×

71 ปี พลังสิทธิสตรีในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์

14.05.2018
  • LOADING...

รู้กันหรือไม่ว่าตลอดปี 71 ปีของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ มีการมอบรางวัลปาล์มทองคำ Palme d’Or หรือรางวัลสูงสุดของเทศกาลฯ ให้ผู้กำกับหญิงเพียงแค่คนเดียวคือ เจน แคมเปียน (Jane Campion) เจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่อง The Piano ในปี 1993 และจำนวนภาพยนตร์ของผู้กำกับหญิงที่มีโอกาสเข้าชิงรางวัล Palme d’Or ก็มีไม่มากนัก เพราะ 2 ปีที่ผ่านมานี้มีภาพยนตร์ผลงานผู้กำกับหญิงเพียงปีละ 3 เรื่อง ยังไม่นับการที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ใช้เวลาตั้งแต่ปี 1946 จนถึงปี 1961 กว่าที่จะมีผู้กำกับหญิงที่ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม โดยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้คือ Yuliya Sointseva ผู้กำกับหญิงชาวรัสเซีย จากภาพยนตร์ The Story of the Flaming Years (1961) และอีกคนคือเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ด้วยภาพยนตร์ The Beguiled จากผู้กำกับหญิงแห่งยุคอย่าง โซเฟีย คอปโปลา (Sofia Coppola)

 

The Wrap ได้ให้ข้อมูลว่า ภาพยนตร์ของผู้กำกับหญิงในเทศกาลหนังเมืองคานส์มีบทบาทที่สุดในช่วงปี 2010-2018 แต่สูงอย่างไรก็มีส่วนร่วมได้แค่ประมาณ 10% เท่านั้น (19 เรื่องจากทั้งหมด 184 เรื่อง) และถ้ามองภาพรวมจะเห็นว่ากว่า 71 ปีที่เคยจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์มา มีเพียงประมาณ 4.3-5% ของภาพยนตร์เท่านั้นที่กำกับโดยผู้กำกับหญิง

 

Photo: www.thewrap.com

 

และนี่เป็นเหตุผลว่าเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ประจำปีนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และอาจเป็นครั้งที่สร้างประวัติศาสตร์สำคัญให้กับเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่แห่งนี้

 

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนเข้าฉายรอบพรีเมียร์ของภาพยนตร์เรื่อง Girls of the Sun โดยผู้กำกับ Eva Husson (ภาพยนตร์ 1 ใน 3 เรื่องที่เป็นผลงานของผู้กำกับหญิง และได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ประจำปีนี้) กลุ่มผู้หญิงจำนวน 82 คนในวงการภาพยนตร์ ได้ร่วมกันประกาศความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และพวกเขาก็มีเหตุผลที่เลือกมา 82 คนด้วย เพราะตั้งแต่ปี 1946 จนถึงปัจจุบัน มีภาพยนตร์เพียง 82 เรื่องที่กำกับโดยผู้กำกับหญิงที่มีบทบาทหลักในเทศกาลหนังเมือคานส์ (เทียบกับภาพยนตร์ของผู้กำกับชายที่มีทั้งหมดถึง 1,645 เรื่อง)

 

Photo: www.thelocal.fr

 

การเดินขบวนครั้งนี้นำทีมโดย เคต บลานเชตต์ (Cate Blanchett) ประธานคณะกรรมการการตัดสินของเทศกาลประจำปีนี้ ร่วมด้วยสตรีทรงพลังอีกหลายคน ทั้ง อานเญส วาร์ดา (Agnès Varda) ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่เคยได้เข้าชิงรางวัล Palme d’Or จากภาพยนตร์เรื่อง Cléo de 5 à 7 ในปี 1962, ซัลมา ฮาเยก (Salma Hayek) นักแสดงสาวอีกหนึ่งแกนนำของ #MeToo Movement, คริสเตน สจวร์ต (Kristen Stewart) อีกหนึ่งกรรมการสาวของเทศกาลประจำปีนี้ นอกจากนี้ยังมี มารียง กอตียาร์ (Marion Cotillard), เอวา ดูเวอร์เนย์ (Ava DuVernay), เลอา แซดู (Léa Seydoux), Khadja Nin รวมถึงผู้หญิงที่ทำงานในแวดวงภาพยนตร์อีกมากมาย

 

 

พวกเขาร่วมเดินอย่างสง่างามบนพรมแดง โดยบางคนยังสวมใส่ชุดที่ต่างจากขนบประเพณีเดิมๆ ของเทศกาลอย่างการใส่สูท ทักซิโด้ รองเท้าส้นเตี้ย ซึ่งขัดกับ Dress Code ของเทศกาลก่อนหน้านี้ที่เคยมีการห้ามผู้เข้าร่วมงานที่ไม่สวมรองเท้าส้นสูง รวมถึงคริสเตน สจวร์ตที่ต้องเปลี่ยนเป็นรองเท้าส้นสูงตอนเดินพรมแดง เปิดตัวภาพยนตร์ Café Society เมื่อปี 2016 ทำให้ครั้งนี้เธอมาในชุดสูทกางเกงของ Chanel พร้อมรองเท้าบู๊ตสีดำ ในขณะที่อานเญส วาร์ดาก็ร่วมเดินขบวนบนพรมแดงในรองเท้าส้นเตี้ย

 

กลุ่มพลังสตรีขึ้นไปยืนบนขั้นบันไดของงาน พร้อมเปิดเพลงคลอตลอดการเดินขบวน หนึ่งในนั้นคือเพลง Woman โดย Neneh Cherry เพลงที่เสียดสีเพลงฮิต It’s A Man’s World (1966) ของ James Brown พวกเขาหันหน้าออกสู่สายตาผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด ก่อนที่ เคต บลานเชตต์ ตัวแทนจะกล่าวสปีชที่กินใจในงานปีนี้

 

Photo: blogum.geliyoo.com

 

“ผู้หญิงไม่ใช่ประชาชนส่วนน้อยบนโลก แต่ในวงการภาพยนตร์กลับตรงกันข้าม และพวกเราต้องการการเปลี่ยนแปลง” อานเญส วาร์ดากล่าวเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยมีเคต บลานเชตต์แปลสปีชที่เขียนโดยอานเญส วาร์ดาเป็นภาษาอังกฤษ

 

Photo: medium.com

 

“ในฐานะของสตรี พวกเราทุกคนต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ต่างกันออกไป แต่เราก็พร้อมจะยืนหยัดด้วยกันบนบันไดแห่งนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความตั้งใจและตั้งมั่นในขบวนการนี้ พวกเราเป็นตัวแทนนักเขียน โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ นักแสดง นักออกแบบภาพ คนจัดหานักแสดง คนตัดต่อ ผู้จัดจำหน่าย และทุกหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในวงการภาพยนตร์

 

“และเรายืนหยัดร่วมกับผู้หญิงในทุกสายอาชีพ… เราขอให้ที่ทำงานของเราเปิดรับความแตกต่างและความเท่าเทียม เพื่อที่มันจะได้สะท้อนให้เห็นโลกของเราในแบบที่มันเป็นจริงๆ โลกที่ยอมรับให้ผู้หญิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังสามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายได้ เรายอมรับทั้งผู้หญิงและผู้ชายทุกคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ขั้นบันไดในอุตสาหกรรมบันเทิงจะต้องเข้าถึงได้สำหรับทุกคน และเราจะก้าวขึ้นไปด้วยกัน

 

อ่านสปีชฉบับเต็มได้ที่นี่: 5050×2020.fr/docs/5050×2020-Cannes-Statement.pdf

 

การเดินขบวนประท้วงดังกล่าวจัดขึ้นโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวฝรั่งเศสที่ใช้ชื่อว่า 5050×2020 ซึ่งหมายถึง 50 ต่อ 50 ในความเท่าเทียมทางเพศ ภายในปี 2020 ซึ่งกลุ่ม 5050×2020 ยังรวบรวมข้อมูลที่เปรียบเทียบอย่างละเอียดไว้ในเว็บไซต์ www.5050×2020.fr/en/study/cannes ด้วย และเช่นเดียวกับกลุ่ม Time’s Up กลุ่ม 5050×2020 ต้องการนำเสนอความเท่าเทียมทางเพศที่รวมไปถึงความเท่าเทียมในที่ทำงาน การได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม โอกาสในการทำงานที่เท่าเทียมกับผู้ชาย และสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานที่ปลอดภัย

 

ทีมผู้จัดงานเทศกาลนานาชาติภาพยนตร์เมืองคานส์รับทราบดีถึงกระแสความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เริ่มเกิดขึ้นในปีหลังๆ Thierry Frémaux ผู้กำกับศิลป์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวเมื่อเดือนเมษายนว่า ภาพยนตร์ทั้งหมดถูกคัดเลือกมาจากคุณภาพล้วนๆ และในปีนี้มีคณะกรรมการเป็นผู้หญิงถึง 5 คน ในขณะที่มีผู้ชายเพียง 4 คน เขายังเสริมว่า “ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กับการที่มีจำนวนผู้กำกับหญิงน้อยในเทศกาลหนังเมืองคานส์มันคนละเรื่องกันเลย…เรามีผู้กำกับหญิงไม่เพียงพอ แต่เราไม่มีเวลาจะมากังวลเรื่องนั้น มุมของคนจัดงานคือการที่ภาพยนตร์ทุกเรื่องถูกคัดเลือกจากคุณภาพของมันจริงๆ และไม่ได้ตัดสินจากการแบ่งแยกเพศเลย”

 

Thierry Frémaux ผู้จัดงานคานส์ตำแหน่งผู้กำกับศิลป์

Photo: variety.com

 

นอกจากนี้ทีมผู้จัดงานยังพยายามรับฟังปัญหา และเตรียมเพิ่มการประชุมร่วมกับตัวแทนจากองค์กรสตรีหลายแห่งทั้งในอเมริกาและยุโรป รวมทั้งผู้กำกับภาพยนตร์ และรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ในหัวข้อความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่อไปด้วย อีกทั้งผู้จัดงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้ยังจับมือกับรัฐบาลฝรั่งเศส เพิ่ม Helpline สายด่วนสำหรับเหยื่อหรือพยานที่ต้องการแจ้งเหตุคุกคามทางเพศด้วย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็มาจากคดีของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์การคุกคามทางเพศนักแสดงสาว ซึ่งเกิดขึ้นในห้องโรงแรมที่ฝรั่งเศส ระหว่างเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 1997 นั่นเอง

 

คงต้องติดตามต่อไปว่าในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีหน้าเราจะมีโอกาสเห็นผู้หญิงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ หรือไม่แน่เราอาจจะได้เห็นการเดินขบวนโดยกลุ่มสตรีเช่นนี้อีกเป็นครั้งที่ 2

FYI
  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการเดินขบวนในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ก่อนหน้านี้ยังมีการเดินขบวนครั้งใหญ่ เมื่อปี 1968 ที่เริ่มจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในปารีสลุกขึ้นขบถต่อระบบทุนนิยมและจักรวรรดินิยมของฝรั่งเศสในช่วงนั้น พวกเขาบุกเข้าบริเวณจัดงานในวันแรกๆ ของเทศกาล จนในวันที่ 18 พฤษภาคม (งานเริ่มวันที่ 10 พ.ค.) ก็มีกลุ่มผู้กำกับชื่อดังในยุคนั้นทั้ง François Truffaut และ Jean-Luc Godard ขึ้นเป็นผู้นำในการประท้วง เรียกร้องให้คณะผู้จัดงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ยุติเทศกาลเพื่อแสดงจิตสำนึกทางสังคม และทำให้เทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนั้นต้องจบกลางคัน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising