×

สางปมปัญหาคุณป้าทุบรถ ตลาดรอบบ้านควรอยู่หรือไป จากมุมมองนักกฎหมายที่สัมผัสปัญหาจริง

21.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ผู้เขียนลงพื้นที่สัมผัสปัญหาของบ้านหลังนี้ ตั้งแต่ปี 2554 ขณะยังเป็นนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เวลานั้นได้มีการฟ้องร้องกันระหว่างเจ้าของบ้านและหน่วยงานที่ปล่อยให้มีการตั้งตลาดในเขตที่อยู่อาศัยแล้ว
  • เมื่อพิจารณาจากแง่มุมกฎหมายแล้ว หน่วยงานของรัฐไม่น่าที่จะอนุญาตให้เจ้าของตลาดประกอบกิจการตลาดในบริเวณหมู่บ้านเสรีวิลล่าได้เลย หากมีการอนุญาตเกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นการอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลัง
  • สิ่งที่ง่ายที่สุดและทุกคนทำได้โดยไม่เดือดร้อนใคร ก็คือการเริ่มเคารพสิทธิของผู้อื่น และเคารพกฎหมายที่มีอยู่เสียก่อน เมื่อทุกคนเริ่มตระหนักในปัญหาความเดือดร้อนแบบกรณีคุณป้าทุบรถก็คงยากที่จะเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร เพราะเกิดความลำบากใจจากการปฏิบัติงาน เนื่องจากผู้ค้าขายก็จำเป็นต้องมีรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว ทางเขตจึงทำการจัดระเบียบการค้าขายแทน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบางครั้งในทางปฏิบัติ ไม่สามารถทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดได้ และเมื่อเกิดความลำบากใจขึ้น เจ้าหน้าที่ก็จะหันไปพึ่งบารมีศาล ซึ่งในกรณีนี้คือศาลปกครอง ด้วยเหตุว่า เจ้าหน้าที่เกรงว่าหากดำเนินการไปก่อน แล้วต่อมาศาลมีคำสั่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง จะทำให้ต้องรับผิดในการกระทำที่เกิดขึ้น

 

นี่คือคำพูดของเจ้าหน้าที่เขตประเวศคนหนึ่งช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 เกี่ยวกับกรณีของความเดือนร้อนที่เกิดขึ้นต่อประชาชนในละแวกตลาดสวนหลวง ร.9 เมื่อครั้งที่ผู้เขียนและเพื่อนๆ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายในชั้นปีที่ 4

 

จริงๆ แล้วปัญหาในเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นมาหลายปีก่อนหน้าที่พวกเราจะเข้าไปลงพื้นที่ พอพวกเราได้ยินว่าประชาชนหลายคนในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ไม่ใช่แค่บ้านคุณป้าเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่มีนายทุนมาเปิดตลาด จึงตัดสินใจที่จะเข้าไปลงพื้นที่จริงๆ เพื่อดูว่าปัญหาเป็นอย่างไร และพวกเราในฐานะที่เป็นนักศึกษาจะช่วยแก้ไขได้อย่างไรบ้าง จึงได้เข้าใจถึงความเป็นมาของปัญหาดังต่อไปนี้

 

ภาพการวางขายของบนถนน ปัจจุบันไม่มีแล้ว

 

ความเป็นมาและสภาพของปัญหาในปี พ.ศ. 2554

แต่เดิมนั้น บริษัทผู้จัดสรรที่ดินโครงการนี้ ได้แบ่งสัดส่วนของโครงการไว้เป็น 2 ส่วน คือ โครงการ 1 เพื่อเป็นหมู่บ้านจัดสรร และโครงการ 2 เพื่อเป็นส่วนของศูนย์การค้าซึ่งจัดตั้งไว้ติดถนนถนนศรีนครินทร์ อยู่ปากทางเข้าออกของหมู่บ้านเสรีวิลล่าคือศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ (ปัจจุบันคือพาราไดซ์ พาร์ค)

 

ซึ่งการแบ่งสัดส่วนของโครงการไว้ 2 ส่วนข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าส่วนหนึ่งใช้เพื่ออยู่อาศัย อีกส่วนใช้เพื่อเชิงพาณิชย์ ทำให้ตอนนั้นที่ดินจัดสรรภายในหมู่บ้านเป็นบริเวณเงียบสงบร่มรื่น ปราศจากเสียงรบกวนและมลภาวะใดๆ อันส่งผลต่อการดำเนินชีวิตตามปกติ

 

ปรากฏว่าต่อมามีคนซื้อที่ดินในหมู่บ้านและได้นำมาทำเป็นตลาด เมื่อได้รับความนิยม ตลาดก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

ภาพประตูหน้าบ้านเมื่อปี 2554

 

ในช่วงปี พ.ศ. 2554 ประตูรั้วบ้านคุณป้าที่ปรากฏในข่าวยังไม่มีป้ายติดเยอะขนาดนี้ ตลาดบางแห่งยังเป็นเต็นท์ไม่ได้เป็นอาคารที่มีลักษณะถาวรเหมือนตอนนี้

 

มาถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว หลายๆ อย่างกลับเลวร้ายลงกว่าเดิม ตลาดแทนที่จะลดลงกลับมีมากขึ้น ตลาดที่เป็นเต็นท์ชั่วคราวกลับกลายเป็นอาคารถาวร

 

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องนั้นด้อยประสิทธิภาพเพียงใดจากความลำบากใจในการปฏิบัติงาน

 

แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้เขียนก็เห็นได้ว่าบางอย่างยังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง เช่น ขยะตามทางเดินที่ลดน้อยลงกว่าเดิมมาก รวมถึงการขายของบนถนนสาธารณะที่หายไปแล้ว

 

สุดท้ายแล้ว เนื่องจากในปีที่เราได้ลงพื้นที่ คดีความยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล พวกเราจึงไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรไปมากกว่าการทำรายงานฉบับนั้นออกมา

 

ขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดตามข้างทาง

 

ถ้าจะให้สรุปในเบื้องต้นเกี่ยวกับกรณีนี้จากบทเรียนในอดีต สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควรยึดถือคือการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดผ่านหลักนิติธรรม (The Rule of Law) หรือหลักการที่ยึดกฎหมายเป็นใหญ่

 

กล่าวคือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสิ้นสุดไป

 

นอกจากนี้ แม้ว่าผู้ค้าขายจะไม่อาจค้าขายในบริเวณดังกล่าวได้อีก แต่ทางรัฐก็สามารถทำการช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านั้นโดยการจัดหาสถานที่ให้ผู้ค้าขาย ได้มีโอกาสนำสินค้าของตนมาขายในลักษณะเช่นเดียวกันกับตลาดที่จัดตั้งแต่เดิม ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ก็ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตและประสบผลสำเร็จ คือการย้ายให้ผู้ค้าขายในตลาดนัดสนามหลวงไปค้าขายในบริเวณสวนจตุจักรแทน

 

Photo: ฐานิส สุดโต

 

วิเคราะห์ปัญหาตลาดสวนหลวง ร.9 ในแง่มุมของกฎหมาย

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์ป้าทุบรถขึ้น ประเด็นความเดือดร้อนจากการมีตลาดในบริเวณสวนหลวง ร.9 จึงกลับกลายมาเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในวงกว้างและอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หลายๆ คนอาจได้ฟังคำสัมภาษณ์ของผู้อำนวยการเขตประเวศเมื่อวานนี้ (20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561) และอาจจะสงสัยว่า

 

1. ตลาดในละแวกสวนหลวง ร.9 นั้นได้ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

 

2. ถ้าหากทำไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใดตลาดถึงได้จัดตั้งไม่ถูกต้อง และ

 

3. การขออนุญาตก่อสร้างตลาด กับการขออนุญาตจัดตั้งตลาดคือสิ่งเดียวกันหรือเปล่า หรือมีความแตกต่างกันอย่างไร

 

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญที่อย่างน้อยทุกคนควรจะเข้าใจไว้ในเบื้องต้น เพราะถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก่อสร้างอาคารรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงคิดว่าอยากจะแบ่งปันความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวดังต่อไปนี้

 

Photo: ฐานิส สุดโต

 

1. บทสรุปโดยย่อตามข้อกฎหมาย

การก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาด ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากขัดต่อกฎหมายจัดสรรที่ดิน อาคารตลาดที่สร้างขึ้นมาแล้ว อาจถูกรื้อถอนได้ เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว พร้อมกันนี้ เจ้าของอาคารตลาดต้องได้รับโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามแต่กรณี (ได้ระบุในรายละเอียดด้านล่าง)

 

นอกจากนี้ การขออนุญาตเพื่อจัดตั้งตลาด ก็ไม่สามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน เพราะการก่อสร้างอาคารไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย เมื่อการก่อสร้างอาคารทำโดยไม่ชอบตามกฎหมาย การขออนุญาตจัดตั้งตลาดจึงไม่สามารถกระทำได้เป็นผลต่อเนื่องกัน

 

ทั้งนี้ ความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยสังเขปและการพิจารณากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ได้วิเคราะห์ดังต่อไปนี้

 

Photo: ฐานิส สุดโต

 

2. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(ก) กฎหมายผังเมือง: กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่กำหนดว่าพื้นที่ใด สร้างอาคารเพื่อประกอบกิจการใดได้บ้าง เช่น พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม ก็จะก่อสร้างอาคารเพื่อทำอุตสาหกรรมไม่ได้ นอกจากนี้ หากพื้นที่ใดได้มีการประกาศกฎหมายผังเมืองใช้บังคับแล้ว พื้นที่นั้นก็จะกลายเป็นเขตควบคุมอาคาร ดังนั้น การก่อสร้างอาคารจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นก่อนเสมอด้วย

 

(ข) กฎหมายควบคุมอาคาร: การก่อสร้างอาคารใดๆ ภายในเขตควบคุมอาคาร จะต้องดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เช่น เทศบาลต่างๆ โดยหน่วยงานเหล่านั้น ก็จะออกใบอนุญาตก่อสร้าง (แบบ อ.1 หรือแบบ กทม.6 สำหรับกรุงเทพมหานคร) หรือหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ ซึ่งหลักการของทั้งสองแบบนี้ก็จะเหมือนกันคือ ให้ผู้ขออนุญาตสามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ในแบบฟอร์มดังกล่าว ก็จะระบุด้วยว่า ให้ก่อสร้างอาคารประเภทใด เช่น อาคารพาณิชยกรรม หรืออาคารที่อยู่อาศัย มีจำนวนกี่ชั้น กี่หลัง เป็นต้น อย่างไรก็ดี มีอาคารเพียงบางประเภทที่สามารถก่อสร้างได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เป็นเพียงข้อยกเว้นเท่านั้น) ซึ่งในกรณีนี้ การก่อสร้างตลาดไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

 

(ค) กฎหมายจัดสรรที่ดิน: คือกฎหมายที่กำหนดว่าการขายที่ดินที่ได้แบ่งไว้ตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป จะต้องดำเนินการขออนุญาตจัดสรรที่ดินเสียก่อน ซึ่งแน่นอนว่าพอมีคำว่าขออนุญาตเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้จัดสรรก็มีหน้าที่เพิ่มเติมในการแบ่งที่ดินดังกล่าวเพื่อขาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรให้มีระบบสาธารณูปโภค ทำแผนผังการจัดสรรที่ดินว่าที่ดินส่วนใดจะใช้เพื่อประโยชน์อะไร และอื่นๆ อีกมากมายตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายจัดสรรที่ดิน (หมายเหตุ บางหมู่บ้านโดยเฉพาะหมู่บ้านเก่ามากๆ อาจจะไม่ได้จัดสรรที่ดินตามกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ เนื่องจากว่าได้จัดสรรที่ดินก่อนกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ)  

 

(ง) กฎหมายสาธารณสุข: เป็นกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งตลาด ซึ่งระบุว่าหากต้องการจัดตั้งตลาด จะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นเสียก่อน

 

ดังนั้น การอนุญาตก่อสร้างตลาด กับการอนุญาตให้จัดตั้งตลาด จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน เพราะเป็นการอนุญาตภายใต้กฎหมายคนละฉบับ

 

 

3. พิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น

 

(ก) การสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาด ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่

 

เนื่องจากเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมอาคารมานานกว่าร้อยปีแล้ว เพราะฉะนั้น การก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาด จำเป็นต้องดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานท้องถิ่นก่อนเสมอ อย่างไรก็ดี คำถามที่เกิดขึ้นเป็นข้อแรกก็คือ บริเวณหมู่บ้านเสรีวิลล่า สามารถสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดได้หรือไม่

 

เมื่อพิจารณาจากกฎหมายผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 พื้นที่หมู่บ้านเสรีวิลล่า ตั้งอยู่ในพื้นที่สีเหลือง ย.3-63 ‘ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย’ (พิจารณาจากพื้นที่สีเหลืองในรูป) โดยได้ระบุไม่ให้ใช้ที่ดินในบริเวณนี้เพื่อประกอบกิจการหลายอย่าง อาทิ โรงงาน สถานบริการ รวมถึง ตลาด ด้วยเช่นกัน เว้นแต่ตลาดดังต่อไปนี้ที่สามารถทำได้

 

 

1. ตลาดที่มีพื้นที่ประกอบการไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะ ที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 12 เมตร หรือตั้งอยู่ภายในระยะ 500 เมตร จากบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

 

2. ตลาดที่มีพื้นที่ประกอบการเกิน 1,000 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 25,000 ตารางเมตร ที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 16 เมตร หรือตั้งอยู่ภายในระยะ 500 เมตร จากบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรือ

 

3. ตลาดที่มีพื้นที่ประกอบการเกิน 2,5000 ตารางเมตร ที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะ ที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 30 เมตร หรือตั้งอยู่ภายในระยะ 500 เมตร จากบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

 

จากข้อกำหนดข้างต้น ประกอบกับสันนิษฐานจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่าถนนหน้าตลาดเป็นถนนสาธารณะที่มีความกว้างประมาณ 10 เมตร กฎหมายผังเมืองจึงอนุญาตให้ตลาดที่สามารถสร้างได้ในบริเวณดังกล่าว จะต้องมีพื้นที่ประกอบการไม่เกิน 1,000 ตารางเมตรเท่านั้น

 

ดังนั้น ต้องพิจารณาตามความเป็นจริงว่าตลาดเหล่านั้นมีขนาดพื้นที่เท่าใด หากไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ก็ทำได้ตามกฎหมายผังเมือง กล่าวคือสามารถขออนุญาตก่อสร้างกับหน่วยงานท้องถิ่นต่อไปได้ ถ้าเกิน 1,000 ตารางเมตร ก็จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตามกฎหมายผังเมือง

 

อย่างไรก็ดี นอกจากกฎหมายผังเมืองแล้ว จะต้องพิจารณากฎหมายจัดสรรที่ดินประกอบด้วยว่าการเอาที่ดินจัดสรรแปลงเหล่านั้นมาใช้เพื่อเป็นตลาด เป็นการขัดต่อการใช้งานที่ระบุไว้ในแผนผังจัดสรรที่ดินตอนยื่นจัดสรรที่ดินหรือไม่ เพื่อที่จะระบุได้ว่าการก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นตลาดสามารถทำได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

 

 

กฎหมายจัดสรรที่ดินได้กำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดิน ต้องจัดทำแผนผังการใช้งานที่ดินว่าที่ดินแปลงใดจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรบ้างเมื่อยื่นขอจัดสรรที่ดินต่อหน่วยงานของรัฐ เช่น ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้เป็นสาธารณูปโภคส่วนกลาง หรืออื่นๆ โดยไม่ว่าจะมีการซื้อขายที่ดินจัดสรรดังกล่าวผ่านไปกี่มือก็ตามก็จำเป็นจะต้องใช้ที่ดินนั้นให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในแผนผังจัดสรรที่ดิน (เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองกลางได้ตัดสินในเรื่องนี้ไว้ คดีหมายเลขแดง ที่ 1143/2549 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549) ทั้งนี้ แผนผังดังกล่าวอาจมีการขอแก้ไขได้ในภายหลัง โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐเสียก่อน

 

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และสันนิษฐานว่าไม่ได้มีการยื่นขอแก้ไขแผนผังที่ดินจัดสรรมาก่อน การใช้งานที่ดินในหมู่บ้านเสรีวิลล่านั้น จะต้องเป็นการใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยตามที่ได้ระบุไว้ในแผนผังที่ดินจัดสรรเท่านั้น (เพราะตลาดเหล่านี้ตั้งอยู่ในโครงการ 1) หากต้องการใช้เพื่อการอื่น เช่นเพื่อการพาณิชย์ จะต้องยื่นขออนุญาตแก้ไขแผนผังต่อหน่วยงานของรัฐเสียก่อน

 

ดังนี้ ถึงแม้ว่ากฎหมายผังเมืองจะบอกว่า สามารถสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ในบริเวณหมู่บ้านเสรีวิลล่าได้ แต่สุดท้ายแล้วการสร้างอาคารเพื่อเป็นตลาดในบริเวณดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากขัดต่อกฎหมายจัดสรรที่ดินนั่นเอง

 

 

จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้อำนวยการเขตประเวศ พบว่ามีตลาด 3 แห่งที่ได้ขออนุญาตก่อสร้างแล้ว ส่วนอีกหนึ่งตลาดที่เหลือในบริเวณใกล้เคียงยังไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างแต่อย่างใด

 

เมื่อพื้นที่หมู่บ้านเสรีวิลล่าไม่สามารถใช้เป็นตลาดได้เนื่องจากขัดต่อกฎหมายจัดสรรที่ดิน 1. ใบอนุญาตก่อสร้างตลาดที่ออกมาแล้ว 3 ใบนั้น อาจเป็นการออกใบอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใบอนุญาตดังกล่าวจึงอาจถูกเพิกถอนได้ และ 2. ส่วนตลาดอีกแห่งหนึ่งที่เหลือนั้น เมื่อก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคารที่กำหนดว่าการก่อสร้างต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานท้องถิ่นเสียก่อน

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หน่วยงานของรัฐสามารถที่จะรื้อถอนตลาดที่ก่อสร้างโดยขัดต่อกฎหมายได้ เมื่อได้ดำเนินการตามกระบวนการที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว

 

นอกจากนี้ ผู้ก่อสร้างอาคารตลาดยังมีความผิดอาญาตามกฎหมายควบคุมอาคาร กล่าวคือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งต้องปรับอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

Photo: ฐานิส สุดโต

 

(ข) การประกอบกิจการตลาด ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่

 

นอกจากเรื่องของตัวอาคารที่ใช้เป็นตลาดที่จะต้องดำเนินการให้ถูกกฎหมายแล้ว การขออนุญาตประกอบกิจการตลาดตามกฎหมายสาธารณสุข ก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ผู้ประกอบกิจการตลาดจะต้องดำเนินการให้ถูกกฎหมายด้วยเช่นกัน

 

กฎหมายสาธารณสุขได้กำหนดว่าการประกอบกิจการตลาดจะต้องยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานท้องถิ่นเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ หากประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่กิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

จากข้อเท็จจริงประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้อำนวยการเขตประเวศ พบว่ายังไม่มีผู้ประกอบการตลาดรายใดในบริเวณหมู่บ้านเสรีวิลล่า ได้รับอนุญาตประกอบกิจการตลาดเลย ดังนั้น ผู้ประกอบการเหล่านั้นจึงต้องได้รับโทษตามที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายสาธารณสุข

 

นอกจากนี้ ขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในการขออนุญาตประกอบกิจการตลาดต่อหน่วยงานท้องถิ่นนั้น จะต้องยื่นใบอนุญาตก่อสร้างไปพร้อมกับคำขอประกอบกิจการตลาดด้วย เมื่อการขออนุญาตก่อสร้างตลาดตามกฎหมายควบคุมอาคารไม่สามารถทำได้

 

ตามที่ได้พิจารณาในข้อ (ก) ด้านบนมาแล้ว ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงไม่น่าที่จะอนุญาตให้เจ้าของตลาดประกอบกิจการตลาดในบริเวณหมู่บ้านเสรีวิลล่าได้เลย หากมีการอนุญาตเกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นการอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลัง

 

 

จากบทวิเคราะห์ข้างต้น เราจึงเห็นได้ว่า จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง มีอำนาจในการจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างเด็ดขาด แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ส่งผลให้การดำเนินการตามกฎหมายยังคงล่าช้าอยู่ และก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนในละแวกดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

คำถามต่อมาก็คือว่า พวกเราในฐานะที่เป็นประชาชนเหมือนกัน ควรจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้หรือไม่ สำหรับผู้เขียนเองคิดว่า สิ่งที่ง่ายที่สุดและทุกคนทำได้โดยไม่เดือดร้อนใคร ก็คือการเริ่มเคารพสิทธิของผู้อื่น และเคารพกฎหมายที่มีอยู่เสียก่อน เมื่อทุกคนเริ่มตระหนักในจุดนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาความเดือดร้อนแบบกรณีคุณป้าทุบรถก็คงยากที่จะเกิดขึ้นอีกในสังคมไทยครับ

 

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ข้างต้นได้จัดทำขึ้นบนข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อสันนิษฐานต่างๆ ตามที่ปรากฏต่อสาธารณะเท่านั้น ผลการวิเคราะห์อาจเปลี่ยนแปลงได้ในรายละเอียดหากมีข้อเท็จจริงสำคัญบางประการที่แตกต่างออกไป เช่น ปีที่อาคารได้ก่อสร้างขึ้น เป็นต้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising