×

กัมพูชาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ‘อุตสาหกรรมเสื้อผ้า’ แม้ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
11.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (11 กันยายน) อึต ซอม เฮง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของกัมพูชา ประกาศปรับค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำครั้งใหม่เมื่อวานนี้ สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.05 จากเดิม 190 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,900 บาท) เป็น 192 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,000 บาท) ในปี 2021 แม้ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

ซอม เฮง เผยว่าสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตัดสินใจปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2021 เป็นต้นไป

ซอม เฮง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีตัดสินใจปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและรองเท้าในปี 2021 โดยพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน แม้ภาคอุตสาหกรรมนี้จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากโรคโควิด-19

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้าเป็นภาคการส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชา มีแรงงานอยู่ราว 750,000 คน โรงงานและสาขาราว 1,100 แห่ง แต่เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ปัจจุบันโรงงานราว 120 แห่ง ยังคงระงับการดำเนินงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานราว 50,000 คน

ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าของกัมพูชาลดลงร้อยละ 5.4 อยู่ที่ 3.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 แสนล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้าน โสธี ประธานร่วมของคณะทำงานภาครัฐ-เอกชนด้านอุตสาหกรรมสัมพันธ์ กล่าวในนามของกลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเล็กน้อยในปี 2021 ถือเป็นที่น่าพึงพอใจ

โสธีกล่าวว่า แม้การปรับขึ้นค่าจ้างระหว่างการระบาดใหญ่จะเป็นความยากลำบากสำหรับกลุ่มนายจ้าง แต่ถือเป็นการรักษาความเป็นพี่น้องกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จึงเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจ

ส่วน อาธ ธอร์น ประธานสมาพันธ์แรงงานกัมพูชา (CLC) กล่าวว่าตนยังรู้สึกไม่พอใจกับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหม่ แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นเรื่องยากที่สมาพันธ์ฯ จะเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นให้บรรดาแรงงาน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • สำนักข่าวซินหัว
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X