×

ฟื้นฟูกิจการ: แสงสว่างของธุรกิจที่ไร้ทางออก

01.02.2023
  • LOADING...
ฟื้นฟูกิจการ

ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเกิดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจจากการระบาดของโควิด หลายบริษัทประสบสภาวะขาดสภาพคล่อง รายรับที่ลดลงทำให้เงินสดและทรัพย์สินที่มีไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าและเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนเกิดวิกฤตทางการเงินที่ยากจะแก้ไข ซึ่งหากคงสถานการณ์ไว้เช่นนั้นต่อไป ย่อมต้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องและบังคับทรัพย์สินซึ่งเป็นทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจ 

 

หนทางมืดมนนี้ มีแต่จะนำมาธุรกิจไปถึงจุดจบ คือต้องปิดกิจการหรือ ‘ล้มละลาย’ ซึ่งการหยุดประกอบธุรกิจนั้น ยิ่งทำให้เจ้าหนี้มีโอกาสได้รับชำระหนี้น้อยลง ทั้งยังเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างพนักงาน หยุดประกอบธุรกิจกับคู่ค้า กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม ทั้งๆ ที่ธุรกิจนั้นอาจมีทรัพยากร (Resource) องค์ความรู้ (Know-how) และตราผลิตภัณฑ์ (Brand) ที่ยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีความสามารถในการหารายได้มาชำระหนี้ได้ หากได้รับโอกาสให้ดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่อง 


บทความที่เกี่ยวข้อง


แต่ความมืดมนและความสูญเสียต่างๆ นี้อาจไม่เกิดขึ้น หากผู้ประกอบกิจการนั้นเลือกเข้าสู่ ‘กระบวนการฟื้นฟูกิจการ’ เพื่อเป็นทางออกในการแก้ไขสถานะทางการเงิน ดังที่จะเห็นได้จากในช่วงการระบาดของโควิด ซึ่งทำให้กลับมาได้ยินคำว่า ‘ฟื้นฟูกิจการ’ เป็นวงกว้างอีกครั้งในฐานะที่เป็นแสงสว่างสุดท้ายให้แก่กิจการที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

 

เพื่อทำความเข้าใจเรื่อง ‘การฟื้นฟูกิจการ’ ได้อย่างถูกต้อง THE STANDARD ได้ขอให้ Baker McKenzie สำนักงานกฎหมายชั้นนำระดับสากลและมีกลุ่มงานคดีฟื้นฟูกิจการและการปรับโครงสร้างหนี้ มาช่วยให้ความรู้ในเชิงกฎหมายและความสำคัญของ ‘การฟื้นฟูกิจการ’ โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 

 

  1. ฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่ล้มละลาย

ในอดีตพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ของประเทศไทยมีแต่กระบวนการล้มละลายเท่านั้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวต้องถูกพิทักษ์ทรัพย์และปิดกิจการ เพื่อนำทรัพย์สินเท่าที่เหลืออยู่มาแบ่งชำระหนี้ระหว่างบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย 

 

ต่อมา ประเทศไทยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลและประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ตั้งแต่ปี 2541 โดยเพิ่มเติม ‘หมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้’ ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ซึ่งเป็นหลักการสากล และประเทศไทยได้ศึกษาและนำ Chapter 11, U.S. Code ของสหรัฐอเมริกามาเป็นแม่แบบในการยกร่างกฎหมาย เพื่อให้มีกระบวนการทางกฎหมายรองรับการแก้ไขปัญหาทางการเงินของนิติบุคคลที่ประสบวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินและดำเนินธุรกิจต่อไปได้  

 

ในช่วงเริ่มต้นของการเริ่มใช้กฎหมายนั้น กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการและเรื่องต่างๆ ถูกจำกัดการตีความภายใต้กรอบของบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปและมีบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพิ่มมากขึ้น มีแนวคำพิพากษาบรรทัดฐานที่พัฒนาการตีความกฎหมายให้ครอบคลุมมิติทางธุรกิจมากขึ้น โดยศาลเข้ามามีบทบาทในทางธุรกิจโดยใช้ดุลพินิจตรวจสอบเนื้อหาของแผน โอกาสความเป็นไปในการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย รวมถึงการคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจาก ‘พวกลากมากไป’ ในการประชุมเจ้าหนี้ 

 

ทำให้ในปัจจุบัน กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นกระบวนการที่มีความเป็นธรรม ชัดเจน และมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาทางการเงินของนิติบุคคล โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศาลล้มละลายและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี) เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดทำและดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามกฎหมาย มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรม มีโอกาสที่กิจการจะกลับมาฟื้นตัวได้โดยไม่ต้องล้มละลาย 

 

การฟื้นฟูกิจการถือเป็นทางออกอันสำคัญสำหรับกิจการที่ประสบปัญหาทางการเงิน อย่างไรก็ดี ด้วยภาพลักษณ์ของกระบวนการทางกฎหมายจึงถูกมองว่ามีขั้นตอนซับซ้อนและยุ่งยาก ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการถูกมองข้ามว่าไม่ได้เป็น ‘ทางรอด’ ให้แก่ธุรกิจอย่างที่ควรจะเป็น 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดมีทรัพย์สินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้สินหรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว และมีหนี้สินอย่างน้อย 10 ล้านบาท (ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติล้มละลายฯ โดยกำหนดจำนวนหนี้ขั้นต่ำสำหรับการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการปกติเป็น 50 ล้านบาท) ก็สามารถยื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินไปพร้อมๆ กับประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องปิดกิจการและล้มละลายไปอย่างน่าเสียดาย 

 

  1. ฟื้นฟูกิจการแสงสว่างในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบในประเทศไทยตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 เป็นต้นมา แม้ว่าภาครัฐและสถาบันการเงินจะออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ภาคประชาชนและธุรกิจเพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียและให้โอกาสลูกหนี้ให้สามารถชำระหนี้ได้ แต่วิกฤตการระบาดของโควิดและข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจที่เกิดขึ้นส่งผลร้ายแรงและต่อเนื่องเป็นวงกว้าง บริษัทในหลายอุตสาหกรรมขาดสภาพคล่องอย่างมาก และเลือก ‘กระบวนการฟื้นฟูกิจการ’ ให้เป็นแสงสว่างสุดท้ายเพื่อรักษาศักยภาพและทรัพยากรของธุรกิจพร้อมกับแก้ปัญหาทางการเงิน

 

แม้ว่าในปี 2563 ศาลล้มละลายจะ ‘รับคำร้อง’ ขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่างๆ ไว้เพื่อพิจารณาจำนวนหลายสิบบริษัทในหลายภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการค้า อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการขนส่ง แต่มีเพียง 9 บริษัทเท่านั้นที่ศาลพิจารณาและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ 

 

หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้ฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ ธุรกิจสายการบิน เช่น การบินไทย นกแอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด หากในวิกฤตครั้งนั้น สายการบินต่างๆ มองข้ามกระบวนการฟื้นฟูกิจการไปก็อาจต้องล้มละลายหรือปิดกิจการ ซึ่งย่อมส่งผลเสียหายต่อผู้โดยสาร พนักงาน เจ้าหนี้ คู่ค้า ผู้ลงทุน ตลอดจนกระทบเศรษฐกิจและสังคมในระดับมหภาคอย่างแน่นอน 

 

การเลือกเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการทำให้บริษัทสายการบินยังสามารถรักษาศักยภาพ ทรัพยากร องค์ความรู้ ชื่อเสียงตราผลิตภัณฑ์ (Brand) และมูลค่าทางธุรกิจ โดยยังสามารถประกอบธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ต่อไปได้ พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย

 

  1. ปรากฏการณ์ใหม่: Online Platform 

ในช่วงที่ธุรกิจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหลังเกิดการระบาดของโควิดนั้น ได้เกิด ‘ปรากฏการณ์ใหม่’ ขึ้นในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ด้วยลักษณะของธุรกิจอย่างบริษัทสายการบิน เช่น การบินไทย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ติดต่อและทำการค้ากับผู้โดยสารและคู่ค้าตามเส้นทางการบินทั่วโลก ทำให้มีเจ้าหนี้หลายแสนราย การดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการในรูปแบบเดิมๆ เช่น การส่งสำเนาคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียนในประเทศหรือต่างประเทศ หรือการยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่ต้องเดินทางมายื่นที่กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ย่อมทำให้ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งยังสร้างภาระแก่เจ้าหนี้ที่อยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้เจ้าหนี้เข้าถึงสิทธิของตนได้อย่างมีข้อจำกัด

 

แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการเดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิดในขณะนั้น ตลอดจนจำนวนเจ้าหนี้ซึ่งมีจำนวนมากเป็นหลักแสนรายและส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ ศาลล้มละลายกลางและกรมบังคับคดีจึงเพิ่มช่องทางใหม่ โดยนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์หลากหลายรูปแบบมาใช้เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างศาลล้มละลาย กรมบังคับคดี และคู่ความ เช่น อีเมล และ SMS ทำให้เจ้าหนี้จำนวนมากได้รับทราบความคืบหน้าของการฟื้นฟูกิจการและเข้าถึงสิทธิของตนในคดีฟื้นฟูกิจการได้อย่างสะดวกรวดเร็วและเป็นการลดค่าใช้จ่ายของทุกฝ่าย 

 

ในส่วนกระบวนการที่เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการนั้น อธิบดีกรมบังคับคดีได้ออกประกาศกรมบังคับคดีเพื่อให้มีระบบการยื่นคำขอรับชำระหนี้ออนไลน์เพื่อให้เจ้าหนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในไทยหรือต่างประเทศก็สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แทนการมายื่นคำขอในรูปแบบกระดาษ 

 

นอกจากนี้ กรมบังคับคดียังได้นำระบบการประชุมทางออนไลน์ (E-Meeting) มาใช้ ร่วมกับการลงมติออกเสียงผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้การประชุมเจ้าหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการสามารถดำเนินไปได้แม้อยู่ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดมีความรุนแรงและมีข้อจำกัดในการจัดประชุมแบบ Face to Face ซึ่งระบบการประชุมและลงมติแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ทำให้การประชุมสามารถรองรับเจ้าหนี้ได้หลายพันราย และแก้ไขข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ค่าใช้จ่าย และทำให้การจัดการข้อมูลและการนับคะแนนเสียงทำได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น 

 

การนำเทคโนโลยีและสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการส่งคำคู่ความ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ การประชุมเจ้าหนี้และออกเสียงลงมตินี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่และพัฒนาการก้าวสำคัญของกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ทำให้การฟื้นฟูกิจการขนาดใหญ่ที่มีคู่ค้าและเจ้าหนี้จำนวนมากที่อาจอยู่ในต่างจังหวัดและต่างประเทศนั้นเป็นไปได้ จึงเป็นการอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นธรรมให้แก่คู่ความทุกฝ่ายให้เข้าถึงระบบยุติธรรมได้โดยง่าย 

 

  1. ฟื้นฟูกิจการ ทางเลือกที่ตอบโจทย์

ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่กฎหมายฟื้นฟูกิจการของประเทศไทยใช้บังคับ ศาลได้มีการพัฒนาการตีความตัวบทกฎหมาย เพื่ออำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมเรื่อยมา โดยเข้าใจลักษณะและโอกาสทางธุรกิจ และสร้างบรรทัดฐานที่ดีที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการในหลายๆ คดี อันเป็นการลดทอนข้อจำกัดด้านทรัพยากร สถานที่ ค่าใช้จ่าย และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้คู่ความทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น การพัฒนากระบวนการฟื้นฟูกิจการเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่อง ‘แสงสว่าง’ แก่บริษัทต่างๆ ว่ายังมี ‘กระบวนการฟื้นฟูกิจการ’ เป็นทางออกในวันที่ธุรกิจมืดมนได้

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising