ชื่อของ ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ อาจเป็นที่รู้จักด้วยฉายา ‘เจ้าพ่อคาราบาวแดง’ แต่จริงๆ แล้วนั้นยังมีธุรกิจอื่นๆ อีก ทั้งธุรกิจสุราและค้าปลีกที่กำลังเดินหน้าเต็มสูบ ด้วยตัวเขาต้องการผลักดันให้ 2 กลุ่มนี้สร้างยอดขาย 1 แสนล้านบาทภายในปี 2566
ลึกเข้าไปในการลงทุนของเจ้าพ่อคาราบาวแดง นอกเหนือจากเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้ ‘คาราบาวกรุ๊ป’ ยังมีการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสุรากลั่นครบวงจร สุราขาว สุราสี วิสกี้ บรั่นดี และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ, บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีก ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ และบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกภายใต้แบรนด์ ‘ซีเจ’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ ทุ่ม 4 พันล้านบาท ต่อยอดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงออกมาเป็น ‘เบียร์’ สะเทือนตลาด 2.6 แสนล้านบาท พร้อมท้าชน ‘ช้างกับสิงห์’ ไตรมาส 4 นี้!
- ร้านโชห่วยถูกใช้เป็นเครื่องมือจริงหรือไม่? เมื่อยักษ์ค้าปลีกเปิดศึกส่งโมเดลใหม่ ดึงร้านค้าเป็นพันธมิตรช่วยชิงลูกค้า หวังเพิ่มทางรอด-สร้างรายได้ระยะยาว
- ยักษ์ค้าปลีกโดดรุมร้านโชห่วย! แม็คโครเร่งสปีด ‘บัดดี้มาร์ท’ ตั้งเป้าเปิดเพิ่ม 2,000 แห่งภายในปี 66 เคาะราคาลงทุนเริ่ม 4 แสนบาท
- แม่ทัพใหญ่ Big C ไม่หวั่น! การแข่งขันสูง เร่งสปีดร้าน ‘โดนใจ’ ดึงโชห่วยเสริมทัพ 3 หมื่นสาขา ภายในปี 2570
‘ธุรกิจค้าปลีก’ กำลังเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้กับ ‘เสถียร’ แม้จะมีความท้าทายอย่างยิ่งด้วยการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่เป็นร้านโชห่วยซึ่งกำลังขับเคี่ยวจากกลุ่มค้าปลีกเดิมที่ต้องการบุกเช่นกัน
จนถึงขณะนี้มีร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นร้านถูกดี มีมาตรฐาน ทั้งหมดมากกว่า 5,000 ร้านค้า โดยกว่า 60% กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนที่เหลือเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ และกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
“ผมประเมินว่าปีนี้เราน่าจะได้ 8,000 สาขา ปีถัดไปเพิ่มเป็น 12,000 สาขา และเพิ่มเป็น 20,000 สาขา ซึ่งหากเราได้ตัวเลขนี้จริงจะทำให้ครอบคลุมภาคเหนือ กลาง และอีสาน ส่วนภาคใต้เรากำลังสำรวจอยู่”
ปลายเดือนกรกฎาคม ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ของเสถียรได้บรรลุข้อตกลงในการรับเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท จาก ‘ธนาคารกสิกรไทย’ เพื่อผลักดันธุรกิจให้ขยายสาขาเป็นไปตามเป้าหมาย รวมไปถึงการมองหาโอกาสใหม่ๆ
ยักษ์ใหญ่จ้อง ‘ร้านโชห่วย’ ตาเป็นมัน
แต่เสถียรไม่ใช่รายเดียวที่มอง ‘ร้านโชห่วย’ เป็นเค้กชิ้นโตที่จะพลาดไม่ได้ เพราะธุรกิจค้าปลีกของ 2 เจ้าสัวอย่าง ธนินท์ เจียรวนนท์ และ เจริญ สิริวัฒนภักดี ก็ไม่ได้อยู่เฉย ประกาศแผนบุกเช่นกัน
โดยแม็คโครของเจ้าสัวธนินท์ที่ได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงร้านโชห่วยมากว่า 33 ปี และมีฐานลูกค้ามากกว่า 5 แสนราย ได้เปิดพัฒนาร้านโมเดลบัดดี้มาร์ท (Buddy Mart) ที่ได้ตั้งเป้าหมายจะเปิดเพิ่มจำนวน 2,000 ร้านค้า ภายในสิ้นปี 2566
ส่วนบิ๊กซีของเจ้าสัวเจริญก็ได้เร่งสปีดร้าน ‘โดนใจ’ ซึ่งเน้นเปิดในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นหลัก โดยไตรมาสแรกเตรียมเปิดร้านค้าประมาณ 8,000 แห่ง และวางเป้าหมายใหญ่ให้เติบโตกว่า 30,000 แห่ง ภายในปี 2570
การขยับตัวของยักษ์ทั้งหลายทำให้แหล่งข่าวจากแวดวงธุรกิจค้าปลีกได้ตั้งข้อสังเกตผ่าน THE STANDARD WEALTH ว่า มองอีกมุมหนึ่ง ร้านค้ารายย่อยถูกใช้เป็นเครื่องมือของรายใหญ่ในการขยายสาขา โดยที่ไม่ต้องใช้งบลงทุนมากถ้าเทียบกับเปิดร้านเอง และยังสามารถเปิดร้านได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าเฮาส์แบรนด์ สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้น ร้านค้าโมเดลดังกล่าวจะทำให้ค้าปลีกรายใหญ่สามารถจับกำลังซื้อของลูกค้าในชุมชนที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับคนละครึ่งได้ ขณะที่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไม่สามารถทำได้
เชื่อปีนี้จะ ‘ไม่ขาดทุน’
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เสถียรวางแผนเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับร้านถูกดี มีมาตรฐาน โดยการหาพาร์ตเนอร์เพื่อทำจุดรับ-ส่งพัสดุ และจุดฝาก-ถอนเงินในรูปแบบของตู้ ATM เพื่อสร้างรายได้ให้กับร้านค้า และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้มากขึ้น
“หากเราสามารถเพิ่มเป็น 8,000 สาขาในปีนี้ จะเป็นตัวเลขที่ทำให้ธุรกิจนี้ไม่ขาดทุน และเริ่มกลับมามีรายได้ เพื่อปูทางสู่การก้าวกระโดดในปีต่อๆ ไป”
ปกติยอดขายเฉลี่ยร้านถูกดี มีมาตรฐาน อยู่ที่ 30,000-40,000 บาทต่อวัน เมื่อรวม 8,000 สาขา จะทำให้ในปี 2566 ยอดขายร้านถูกดี มีมาตรฐาน แตะ 4 หมื่นล้านบาท
เมื่อรวมกับยอดขายจากร้านซีเจ ทั้งซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต และซีเจ มอร์ ปีนี้จะเปิดเพิ่มราว 250 สาขา จากปี 2565 มีร้านทั้งสิ้น 1,000 สาขา โดยเน้นไปที่ ‘ซีเจ มอร์’ ที่ตั้งเป้าเปิดมากถึง 150 สาขา โดยเป็นโมเดลร้านขนาดใหญ่ โดยมีค้าปลีกอื่นๆ ในพื้นที่เพื่อรองรับลูกค้า ซึ่งจากการขยายตัวเชิงรุกมั่นใจว่าค้าปลีกภายใต้แบรนด์ซีเจจะเป็นหัวหอกในการสร้างยอดขายในปีนี้ถึง 4 หมื่นล้านบาท
ประกาศเข้าสู่สมรภูมิ ‘ตลาดเบียร์’
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของเสถียรในปี 2566 คือการประกาศเข้าสู่สมรภูมิ ‘ตลาดเบียร์’ ภายในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ จากประสบการณ์การเป็นผู้ผลิตเบียร์จากโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ทำให้มั่นใจในเรื่องรสชาติและเทสต์ของลูกค้า
โดยเตรียมงบลงทุน 4 พันล้านบาท เพื่อบุกตลาดอย่างจริงจัง เบื้องต้นจะทำออกมา 2-3 รสชาติ เน้นที่ตลาดบนเป็นหลัก เบื้องต้นจะเริ่มการผลิตที่ 200 ล้านลิตรต่อปี โดยวางเป้าหมายกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ
“ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์การทำคราฟต์เบียร์กว่า 10 รสชาติ ในโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง และการทำธุรกิจเหล้าทั้งแบรนด์เทนโดะ, โซจู, แทยัง, บรั่นดี กาแล็กซี่ เหล้าขาวและเหล้าสีตะวันแดง ฯลฯ ซึ่งเราพบว่าพฤติกรรมของลูกค้า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เปิดใจในการรับสินค้าที่หลากหลาย รสชาติใหม่ๆ มากขึ้น การเข้าตลาดเบียร์ในครั้งนี้เราไม่ได้กังวล แม้จะมีเจ้าตลาดที่แข็งแกร่ง แต่มองว่าจะเป็นโอกาสที่สำคัญในการสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด”
อีกเหตุผลสำคัญในการเข้าสู่สมรภูมินี้ เสถียรแจงว่าเป็นเสมือนไฟลต์บังคับในการรุกตลาด On Premise หรือกลุ่มร้านอาหาร ผับ บาร์ ซึ่ง ‘เบียร์’ เป็นสินค้าตัวหลักในช่องทางนี้
“การมีสินค้าในกลุ่มเบียร์จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของเราในการนำแบรนด์เหล้าตัวอื่นๆ เข้าไปในช่องนี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด”
เสถียรทิ้งท้ายว่า ธุรกิจค้าปลีกที่ประกอบด้วยร้านซีเจ และถูกดี มีมาตรฐาน คาดว่าจะมีรายได้ก้าวสู่ 8 หมื่นล้านบาท และธุรกิจสุราประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ถ้ารวมเครื่องดื่มตัวอื่นๆ คาดว่าสิ้นปี 2566 ทั้งกลุ่มนี้จะมีรายได้แตะ 1 แสนล้านบาทได้สำเร็จ ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตัวเองได้วางไว้