วันนี้ (9 มิถุนายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น โดยผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ให้บริการรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดาวน์โหลดหนัง เพลง เกม การจองโรงแรม ซึ่งทำให้สามารถซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่กรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ครม. จึงเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ
- แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ‘สินค้า’ หมายถึงทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใดๆ และให้หมายรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด และเพิ่มบทนิยามคำว่า ‘บริการอิเล็กทรอนิกส์’ หมายถึงบริการที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด และ ‘อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม’ หมายถึงตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ
- กำหนดให้ 1) ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศ และมีการใช้บริการนั้นในประเทศ ซึ่งมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขาย โดยไม่ให้หักภาษีซื้อ 2) สำหรับกรณีผู้ประกอบการต่างประเทศได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการในประเทศไทยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ กำหนดให้รายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนั้นเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งหากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- กำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากร และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถกระทำผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
- กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้ พระราชบัญญัตินี้ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างวันที่ 14-29 มกราคม 2563 เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบ และผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปคือ ส่งร่างพระราชบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมทั้งกรมสรรพากรจะดำเนินการจัดทำคู่มือการใช้กฎหมายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแก่ผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย รวมถึงให้ข้อมูลตัวอย่างฐานภาษีของอิเล็กทรอนิกส์แต่ละลักษณะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมาย
รัชดากล่าวว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัติ e-Business บังคับใช้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศต่างๆ ที่ให้บริการและมีรายได้ในไทย ต้องมาจดทะเบียนเสียภาษีกับกรมสรรพากร ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ และสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 พันล้านบาท โดยในต่างประเทศ อย่างเช่น ออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ก็ใช้กฎหมายลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งได้ผลมาแล้ว
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล