ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (14 กันยายน) มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาประเทศไทยในลักษณะที่อยู่พำนักระยะยาว (Long-term stay)
แผนการดึงดูดชาวต่างชาติดังกล่าวมีเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa) ได้กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ให้กับกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะได้ข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักอาศัยระยะยาว และวีซ่าประเภท Smart Visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน
รวมถึงการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน การบริหารจัดการการทำงาน และอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้าง ทั้งที่อยู่ในและนอกราชอาณาจักรได้ การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน การยกเว้นภาษีประเภทต่างๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร
ธนกรกล่าวด้วยว่า มีการคาดการณ์จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ว่าในช่วงระยะเวลาดำเนินการมาตรการฯ ภายใน 5 ปีงบประมาณ (65-69) จะช่วยเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในไทย 1 ล้านคน เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท
นอกจากนี้จะช่วยสร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพียงพอให้กับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริม ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (61-80) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบตามที่ สศช. เสนอให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ภาพรวมโครงการฯ ทุกๆ 5 ปี รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการถือครองที่ดินก็ให้สิ้นสุดหลังจากวันที่เริ่มบังคับใช้แล้ว 5 ปี รวมทั้งให้ประเมินมาตรการต่างๆ เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ก็สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามความเหมาะสมด้วย
โดยคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ สศช. ดำเนินการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP