×

นายกฯ นำพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแถวหน้ากระดานแถลงมติ ครม. เห็นชอบหลักการกรอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

โดย THE STANDARD TEAM
23.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (23 เมษายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

 

นอกจากนี้ยังมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่าที่ประชุม ครม. รับทราบผลการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะทำงาน รวมถึงเห็นชอบหลักการของกรอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

 

ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ, แนวทางเข้าร่วมโครงการของประชาชน, เงื่อนไขการใช้จ่าย, ประเภทสินค้า, การลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลัง, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงบประมาณจะศึกษารายละเอียดต่อไป

 

ส่วนข้อห่วงใยเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. มีประเด็นข้อสงสัยให้ส่งเรื่องไปสอบถามยังกฤษฎีกา ซึ่งทุกพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบในหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

 

นายกรัฐมนตรีเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ครม. เห็นชอบหลักการที่คณะกรรมการเพื่อศึกษาพิจารณาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ เสนอโดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีการทำประชามติเห็นควรให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง และควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามประชาธิปไตย ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง

 

ทั้งนี้ การทำประชามติครั้งแรกต้องดำเนินการระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม – 21 สิงหาคมนี้ โดยจะไม่มีการตั้งคำถามว่าจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือไม่ และจะใช้งบประมาณ 3.2 พันล้านบาท ส่วนการทำประชามติในรอบต่อๆ ไปจะมีเนื้อหาว่าอยากจะให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งให้ฝ่ายที่ดำเนินการไปพิจารณารายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมามีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายมิติ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการดำรงชีวิตของคนไทยตามแนวชายแดน ดังนั้นตนในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงได้ออกคำสั่ง สมช. แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยมี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นกลไกติดตามสถานการณ์และภาพรวม รวมถึงให้ความเห็นและข้อเสนอต่างๆ ต่อ สมช. นายกฯ และ ครม. เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้านโยบายการทูตเชิงรุกที่จำเป็น

 

นอกจากนี้ ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอกรอบความตกลงของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลบังกลาเทศในการยกเว้นลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางข้าราชการ รวมถึงเห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะเริ่มเจรจาข้อตกลงตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

 

นายกรัฐมนตรีเปิดเผยอีกว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอเรื่องการยกเว้นตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางของชาวรัสเซียเป็นกรณีพิเศษเป็นการชั่วคราว ซึ่งอยู่ในไทยไม่เกิน 60 วัน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising