้ง ก็น่าจะส่งผลทำให้เกิดภาวะอาหารแพง และคงมีเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งหมดนี้น่าจะประเดประดังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐในการแก้ปัญหาและบุญเก่าที่มีเท่านั้น ท่านคิดว่ารัฐบาลไทยจะมีชะตากรรมแบบใดกันครับ 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์  

อ้างอิง

  • Middleton, Guy D. Understanding Collapse: Ancient History and Modern Myths. Cambridge: Cambridge University Press, 2017.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising