×

ครม. เคาะยกเว้น VAT สำหรับคริปโต-สินทรัพย์ดิจิทัล คำนวณภาษีเงินได้จากกำไรเทรดหักด้วยขาดทุน

โดย THE STANDARD TEAM
08.03.2022
  • LOADING...
VAT

วันนี้ (8 มีนาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการดังนี้

 

  1. ร่าง พ.ร.ฎ. และร่างกฎกระทรวง ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ 
  2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดย ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2  ฉบับ 

 

เพื่อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. 

 

สำหรับการใช้งานภาคประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดจากเดือนที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป โดยคำนวณจากกำไรแล้วลบด้วยขาดทุน เหลือจำนวนเงินเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินภาษีที่ต้องจ่ายลดลง

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีปริมาณและความถี่มาก ซึ่งได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉ.19) พ.ศ. 2561 กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องเสียภาษีเงินได้ และให้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายของเงินได้พึงประเมินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 นอกจากนี้การโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย  

 

อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ทราบตัวตนกัน ผู้ลงทุนไม่สามารถนำผลขาดทุนมาคำนวณออกจากกำไรจากการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถแสดงรายได้ที่แท้จริง รวมท้ังผู้ขายบางรายอาจเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและบางรายอาจมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงยากต่อการแสดงราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีข้อจำกัดต่างๆ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม 

 

ประกอบกับ ธปท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. สำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของ Retail CBDC ในการรับ แลกเปลี่ยน โอน หรือเป็นสื่อกลางในการชำระราคา 

 

โดยกรมสรรพากรพิจารณาผ่อนผันภาระภาษีสำหรับคริปโตเคอร์เรนซีให้แก่การดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกและได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีมากขึ้น ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการชำระเงิน และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งช่วยเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ในส่วนการสูญเสียรายได้จากภาษี VAT รายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังไม่สามารถประมาณการ เนื่องจากมูลค่าเงินดิจิทัลมีความผันผวน และกำไรขาดทุนของผู้ขายแต่ละรายไม่มีความแน่นอน 

 

ธนกรยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคยมีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังหารือกับ ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้ชัดเจน กำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกสินทรัพย์ดิจิทัลในระหว่างการแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ยังไม่แล้วเสร็จ และกำหนดกระบวนการทบทวนมาตรการกำกับดูแลให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล  

 

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ฎ และร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นมาตรการเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยรัฐบาลมุ่งสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล สนับสนุนอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทค) รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศด้วย 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising