×

เน็ตอืด ข้อมูลรั่ว ไวรัสเรียกค่าไถ่ หยุดปัญหากวนใจในออฟฟิศด้วยบริการอินเทอร์เน็ตองค์กรความเร็วสูงจาก CAT

โดย THE STANDARD TEAM
23.08.2019
  • LOADING...
CAT datacom

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ความล่าช้าในการเชื่อมต่อหรือใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นปัญหากวนใจอันดับ 2 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย จากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ในปี 2561 ที่พบว่าปัญหานี้กัดกินใจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 77% 
  • ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตชั้นนำสำหรับองค์กร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ไม่ได้มองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ จึงทำให้พวกเขาพยายามคิดค้นและมองหาบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์คนทำงานและธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

ในออฟฟิศที่ยุ่งเหยิง งานกองโตถูกวางสุมอยู่บนโต๊ะที่เรียงราย ทุกคนต้องเร่งสปีดทำงานแข่งกับเวลา สิ่งสุดท้ายที่มนุษย์ออฟฟิศไม่ต้องการคือ ‘เน็ตอืด’ อัปโหลดไฟล์ให้ลูกค้าไม่ผ่าน เช็กอีเมลด้วยความเร็วเท่าเต่าคลาน โต้ตอบปัญหากับเพื่อนร่วมงานผ่านแชตแบบมาๆ หายๆ 

 

แม้ปัญหาเหล่านี้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ในวินาทีสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายความอยู่รอดของธุรกิจ เรื่องเล็กๆ แบบนี้อาจทำให้การทำงานสะดุด นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจแล้วยังอาจทำให้ความสุขของคนทำงานลดน้อยลง ประสิทธิภาพงานหดหาย ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานก็พลอยแย่ไปด้วย 

 

ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมความล่าช้าในการเชื่อมต่อหรือใช้งานอินเทอร์เน็ตจึงกลายเป็นปัญหากวนใจอันดับ 2 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย จากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ในปี 2561 ที่พบว่าปัญหานี้กัดกินใจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 77% เพิ่มขึ้นจากที่เคยสำรวจเมื่อปี 2560 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 63.1% 

 

ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตชั้นนำสำหรับองค์กร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ไม่ได้มองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ จึงทำให้พวกเขาพยายามคิดค้นและมองหาบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์คนทำงานและธุรกิจไปพร้อมๆ กัน 

 

เน็ตอืด สปีดอย่างเดียวอาจช่วยไม่ได้

สำหรับพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1,700 ชั่วโมงต่อปี หรือหารออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6.5 ชั่วโมงในแต่ละวัน การทนอยู่กับเน็ตสปีดต่ำที่ทำให้งานสะดุดคงไม่ใช่เรื่องสนุก แม้บางออฟฟิศจะใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่ความเร็วอย่างเดียวอาจไม่ช่วยอะไรมากนัก 

 

CAT datacom

 

กวินนันทน์ ภัทร์ชนันท์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์สื่อสารข้อมูลของ CAT ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมากประสบการณ์สำหรับลูกค้าองค์กร อธิบายเพิ่มเติมว่า

 

“หลายคนคิดว่าสปีดอินเทอร์เน็ตต้องสูงๆ ถึงจะใช้งานได้ไม่สะดุด แต่จริงๆ แล้วความเร็วเป็นแค่ส่วนหนึ่ง สำหรับบางออฟฟิศ 100 Mbs ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้ความต่อเนื่องในการใช้งานไม่สะดุดที่สำคัญกว่าสปีดคือการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสู่เซิร์ฟเวอร์แหล่งเก็บข้อมูลต้นทางโดยตรง สมมติว่าเป็น Google เวลาเราเสิร์ชข้อมูล ความเร็วอินเทอร์เน็ตอาจจะช่วยในบางส่วน แต่ส่วนที่สำคัญคือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เชื่อมต่อโดยตรงกับเซิร์ฟเวอร์ของ Google เพื่อรับข้อมูลมาหรือเปล่า ซึ่งสำหรับ CAT เรามีพาร์ตเนอร์ที่จะเชื่อมต่อโดยตรงกับผู้ให้บริการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น Facebook, Google ฯลฯ ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญของโอเปอเรเตอร์อย่างเราที่จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลให้กับลูกค้า”

 

IoT และ Big Data เทรนด์ใหม่มาแรงสำหรับโลกธุรกิจ 

สปีดและการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการข้อมูลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริการที่ CAT datacom พยายามทำอยู่เท่านั้น เพราะหน้าที่หลักของหน่วยงานนี้คือการสำรวจความต้องการด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่องค์กรต่างๆ ต้องการ ก่อนจะออกแบบแพ็กเกจบริการที่ตอบโจทย์ในแต่ละธุรกิจมากที่สุด

 

หนึ่งในเทรนด์มาแรงสำหรับองค์กรต่างๆ ในเวลานี้คือเรื่องของ Internet of Things หรือ IoT ที่เป็นการผสานการทำงานของสายพานการผลิตแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่เครื่องจักรไปจนถึงการเก็บข้อมูล Big Data เพื่อนำมาวิเคราะห์และต่อยอดให้ธุรกิจไปต่อได้แบบไม่มีสะดุด รวมถึงบริการ Data Center ไปจนถึง Data Analytics ที่กลายเป็นแต้มต่อให้สามารถแข่งขันในโลกธุรกิจที่ขับเคี่ยวกันด้วยข้อมูลได้

 

CAT datacom

 

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในฐานะผู้ให้บริการคือทุกวันนี้ธุรกิจมีการแข่งขันกันสูงมาก หลายๆ อย่างต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ของผู้บริโภค เช่นเดียวกับผู้ให้บริการอย่างเราที่ต้องปรับตัวตลอดเวลา เพราะเรารู้ว่าลูกค้าองค์กรของเราก็ต้องการ Internet Solution ที่จะต้องนำไปซัพพอร์ตความต้องการของลูกค้าเขาอีกที สุดท้ายเขาจึงต้องการบริการที่รองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ของลูกค้า 

 

“ที่ผ่านมาเราพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ใน CAT เองเรามีพนักงาน 5,000 กว่าคน ทำให้เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเริ่มจากการลองใช้ภายในองค์กร ก่อนจะนำไปให้ลูกค้าใช้บริการจริง ทำให้เกิดบริการใหม่ๆ เช่น CAT Chat โปรแกรมแชตสำหรับองค์กรที่มีความปลอดภัยสูง ไม่รั่วไหล ต่างจากโปรแกรมแชตทั่วๆ ไป รวมไปถึงเรื่องใหม่ๆ อย่าง AI ที่เรากำลังพัฒนา Machine Learning ให้ AI สามารถฉลาดและเก่งขึ้นจากการป้อนข้อมูลเข้าไป นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของคนในองค์กรเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรของเราให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ก่อนจะนำไปให้บริการกับลูกค้าในท้ายที่สุด” กวินนันทน์กล่าวถึงเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับโลกธุรกิจยุคใหม่ 

 

ข้อมูลรั่ว ไวรัสเรียกค่าไถ่ ความปลอดภัยที่หลายองค์กรมองข้าม

ปัญหาความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นอีกปัญหากวนใจคนทำงานออฟฟิศในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเรามักจะได้ยินข่าวคราวที่แฮกเกอร์ผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มพยายามขโมยข้อมูลจากองค์กรต่างๆ ก่อนจะล็อกข้อมูลนั้นไว้อย่างหนาแน่น และเปิดไม่ได้จนกว่าจะจ่ายเงินตามที่ผู้ก่อการร้ายในโลกออนไลน์ร้องขอ 

 

เรื่องความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่ CAT ให้ความสำคัญ ถึงขนาดมีทีมที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยตระเวนไปให้บริการลูกค้าถึงที่ ซึ่งเรื่องนี้กวินนันทน์มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายองค์กรมองข้ามไป

 

CAT datacom

 

“ทุกวันนี้ข้อมูลถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญ แต่หลายองค์กรยังคงมีมุมมองว่าการวางระบบป้องกันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ถ้ามองในมุมกลับกันว่าหากไม่ป้องกันแล้วเกิดความเสียหายครั้งหนึ่ง ข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างเป็นเรื่องอ่อนไหว บางครั้งเป็นข้อมูลลูกค้าที่เมื่อรั่วไหลออกไปอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องได้ หรือหากมีข่าวรั่วออกมา ความเสียหายอาจจะมากกว่านั้น ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการแก้ไขภายหลัง ซึ่งปัจจุบันใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนักเรื่องการวางระบบความปลอดภัย หากลูกค้าต้องการ เราก็จะส่งทีมที่ปรึกษาในแง่ความปลอดภัยไปช่วยเหลือลูกค้าได้ทันที”

 

นอกจากนี้ CAT datacom ยังมีทีมซัพพอร์ตที่พร้อมจะรับฟังทุกปัญหาของลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังคอยมอนิเตอร์ปัญหาให้กับลูกค้าก่อนที่ปัญหาจะเกิด โดยทำงานแบบ Pro Active เพื่อให้ทุกธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยไม่มีสะดุด 

CAT datacom

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising