เครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน 52 เครือข่ายองค์กร และ 33 บุคคล ออกแถลงการณ์เรียกร้องยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมฯ พ.ศ. 2558 เนื่องจากเห็นว่ามิได้คุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2558 สาระสำคัญคือ มาตรา 10 ซึ่งบัญญัติให้แจ้งสถานีตำรวจในท้องที่หากต้องการจะชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่จากนั้นจะเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะพิจารณาว่า การจัดการชุมนุมดังกล่าวขัดต่อเงื่อนไขตามมาตรา 7 เรื่องการห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง หรือชุมนุมภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล และศาล รวมถึงพิจารณาว่าขัดต่อมาตรา 8 เรื่องห้ามการชุมนุมสาธารณะที่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่อย่างหน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา หรือสถานทูต หรือไม่
ขณะที่เนื้อหาในแถลงการณ์ของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า ที่ผ่านมากฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชนที่ออกมาปกป้องเรียกร้องสิทธิของตนเอง
‘การชุมนุมสาธารณะ’ ที่ถูกตีความจนครอบคลุมกิจกรรมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง หลายกรณีจึงต้องถูกยุติการทำกิจกรรมและถูกดำเนินคดี เพียงเพราะไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า และไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ
.
แม้แต่ในกรณีที่ประชาชนผู้ชุมนุมได้พยายามปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ โดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่กลับสร้างเงื่อนไขข้อจำกัดการชุมนุมขึ้นมาเป็นอุปสรรคเพิ่มเติม เกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และมิได้เป็นไปเพื่อความจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อย
อีกทั้งยังมีการอ้างเอาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องชุมนุมทางการเมืองที่เป็นอำนาจทับซ้อนกับ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มากำหนดเป็นข้อห้ามหรือความผิดไว้อย่างคลุมเครือ
ดูรายชื่อเครือข่ายองค์กรและบุคคล และอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มทั้งหมดที่นี่: www.facebook.com/Enlawthai2001/posts/2298429050230213?__tn__=K-R
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์