×

ส.ส. ก้าวไกล ชี้ตั้งการ์ดรอวัคซีนอาจแพ้ก่อน จี้คลายล็อกอย่างมีกลยุทธ์ เสนอเพิ่มวงเงินให้ สธ. เป็น 1 แสนล้าน

28.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (28 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส. เขต 1 จังหวัดเชียงราย พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในส่วนของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉบับแรกที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาล โดยระบุว่า ด้วยวงเงินนี้รัฐบาลซึ่งมีการกันให้กับด้านสาธารณสุขเป็นจำนวน 45,000 ล้านบาท โดยเปรียบเทียบกับงบลงทุนของกระทรวงสาธารณสุขปี 2563 เท่ากับประมาณ 4 ปี หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น เท่ากับ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย ต้องวิ่งหาทุนบริจาคอย่างที่เคยทำ 35 รอบ ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นเงินจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วคิดเป็นแค่ 4.5% ของวงเงินกู้ทั้งหมดเท่านั้น และยังมีข้อสังเกตอีกอย่างก็คือ คณะกรรมการกลั่นกรองกลับไม่มีผู้มีความรู้ด้านสาธารณสุขเลย รวมทั้งไม่มีตัวแทนที่มาจากประชาชนด้วย ทั้งๆ ที่เป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย แต่ที่น่ากังวลที่สุดอยู่ที่รายละเอียดการใช้เงิน ซึ่งอธิบายอยู่ในเอกสารเพียง 5 บรรทัด โดยระบุเพียงเป็นค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย ค่าจัดหายาเวชภัณฑ์รวมถึงวัคซีน การตรวจในห้องปฏิบัติการ ค่าวิจัย การรักษา ค่าใช้จ่ายในการกักตัว รวมทั้งเหตุฉุกเฉิน วัคซีนจึงเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยมากในวงเงินนี้ ในขณะที่สิ่งที่รัฐทำอยู่คือการที่ยังไม่ยอมคลายการปิดล็อก ซึ่งเหมือนเป็นการรอความหวังจากวัคซีนอย่างเดียว ซึ่งต้องยอมรับความจริงก่อนว่าอย่างน้อยที่สุดต้องใช้เวลาอีก 1 ปี

 

– จี้คลายล็อกอย่างมีกลยุทธ์ ตั้งการ์ดรอวัคซีนอย่างเดียวอาจแพ้ก่อน

 

นพ.เอกภพ กล่าวอีกว่า อยากชวนย้อนดูเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มมีผู้ป่วยในประเทศรายแรก จนมาถึงจุดเปลี่ยนต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กับการมีแหล่งเกิด Super Spread อย่างสนามมวย และการปาร์ตี้ที่ย่านทองหล่อ จนเกิดการสะสมผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็ว และการประกาศปิดเมืองของกรุงเทพมหานครในปลายเดือนมีนาคม เกิดการกระจายตัวของผู้คนออกไปต่างจังหวัดซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง เกิดการรักษาระยะห่างแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ รวมทั้งการทำงานอย่างเข้มแข็งของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปได้ยาก รวมถึงขอให้ย้อนกลับไปดูการแพร่ระบาดในอดีตของไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่วัคซีนทำสำเร็จภายในปีเดียวกับการเกิดผู้ป่วยคนแรกในโลก นั่นเป็นเพราะมีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว ถึงอย่างนั้นก็ดี การฉีดวัคซีนเข็มแรกในประเทศไทยก็เกิดขึ้นหลังจากนั้นราวครึ่งปี ก่อนการระบาดระลอกที่ 2 ในฐานะแพทย์อยากชี้ให้เห็นว่าการระบาดเป็นระลอกนั้นเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ของโรคระบาด ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

 

“แม้การล็อกดาวน์เป็นการยับยั้งไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วจนบุคลากรทางการแพทย์รับมือไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐต้องคิดให้ได้ก่อนว่าผู้ติดเชื้อไม่ใช่ผู้ร้าย ชัยชนะที่ได้ต้องไม่เกิดบนซากปรักหักพังของเศรษฐกิจ ขณะนี้ประชาชนจำนวนมากลำบากขนาดขาดแคลนแม้อาหารประจำวัน การปิดเมือง ล็อกดาวน์ ซึ่งไม่ต้องการให้จำนวนคนไข้เพิ่มสูงขึ้นเร็วจนรับมือไม่ไหวนั้น ได้ผลการดำเนินการเรื่องต่อสู้กับโคโรนาไวรัส แต่จะตั้งการ์ดอย่างเดียวรอหมัดน็อกจากวัคซีน ที่สุดเราอาจแพ้ก็ได้ เพราะหากเทียบกับระยะเวลามีวัคซีนของครั้งที่แล้ว จะเห็นว่านานมาก ตนจึงขอเสนอให้คลายล็อกเศรษฐกิจ มีการขับเคลื่อนเป็น Cyclic Lockdown ที่มีวงจรเปิดแล้วติดเชื้อเพิ่มก็ปิดใหม่ แล้วเปิดอีกอย่างมีกลยุทธ์สลับกันไป พร้อมกันนั้น ต้องเพิ่มศักยภาพของสาธารณสุข หากที่ผ่านมาเป็นการตั้งการ์ดสูง จากนี้ต้องพิงเชือก ตั้งการ์ดแล้วต้องมีหมัดสวน” นพ.เอกภพ กล่าว

 

– เสนอเพิ่มวงเงินให้ สธ. เป็น 1 แสนล้าน หนุนผลิตวัคซีนใช้เอง

 

นพ.เอกภพ กล่าวว่า ในทางระบาดวิทยา ประชาชนต้องมีภูมิคุ้มกัน 60-80% จึงจะหยุดการระบาดได้ ซึ่งราคาวัคซีนที่มีการประเมินกันขณะนี้คือเข็มละ 300-1,000 บาท คิดเป็นวงเงินที่ต้องใช้ 12,060-67,000 ล้านบาท ปัจจุบันหน่วยงานผลิตวัคซีนในไทยมี 2 แห่ง สถานเสาวภาและองค์การเภสัชกรรม แต่ทั้ง 2 แห่งไม่เคยผลิตวัคซีนใหม่ๆ รวมทั้งศักยภาพของปริมาณที่ผลิต หากไม่ต้องการรอการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศเป็นเวลานานๆ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีและความสามารถในการผลิตส่วนนี้ เป็นตัวยืนยันด้วยว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนแบบถ้วนหน้า ในฐานะที่เป็นแพทย์ เชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ยินดีที่จะรักษาผู้ป่วยทุกราย ยินยอมให้เปิดเมืองเพื่อประชาชนไม่อดตาย แต่รัฐต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องขาดแคลนทุกๆ อุปกรณ์ ไม่ใช่ต้องรอรับการบริจาค หรือต้องใช้เสื้อกันฝนแทนชุด PPE

    

“ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือ เสนอให้มีการปรับวงเงินกู้เพื่อใช้สำหรับด้านสาธารณสุขเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท โดยใช้ 6 หมื่นล้านบาทสำหรับวัคซีนเมื่อมีการผลิตได้สำเร็จ โดยประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าถึง และอีก 4 หมื่นล้านบาทสำหรับการพัฒนาศักยภาพระบบสาธารณสุข การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และสำหรับสนับสนุนบุคลากร การต่อสู้กับโรคระบาดต้องเป็นการต่อสู้จากความร่วมมือของทุกคนทุกฝ่าย เมื่อถึงวันประกาศชัยชนะต้องเป็นชัยชนะของทุกคน ไม่ใช่ชัยชนะบนความยากลำบากของประชาชน บนฐานของหนี้ก้อนใหญ่ที่คนรุ่นต่อๆ ไปต้องมาชดใช้ เมื่อไรที่ชนะต้องชนะด้วยกัน” นพ.เอกภพกล่าว

 

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม Support By Nikon Sales (Thailand)

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising