×

รู้จัก Ego และ Blindspot ตัวบล็อกความสำเร็จในชีวิต

17.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Ego Barrier คือ ระบบการป้องกันตัวเองที่ถูกซ่อนอยู่ (Subliminal Defense Mechanism) ซึ่งทำให้มันยากที่จะทำให้เรายอมรับข้อผิดพลาดและจุดอ่อนของตัวเอง สมองส่วนนี้ชอบคำชม และตอบสนองต่อคำติเหมือนกับตอนที่เราถูกโจมตีหรือทำร้าย
  • Blindspot คือ วิธีคิดส่วนตัวของเรา ที่ทำให้เรามองไม่เห็นภาพที่แท้จริงของเรื่องที่เรากำลังต้องตัดสินใจ ถ้าเปรียบให้ง่ายๆ คือ เหมือนกับเราตาบอดสีกับบางสีนั่นเอง
  • อลัน บอนด์ (Alan Bond) เป็นหนึ่งในหลายเคสคนที่ร่ำรวย เก่ง และประสบความสำเร็จที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก ที่ต้องสูญเสียทุกอย่างไปในพริบตา เพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ Ego และ Blindspot

วันนี้ผมใช้เวลาทั้งวันนั่งอ่านหนังสือ Principle ของ เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates ซึ่งเป็น Hedge Fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตอนแรกกะว่าต้องเอาให้จบเสียทีหลังจากค้างมานาน สุดท้ายยังไม่จบครับ แต่ใกล้มากแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ใช้พลังงานในการอ่านเยอะจริงๆ เรียกว่าใช้ปากกาขีดไฮไลต์เกือบเต็มหน้าทุกหน้า เดี๋ยวอ่านจบจะมาสรุปให้ฟังนะครับ

แต่ก่อนจะมาสรุป มีเรื่องหนึ่งที่อยากมาเขียนก่อนเพราะผมคิดว่าน่าสนใจมากๆ

 

ในหนังสือ เรย์ได้เขียนไว้ว่า บทนี้น่าจะเป็นบทที่สำคัญที่สุด เพราะในความคิดเห็นของเขามี 2 สิ่งที่ขวางทางคนส่วนใหญ่ไม่ให้ได้สิ่งที่ต้องการในชีวิต

2 สิ่งที่ว่านั้นคือ Ego และ Blindspot ซึ่งเรามีกันทุกคน

แต่ว่า Ego และ Blindspot นั้นเกิดจากกลไกการทำงานของสมอง ถ้าเราเรียนรู้เกี่ยวกับมัน เราจะมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนรอบด้านด้วย

Ego Barrier คืออะไร?

Ego Barrier คือระบบการป้องกันตัวเองที่ถูกซ่อนอยู่ (Subliminal Defense Mechanism) ซึ่งทำให้มันยากที่จะทำให้เรายอมรับข้อผิดพลาดและจุดอ่อนของตัวเอง

ความต้องการที่จะได้รับความรักหรือความกลัวที่จะถูกปฏิเสธความรัก ความต้องการที่จะได้รับการยอมรับหรือความกลัวที่จะถูกเฉยเมย หรือแม้แต่สัญชาตญาณแห่งความอยู่รอดและความกลัวที่จะไม่สามารถอยู่รอดได้

ความต้องการและความกลัวที่ลึกซึ้งมากของมนุษย์เหล่านี้อยู่ในระบบปฏิบัติการในสมองส่วน Primitive ที่สุดของ Amygdala ซึ่งอยู่ในสมองส่วน Temporal Lobe ที่ทำหน้าที่ประมวลผลอารมณ์ของเรา

สมองส่วนนี้อยู่เหนือการควบคุมของจิตสำนึกของมนุษย์ โดยมันจะทำงานอย่างรวดเร็วและพยายามตีความทุกอย่างให้ง่ายกว่าความเป็นจริง (Oversimplify) เมื่อมันทำงาน เราจึงไม่รู้ว่ามันเข้าควบคุมพฤติกรรมอะไรของเราบ้าง

สมองส่วนนี้ชอบคำชมและตอบสนองต่อคำติเหมือนกับตอนที่เราถูกโจมตีหรือทำร้าย สมองส่วนนี้ไม่สามารถแยกการติเพื่อก่อออกจากการโดนด่าเฉยๆ ได้

ในขณะเดียวกันเรามี 2 อีกส่วน คือ Prefrontal Cortex ซึ่งเป็นส่วนสมองที่สำคัญมากที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์อื่น

นี่คือสมองส่วนจิตสำนึกที่เราใช้ในการตัดสินใจต่างๆ หรือเราเรียกว่า Executive Function ซึ่งสามารถประมวลผลเรื่องตรรกะและเหตุผลได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นมันจึงเหมือนมีเรา 2 คนอยู่ในคนเดียว และถ้าเราสังเกตดีๆ เราจะพบว่าสมองส่วนต่างๆ นั้นพยายามเอาชนะในการตัดสินใจให้ได้

เคยเป็นไหมครับ บางครั้งที่เรากินขนมแล้วหยุดไม่ได้ รู้ตัวอีกทีก็กินไปหมดถุงแล้ว ทั้งๆ ที่รู้ว่ากินแล้วอ้วน แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้หิวด้วย

 

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเพราะสมองส่วน Executive Function พ่ายแพ้ต่อสมองส่วน Primitive ของเรา

เราลองพิจารณาเหตุการณ์ที่มีคนไม่เห็นด้วยกับเรา และต้องการให้เราอธิบายมุมมองของเรา คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกได้ถึงการถูกจู่โจมและปล่อยระบบป้องกันตัวเองออกมา ทั้งๆ ที่ถ้ามองกันด้วยเหตุผลแล้ว การถกเถียงในเรื่องที่มีคนไม่เห็นด้วยกับเรานั้นจริงๆ เป็นเรื่องดี เพราะเราจะได้เห็นมุมมองของคนอื่น

แต่โดยส่วนใหญ่ Lower-Level ของเราจะพูดก่อนเสมอ ทำให้คำอธิบายของเราไม่สมเหตุสมผลเต็มร้อย หรือบางทีข้อโต้แย้งก็เจือไปด้วยอารมณ์ที่ผสมอยู่ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฟังเหตุผลของอีกฝ่ายเลย

หลายครั้งที่สมองส่วน Executive Function ไม่สามารถทำงานได้ทัน เราเลยปล่อยให้ Lower-Level ของเราพูด แม้แต่คนที่ฉลาดมากๆ หลายคนก็เป็นแบบนี้

เพราะสำหรับเราตอนนั้น ความจำเป็นที่จะต้องเป็นฝ่าย ‘ถูก’ มันสำคัญกว่าการหาความจำเป็นในการหา ‘ความจริง’

จึงเป็นที่มาว่า ถ้าเราเชื่อมั่น ยึดถือในความสามารถของตนเอง เราจะพลาดโอกาสหลายอย่างในชีวิตไป รวมไปถึงการตัดสินใจก็จะแย่ลงไปด้วย ซึ่งแน่นอนมันทำให้เราอยู่ห่างไกลความสำเร็จมากขึ้น

Blindspot คืออะไร?
Blindspot คือ วิธีคิดส่วนตัวของเรา ที่ทำให้เรามองไม่เห็นภาพที่แท้จริงของเรื่องที่เรากำลังต้องตัดสินใจ ถ้าเปรียบให้ง่ายๆ คือ เหมือนกับเราตาบอดสีกับบางสีนั่นเอง อย่างเช่น บางคนมองภาพใหญ่เก่ง แต่ไม่เห็นภาพเล็กๆ

ความจริงมนุษย์ส่วนใหญ่จะไม่ให้ค่ากับสิ่งที่ตัวเองมองไม่เห็น แต่เราส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว และนี่เป็นที่มาของ Blindspot ที่ว่า

มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่าคนอีกคนมีวิธีหรือกระบวนการคิดอย่างไร และไม่พยายามที่จะเข้าใจด้วย เพราะเรามัวแต่พยายามจะบอกอีกฝ่ายว่าสิ่งที่เราคิดนั้น ‘ถูก’ อย่างไร มากกว่าที่จะสนใจกระบวนการคิดของอีกฝ่าย

เราตั้งสมมติฐานโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่ออีกฝ่ายพูดสิ่งที่ไม่ตรงกับความคิดเรา ซึ่งหลายครั้งมันทำให้เราพลาดโอกาสอะไรดีๆ ในชีวิตไป เพราะเราไม่สนใจหรือเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามแสดงให้เห็น แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีประโยชน์หรือบางครั้งอาจจะถึงขั้นช่วยชีวิตเราได้ด้วยซ้ำ

นี่คือสาเหตุที่ทำไมเวลาคน 2 คนเถียงกัน ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม แม้จบการเถียงกันแล้วทั้งฝ่ายที่แพ้ ชนะ หรือเสมอ ก็ยังจะคิดว่าตัวเอง ‘ถูก’ เสมอ

แต่ถ้าหากเรามองดีๆ เมื่อคนมีความเห็นไม่ตรงกัน มันเป็นไปได้สูงมากเลยว่าจะมีความเห็นของใครที่ผิด ซึ่งจริงๆ จะดีกว่าไหมถ้าเรามีกระบวนการที่ชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าความคิดเห็นของเราไม่ผิด

คนที่เห็นกับดักนี้จะพยายามปรับตัว โดยการปรับตัวก็อาจทำได้หลายอย่าง เช่น

1. การสอนให้สมองทำในสิ่งที่ไม่ถนัด เช่น คนที่เป็นคนครีเอทีฟมากๆ ทำงานเฉพาะเมื่อตัวเองอยากทำ ก็สามารถสอนให้ตัวเองมีวินัยและสม่ำเสมอได้ ผ่านการฝึกฝนที่เข้มข้น

 

2. ใช้ Compensating Mechanisms เช่น เครื่องมือต่างๆ ที่คอยเตือนสติ

 

3. ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในส่วนที่เราคิดว่าเราไม่ถนัด

 

เรย์ย้ำอีกครั้งว่า ทั้ง Ego และ Blindspot นั้นเป็นข้อบกพร่องที่ทำให้คนเก่ง ฉลาด ทำงานหนัก แต่ไม่ประสบความสำเร็จตามศักยภาพของตัวเองมาเยอะแล้ว

มีเรื่องหนึ่งที่เรย์เล่าในหนังสือ (แต่ไม่ใช่ตัวอย่างของเรื่องสมองที่ว่านี้) แต่ผมคิดว่ามันน่าสนใจทีเดียวว่าอะไรที่ทำให้คนที่มีทุกอย่าง สามารถพลาดท่าเสียทีได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ในช่วงกลางทศวรรษ 80s Bridgewater Associate มีลูกค้าชื่อ อลัน บอนด์ (Alan Bond) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของออสเตรเลีย

ธุรกิจของอลันนั้นมีการกู้ยืมเงินเป็น USD เพื่อซื้อกิจการต่างๆ เช่น โรงงานเบียร์ในออสเตรเลีย ที่เขายืมเงินเป็น USD ก็เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ณ ตอนนั้น ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลีย

แม้ว่าตัวเขาจะรู้หรือไม่ก็ตาม การทำแบบนี้คือการคาดการณ์ว่า USD จะไม่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ AUD

เมื่อ USD แข็งค่าขึ้น รายได้จากกิจการเบียร์ของเขาจึงไม่พอที่จะจ่ายหนี้ อลันโทรหาเรย์เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งเรย์ก็ได้คำนวณว่าถ้ามีการทำ Hedging ควรจะทำที่เท่าไร เพื่อเป็นการรับประกันว่าจะไม่เสียหายเรื่องค่าเงินไปมากกว่านี้

เรย์บอกให้อลันรอ เดี๋ยวเมื่อ AUD แข็งค่าขึ้นแล้วรีบ Hedge และ AUD ก็แข็งค่าขึ้นจริงๆ แต่อลันไม่ Hedge เพราะคิดว่าปัญหาเรื่องของค่าเงินได้ผ่านไปแล้ว

อีกไม่นาน AUD ก็ร่วงลงมาทำ New-Low คราวนี้อลันต้องขอประชุมด่วนกับเรย์ ซึ่งสิ่งที่เขาแนะนำให้ทำคือรีบรับความเสียหายเท่านี้และประกันความเสี่ยงซะ แต่อลันไม่ทำ และคราวนี้ AUD ไม่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอีก ทุกอย่างก็สายเกินไป ในที่สุดเขาก็ล้มละลาย

อลันเป็นหนึ่งในหลายเคสคนที่ร่ำรวย เก่ง และประสบความสำเร็จที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก ที่ต้องสูญเสียทุกอย่างไปในพริบตา เพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่

อ่านเรื่องนี้แล้วต้องคิดว่าตอนนี้เรากำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ Ego กับ Blindspot หรือเปล่า เพราะไม่มีอะไรที่จะเป็นศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราเท่ากับตัวเองอีกแล้ว

ขอยก Quote ของชาร์ลส สเปอร์เจียน (Charles Spurgeon)  มาเป็นเครื่องเตือนใจครับว่า ‘Beware of no man more than of yourself; we carry our worst enemies within us.’

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising