×

วางกลยุทธ์อย่างไรให้อยู่รอดในโลกอนาคตยุค Disruption

06.11.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • ยิ่งอนาคตเคลื่อนตัวเข้ามาหาเราเร็วขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งต้องมองไกลมากขึ้นเท่านั้น เปรียบเหมือนกับการขับเครื่องบินด้วยความเร็วสูงย่อมต้องมองไกล ในขณะที่คนขับรถยนต์หรือคนที่เดินช้าๆ นั้นไม่ต้องมองไปไกลมาก เพราะยังมีเวลาอีกมากกว่าอนาคตจะมาถึง
  • การกำหนด Strategy ที่มีปริมาณมากเกินความสามารถที่องค์กรจะรองรับได้นั้นก็เปรียบเสมือนเรือที่บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด แล้วยังถูกสั่งให้เร่งความเร็วไปในน่านน้ำที่ไม่คุ้นเคยและมีฝนฟ้าคะนอง สภาพการณ์ที่ว่านี้จะส่งผลให้คนในองค์กรขาด ‘สมาธิและความแน่วแน่’ ในการทำงาน
  • Strategy ต้องสามารถปรับได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเมื่อโลกใหม่มาถึงก็อาจเกิดโอกาสใหม่ๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้ใน Intended Strategy แต่เป็นสิ่งที่องค์กรนั้นควรทำ

ทุกคนเคยคิดกันบ้างไหมครับว่าในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่นับวันจะ ‘ยาก’ ขึ้นในอนาคต เราจะต้องวาง Strategy อย่างไรเพื่อความอยู่รอดจาก Disruption และยังสามารถทำผลการประกอบการให้เป็นที่น่าพอใจต่อไปได้

 

หลายคนอาจได้ยินคำว่า VUCA (Volatility สภาพแห่งความผันผวน, Uncertainty สภาพแห่งความไม่แน่นอน, Complexity สภาพแห่งความซับซ้อน, Ambiguity สภาพที่ประเมินยาก) กันมาบ้างแล้ว และคงเห็นด้วยกับผมไม่มากก็น้อยว่าสภาพธุรกิจปัจจุบันเป็นแบบ VUCA จริงๆ และข่าวร้ายก็คือสภาพการณ์แบบ VUCA นั้นจะรุนแรงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

 

ด้วยเหตุนี้ศาสตร์แห่ง Strategy จึงได้รับความสนใจมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรต่างๆ ได้นำไปใช้ในการวางแผนธุรกิจต่อไป ซึ่งตัวผมมีความเห็นว่าการกำหนด Strategy เพื่ออนาคตจะต้องทำตามแนวคิดต่อไปนี้ครับ

 

อย่าเพียงแค่เอาตัวรอดในระยะสั้น 

จริงอยู่ที่ว่าอนาคตมีความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นจนยากที่จะคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าอุตสาหกรรมของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต ดังนั้นจึงมีบางองค์กรที่หลีกเลี่ยงการมองให้ยาว โดยมามุ่งเน้นไปที่การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป (Adaptive) หรือมุ่งทำประโยชน์จากธุรกิจปัจจุบัน (Exploitation) ซึ่งแนวทางนี้อาจได้ผลดีในระยะสั้น แต่ไม่อาจนำพาองค์กรก้าวผ่านสู้ยุคต่อไป (Era) อย่างเป็นผู้นำ อย่างดีที่สุดก็คือเป็น ‘ผู้ตาม’ ที่อยู่รอด 

 

เหตุผลก็คือการมองในระยะสั้นจะทำให้ไม่มีการลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งเพื่อการเติบโตในระยะยาว เป็นรูปแบบ Passive ที่เป็นผู้ตาม ให้สถานการณ์เป็นผู้กำหนดแนวทาง

 

ด้วยความรู้ด้าน Strategy ในปัจจุบัน การมองระยะยาวและการกำหนดอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้โดยการศึกษาเพื่อให้เข้าใจเรื่องของ Trends, Weak Signals และ Scenarios และควรเริ่มทำโดยเร็ว เพราะอดีตพิสูจน์มามากต่อมากแล้วว่าอนาคตจะมาถึงก่อนที่เคยคาดการณ์ ยิ่งอนาคตเคลื่อนตัวเข้ามาหาเราเร็วขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งต้องมองไกลมากขึ้นเท่านั้น เปรียบเหมือนกับการขับเครื่องบินด้วยความเร็วสูงย่อมต้องมองไกล ในขณะที่คนขับรถยนต์หรือคนที่เดินช้าๆ นั้นไม่ต้องมองไปไกลมาก เพราะยังมีเวลาอีกมากกว่าอนาคตจะมาถึง

 

Strategy เยอะเกินอาจขาด Focus 

องค์กรในปัจจุบันก็กำลังทำงานกันจนเต็มมืออยู่แล้ว ทั้งในด้านของคนที่เห็นได้ว่าทำงานกันไม่ค่อยจะทัน ทรัพยากรดังที่เห็นได้จากระดับของหนี้สินที่สูงขึ้น การกำหนด Strategy ที่มีปริมาณมากเกินความสามารถที่องค์กรจะรองรับได้นั้นก็เปรียบเสมือนเรือที่บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด แล้วยังถูกสั่งให้เร่งความเร็วไปในน่านน้ำที่ไม่คุ้นเคยและมีฝนฟ้าคะนอง สภาพการณ์ที่ว่านี้จะส่งผลให้คนในองค์กรขาด ‘สมาธิและความแน่วแน่’ ในการทำงาน ซึ่งจะทำให้โอกาสของความสำเร็จลดน้อยลง 

 

ซีอีโอขององค์กรชั้นนำ เช่น ทิม คุก แห่ง Apple ได้เคยกล่าวว่า Apple มีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ดีถึงดีมากเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ Apple ก็ ‘เลือกที่จะไม่ทำ’ สิ่งเหล่านั้น ทั้งนี้เพื่อจะนำทรัพยากรและคนที่มีอยู่มาทุ่มเททำในสิ่งที่ทำแล้วมีโอกาสชนะได้มากที่สุด

 

อีกทั้งสิ่งที่มีค่าที่สุดในยุคที่การจัดการมีความซับซ้อนและไม่แน่นอนนั้นก็คือเวลาที่ผู้บริหารมีเพื่อลงไปดูแลในแต่ละเรื่อง ดังนั้นหากองค์กรมีเรื่องที่ต้องทำมากเกินไปจนผู้บริหารไม่มีเวลาดูแลและสนับสนุนอย่างใกล้ชิด โอกาสของความสำเร็จก็จะน้อยลง ซึ่งจะกลายเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่กลับสูญเปล่าในที่สุด

 

โฟกัสแค่บางเรื่อง แล้วทำให้สำเร็จทุกเรื่องที่โฟกัสก็พอครับ

 

ตั้งใจจริง แต่อย่ายึดมั่น 

จริงอยู่ที่การทำ Strategy นั้นจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์คาดการณ์จนมั่นใจ แล้วตัดสินใจกำหนดเป็น Strategy แล้วจึงแปลง Strategy เป็นแผนงานเพื่อการประสานกิจกรรม คน ทรัพยากร และงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ 

 

แต่ Intended Strategy นั้นก็เป็นเพียงสมมติฐานของสิ่งที่คาดว่าทำได้สำเร็จก็จะบรรลุผลที่คาดหวัง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง และกลยุทธ์จำนวนมากมักจะถูกกำหนดขึ้นมาจากกรอบความคิด (Paradigm) ที่เกิดจากประสบการณ์ในอดีต แต่ที่แน่ๆ อนาคตไม่เหมือนกับอดีต และอาจแตกต่างกันมากโดยเฉพาะในกรณีที่มี Disruption เกิดขึ้น 

 

ดังนั้น Strategy ต้องสามารถปรับได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเมื่อโลกใหม่มาถึงก็อาจเกิดโอกาสใหม่ๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้ใน Intended Strategy แต่เป็นสิ่งที่องค์กรนั้นควรทำ 

 

ตัวอย่างเช่น Amazon.com เริ่มทำธุรกิจจากการขายหนังสือออนไลน์ ต่อมาได้ขยายไปขายสินค้าอื่นๆ มากมาย ซึ่งทำให้ Amazon จำเป็นต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ดีมากเพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าทั่วโลกตลอดเวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน 365 วันต่อปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมาก็คือเมื่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความเร็วสูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง Amazon ก็มองเห็นว่ามีโอกาสที่จะให้คนอื่นมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ตัวเองสร้างไว้ เป็นที่มาของ Amazon Web Services (AWS) ที่ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการ Cloud Computing อันดับหนึ่งของโลก และเป็นหน่วยธุรกิจที่ทำกำไรให้ Amazon มากที่สุด

 

คิดให้มากกว่าแค่การแสวงหาความมั่งคั่ง 

ในอดีตนั้นธุรกิจถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นผ่านผลประกอบการทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ในยุคหน้าธุรกิจจะต้องมี Strategy ที่เป็นสมดุล (Trade-off) ของหลายมิติ ทั้งด้านของธุรกิจ เช่น ต้องดูแลทั้งผู้ถือหุ้น สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน อีกทั้งคู่แข่งรายใหม่จากต่างประเทศและคู่แข่งที่ข้ามจากอุตสาหกรรมอื่น และยังมีมิติของ ESG (Environment, Social and Corporate Governance) ที่ต้องตอบว่าองค์กรได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมหรือไม่ สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบไหม และองค์กรมีธรรมาภิบาลหรือไม่ ทั้งนี้ธุรกิจจะอยู่ได้ยากถ้าไม่ได้รับ Social License จากสังคมที่ทำมาหากินอยู่

 

ทำให้ Strategy เป็นของทุกคน 

การกำหนดกลยุทธ์ในอดีตจะเป็นลักษณะเป็น Top Down คือมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้กำหนดกลยุทธ์แทนทุกคน แล้วให้ทุกคนลงมือทำโดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า KPI ซึ่งผูกไปกับผลตอบแทนที่พนักงานจะได้รับ 

 

แต่โลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นมาก ทั้งมีความซับซ้อนจนยากที่จะเข้าใจเหตุและผล ลำพังคนกลุ่มเดียวย่อมไม่สามารถ Sense และ Respond ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ได้อย่างทันต่อเหตุการณ์อีกต่อไป เพราะคนในองค์กรรุ่นใหม่มีความรู้ความสามารถ มีความกล้าคิดกล้าทำ 

 

ดังนั้น Strategy ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นจะต้องเกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมกับคนทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เพื่อสามารถนำข้อมูลต่างๆ เช่น Weak Signal มาประมวลให้เป็นภาพใหญ่ และสามารถกำหนดแนวทางที่เหมาะสมที่สุด อีก ทั้งการมีส่วนร่วมจะนำไปสู่ความเข้าใจถึง Purpose ของ Strategy และจะนำไปสู่ความทุ่มเทในการทำงานตามคำสั่ง อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยยังบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ

 

อย่างไรเสียอนาคตก็จะมาถึงในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่พวกเราควรทำในวันนี้ก็คือทำให้มี Strategy ที่เหมาะสม แล้วเริ่มลงมือทำกันเลยครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising