ในอดีต ‘ธุรกิจค้าปลีกของไทย’ เป็นร้านขายของชำขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า ‘โชห่วย’ ซึ่งเป็นร้านที่มีอยู่ในทุกชุมชน
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปคำว่า ‘โชห่วยกำลังจะตาย’ เป็นคำที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของ ‘ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่’ (Modern Trade)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มองการจับมือของ ‘บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว’ และ ‘กสิกรไทย’ กับการใช้เงินกว่า 15,000 ล้านบาท พัฒนาร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ ให้กลายเป็นศูนย์กลางชุมชน สานต่อแนวคิด “กินแบ่ง ไม่กินรวบ”
- เจาะกลยุทธ์ ‘คาราบาวแดง’ กินทีละคำ ทำทีละเมือง จาก 0 สู่อันดับ 1 อาเซียน ตอน 1
- ไม่หวั่นต้นทุนพุ่ง กำไรน้อยลง ‘คาราบาวแดง’ ยันขายราคาเดิม 10 บาท เอาใจกลุ่มแรงงาน-หันบุกเซ็กเมนต์พรีเมียม
‘ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่’ เติบโตจากการตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย เช่น สามารถซื้อสินค้าหลายประเภทในที่แห่งเดียว อีกทั้งราคาสินค้ามักต่ำกว่าร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) ตลอดจนการลงทุนขยายสาขาต่อเนื่องเพื่อขยายฐานลูกค้า
จุดนี้เองทำให้ ‘ร้านโชห่วย’ ที่มีอยู่ราว 4 แสนร้านค้า ต้อง ‘ล้ม หาย ตาย จาก’ ไป
พลิกฟื้น ‘ร้านโชห่วย’ ให้ ‘อยู่รอด’
วิกฤตที่เกิดขึ้นกับร้านโชห่วยทำให้ ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ ซึ่งมีธุรกิจหลักอยู่ใน ‘บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’ ตัดสินใจเข้ามาช่วยฟื้นร้านโชห่วยให้ ‘อยู่รอด’ ด้วยการพัฒนาขึ้นเป็นร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’
“ผมทำคาราบาวแดง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราพบว่าร้านโชห่วยเป็นพันธมิตรที่สำคัญและไม่ควรปล่อยให้ล้มหายไปจากการรุกคืบของ Modern Trade โดยเฉพาะต่างชาติ” เสถียรกล่าว “ผมจึงได้พัฒนาร้านถูกดี มีมาตรฐาน เพื่อปิดจุดอ่อนของร้านโชห่วยโดยการให้ความรู้ด้านการจัดการและเทคโนโลยีเข้ามา”
ความฝันของเสถียรที่ต้องการพลิกฟื้นร้านโชห่วยได้เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว ด้วยตัวเลขร้านค้าที่เปิดราว 5,000 แห่งใน 62 จังหวัดทั่วประเทศไทย แต่ตัวเลขยังสามารถเติบโตได้มากกว่านี้ด้วยเป้าหมาย 10,000 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ ก่อนจะเพิ่มเป็น 30,000 ร้านค้าภายในปี 2567
“ทุกสัปดาห์เรามีร้านโชห่วยสมัครเข้าร่วม 500 แห่ง หรือเดือนละ 2,000 แห่ง แต่ด้วยบุคลากรที่มีจำกัดโดยเฉพาะการเข้าไปดูร้านค้าจริง ทำให้ไม่สามารถอนุมัติให้กับทุกร้านที่สมัครเข้ามาได้”
นี่ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ ซึ่งกลายเป็นที่มาของการจับมือกับ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ ในการฝ่าความท้าทายดังกล่าว
ร่วมลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท
ความร่วมมือของทั้งคู่ถือเป็น ‘บิ๊กดีล’ ของวงการค้าปลีกและสถาบันทางการเงินของไทย พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า เป้าหมายของธนาคารกสิกรไทยมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ความตั้งใจทำให้ลูกค้ารายย่อยได้ใช้บริการการเงินได้ง่ายและสะดวก เช่น ธุรกรรมทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน – ฝากถอนเงิน จ่ายบิล รวมถึงการได้สินเชื่อจากธนาคาร ไม่ต้องกู้นอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีสลิปเงินเดือน แต่มีความต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือค้าขาย เรื่องที่สองคือ การขยายพื้นที่ให้บริการของธนาคาร ด้วยจุดบริการ ‘เคแบงก์ เซอร์วิส’ (KBank Service) ทำให้ลูกค้าที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ไม่มีสาขาธนาคารตั้งอยู่ สามารถใช้บริการต่างๆ เช่น ฝาก/ถอนเงิน จ่ายบิล ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
เพื่อตอบโจทย์สำคัญนี้ ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ร่วมลงทุนจากธนาคารกสิกรไทยกว่า 15,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- 8,000 ล้านบาท ให้วงเงินกู้สำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวและบริษัทร่วมทุน
- 5,000 ล้านบาท ลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิการลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด
- 2,000 ล้านบาท เตรียมทยอยร่วมลงทุนในบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ ‘เคบาว’ (kbao)
การเข้ามาของกสิกรไทยจะช่วย ‘ติดสปีด’ ให้กับร้านถูกดี มีมาตรฐาน ให้มีการเติบโต เข้าถึง ตลอดจนยกระดับจนกลายเป็น ‘ศูนย์กลางของชุมชน’ อย่างแท้จริง
“การทำร้านค้าให้เป็นระบบในระยะแรกเป็นเรื่องที่ยากมาก เราใช้เงินลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาท ซึ่งการเข้ามาของกสิกรไทยจะทำให้เราสามารถเติบโตได้เร็วมากขึ้น” เสถียรกล่าว
หนึ่งในแผนการยกระดับร้านถูกดี มีมาตรฐาน คือการสร้าง ‘ศูนย์กระจายสินค้า’ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้เงินจำนวนมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งนี่ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมาเสถียรได้เช่าคลังสินค้าประมาณ 8 แห่งทั่วประเทศ แต่ตอนนี้ได้สร้างเองเสร็จไปแล้ว 1 แห่ง พื้นที่ 5 พันตารางเมตร และกำลังวางแผนจะสร้างอีก 3 แห่งที่ขอนแก่น ลำพูน และบุรีรัมย์ คาดแล้วเสร็จในปีหน้า
แต่ละแห่งใช้เงินกว่า 3,000 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ใช้เงินเยอะ “เป็นเพราะเราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาจัดการ ทำให้แต่ละคลังสินค้ารองรับร้านค้าได้ 5,000 แห่ง โดยเราตั้งเป้าหมายจะสร้าง 8 แห่งกระจายทั่วประเทศ”
เมื่อมีคลังสินค้าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจใหม่อย่าง ‘การสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า’ (พรีออร์เดอร์) ผ่านระบบสมาชิกของร้าน ซึ่งเสถียรมองว่า นี่จะเป็น ‘หัวรถจักรในการทำให้ธุรกิจเติบแบบก้าวกระโดด’
ทำไมเสถียรถึงได้มองเช่นกัน? ก็เพราะระบบสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า (พรีออร์เดอร์) จะทำให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ไม่ได้มีสินค้าแค่ 2,000 รายการที่เห็นอยู่ในร้าน แต่ทำให้ร้าน 1 แห่งสามารถขายสินค้าได้มากกว่า 20,000 รายการเลยเดียว ซึ่งในอนาคตสามารถต่อยอดไปได้อีก
“การใส่ระบบนี้เข้าไปจะทำให้ร้านมีแต้มต่อ จากต้นทุนบริหารจัดการที่ถูก รอบส่งสินค้าที่ชัดเจน ตลอดจนบริการอื่นๆ ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นเพื่อยกระดับร้านโชห่วยของไทย ที่สามารถทำให้พวกเขาลืมตาอ้าปาก และส่งต่อเป็นธุรกิจให้กับลูกหลานได้ด้วย”
ขยายบริการสินเชื่อให้เข้าถึงชุมชน
ในมุมของร้านถูกดี มีมาตรฐาน สิ่งที่ได้จากดีลนี้คือเงินทุนที่ทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่อีกคำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ ได้อะไรจากการลงทุนครั้งนี้
แน่นอนกสิกรไทยคือสถาบันทางการเงิน ซึ่งส่งที่เชี่ยวชาญที่สุดย่อมหนีไม่พ้นเรื่องดังกล่าว โดย พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า นอกจากส่งเสริมศักยภาพของร้านถูกดี มีมาตรฐาน การเป็นแหล่งเงินทุน ยังเป็นจุดให้บริการธุรกรรมการเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันกับคนในชุมชน เช่น บริการถอนเงิน จ่ายบิล รวมทั้งเพิ่มบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น สแกนจ่ายด้วย QR Code ได้อีกด้วย
เหล่านี้จะทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ข้อมูลจาก LINE BK ระบุว่า สถิติการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรไทย พบว่ามีเพียง 18% ที่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร
แต่บริการทางการเงิน ไม่ใช่แค่การเปิดบัญชีธนาคารเท่านั้น ยังมีบริการอื่นอีกมากมาย เช่น สินเชื่อ การลงทุน และประกัน ซึ่งผู้บริโภคที่ยังเข้าไม่ถึงบริการดังกล่าวมีอีกกว่า 45%
เบื้องต้นการจับมือจะทำกสิกรไทยให้มีจุดบริการเคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service) เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด จากเดิมมีจำนวนกว่า 27,000 จุด เพิ่มช่องทางการให้บริการได้ลึกถึงแหล่งชุมชนและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ธนาคารมีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา ตู้ ATM และตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย
“นี่จะเป็นบริการทางการเงินที่ไม่จำเป็นต้องไปที่สาขา ซึ่งจะสร้างความสะดวกให้กับคนในชุมชม แถมยังสร้างจุดแข็งของร้านถูกดี มีมาตรฐานอีกด้วย” พัชรกล่าว
ก้าวต่อไปคือการให้ ‘บริการสินเชื่อ’ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างแท้จริง โดยหนึ่งในสินเชื่อดังกล่าวจะอนุมัติให้กับคนที่เป็นลูกค้าของร้านอยู่แล้ว
ขยายให้เห็นภาพมากขึ้น ที่ผ่านมาทุกร้านมักจะมีลูกค้ามา ‘เซ็นไว้ก่อน’ นั่นคือเอาสินค้าไปก่อนและนำมาจ่ายทีหลัง แต่ต่อไปลูกค้ากลุ่มนี้จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อโดยที่มีเจ้าของร้านเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติหรือไม่
นั่นเพราะเจ้าของร้านจะเป็นผู้ที่รู้จักลูกค้าของตัวเองได้ดีที่สุด ดังนั้นสิ่งนี้จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงด้านหนี้เสีย เพราะร้านจะมีส่วนร่วมผ่านการที่รับผิดชอบนี้ดังกล่าวด้วย ซึ่งหากมีการชำระเจ้าของร้านก็จะได้เป็นส่วนแบ่งกลับไป
“ข้อมูลสามารถบอกได้ว่าจะเป็นหนี้เสียหรือไม่ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. เงินที่ได้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อความหรูหรา แต่เป็นการนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และ 2. เราต้องรู้ว่าผู้กู้อยู่ที่ไหน ซึ่งจุดนี้ร้านค้าจะช่วยได้มาก เพราะคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่รู้จักกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสียไปในตัว”
ทั้งหมดคือการเข้ามาขับเคลื่อน ‘ร้านโชห่วย’ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครึ่ง ซึ่งเราเชื่อว่าการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้คนในชุมชน ทำให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทั่วประเทศง่ายขึ้น
สมกับเป้าหมายที่ต้องการให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เป็น ‘ศูนย์กลางของชุมชน’ อย่างแท้จริง
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับถูกดี มีมาตรฐานได้ที่: https://bit.ly/3vgRYIC
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP