×

โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้รถบัส: ทบทวนและถกถามความปลอดภัยบนรถบัสถึงประเด็นยกเลิกทัศนศึกษา

02.10.2024
  • LOADING...
รถบัส

ข้อถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทันที ภายหลังโศกนาฏกรรมรถบัสที่นำนักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี เดินทางมาทัศนศึกษา ก่อนประสบอุบัติเหตุเพลิงลุกไหม้จนนำมาสู่การสูญเสียชีวิตของผู้โดยสาร 

 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มาตรฐานความปลอดภัยในการเดินรถเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและทบทวนอีกครั้ง ซ้ำยังขยายผลไปจนมีการตั้งคำถามถึงการทัศนศึกษาของนักเรียนว่ายังควรมีไว้อยู่หรือไม่

 

THE STANDARD รวบรวมข้อเท็จจริงและทัศนะจากแง่มุมต่างๆ ของสังคมต่อเหตุสลดดังกล่าว พร้อมชวนติดตามท่าทีของภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ว่าจะเรียกคืนความเชื่อใจและเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชนได้อย่างไร

 

เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมการรั่วไหลของแก๊สในรถบัสที่เกิดเพลิงไหม้

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ประมวลข้อเท็จจริง เกิดอะไรขึ้น?

 

ก่อนจะไปสู่ปัจจัยของการเกิดเหตุ จำเป็นต้องย้อนสถานการณ์เท่าที่มีการเปิดเผยและยืนยันโดยเจ้าหน้าที่ โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ช่วงเวลาประมาณ 12.30 น. รถบัส 3 คันที่พานักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆารามเดินทางจากจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แวะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จังหวัดนนทบุรี

 

ทว่าไปไม่ถึงที่หมาย เมื่อถึงถนนวิภาวดีรังสิต ขาเข้า ด้านหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี รถบัสคันที่ 2 ของขบวนได้เกิดเหตุยางด้านหน้าซ้ายระเบิด เสียหลักชนกับแบริเออร์ ก่อนจะเกิดไฟลุกไหม้ท่วมทั้งคันอย่างรวดเร็ว นำมาสู่โศกนาฏกรรมดังกล่าว

 

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนของสาเหตุเพลิงไหม้ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานต่างๆ โดย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร. เปิดเผยข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า “เกิดจากยางล้อรถที่ระเบิด จึงทำให้เกิดประกายไฟ และมีถังแก๊สที่เป็นเชื้อเพลิงอยู่ในรถบัสคันดังกล่าว ทำให้เพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วเข้าไปถึงในห้องผู้โดยสาร”

 

ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 

ดูแลและทยอยส่งนักเรียนที่อาการปลอดภัยกลับจังหวัดอุทัยธานี

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

รถบัสอายุ 54 ปี ใช้แก๊ส NGV

 

ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า จากข้อมูลบริษัทประกันที่ดูแลรถบัสคันที่เกิดเหตุพบว่า รถบัสคันนี้จดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2513 โดยระบุว่าเป็นประเภทรถโดยสารไม่ประจำทาง เลขตัวรถ 14300 เลขเครื่องยนต์ 422915-20-590053 มีที่นั่ง 41 ที่นั่ง น้ำหนักรวม 16,600 กิโลกรัม

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่ยื่นขนส่งไม่ได้ยื่นจดทะเบียนว่าติดตั้งแก๊ส NGV แต่เมื่อสมัครกับบริษัทประกันได้ยื่นว่ารถบัสคันที่เกิดเหตุติดแก๊ส NGV

 

สำหรับเชื้อเพลิง NGV ของรถบัสส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนนำมาอัดจนมีความดันสูงประมาณ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แล้วนำไปเก็บในถังบรรจุที่มีความแข็งแรงและทนทานสูงเป็นพิเศษ เมื่อเกิดการรั่วไหลอาจลอยสะสมขึ้นบนฝ้าเพดานรถ และมีโอกาสเป็นสาเหตุของไฟไหม้ได้ เนื่องจากเป็นแก๊สที่ลักษณะเบากว่าอากาศ

 

ด้าน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงปัญหาเรื่องเชื้อเพลิง NGV ของรถบัสคันดังกล่าว โดยระบุว่า กระทรวงคมนาคมจะพิจารณาว่า หากเกิดอันตรายอาจมีคำสั่งให้เลิกใช้เชื้อเพลิงนี้ โดยจะกลับไปดูว่ากระทรวงมีอำนาจตามกฎหมายอะไรบ้าง โดยเฉพาะระเบียบของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) หากพบว่ายังใช้รถที่บรรจุแก๊สแล้วสุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอีก อาจมีมาตรการทบทวนการยกเลิกใช้แก๊สประเภทนี้

 

รถบัส

ถังแก๊ส NGV ภายในรถบัสที่เกิดเพลิงไหม้ ระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังเข้าเก็บกู้

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ประตูฉุกเฉินเปิดไม่ออก

 

ในช่วงเกิดเหตุไฟลุกไหม้รถบัส มีการบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งในคลิปพบว่า คนขับรถบัสเปิดประตูฝั่งคนขับวิ่งลงมาจากรถ จากนั้นพยายามไปเปิดประตูกลางรถ เมื่อเปิดไม่ออกจึงเดินไปบริเวณประตูฉุกเฉินที่อยู่ด้านท้ายรถ เพื่อพยายามที่จะเปิดประตูอีกครั้ง 

 

รายงานของมติชนออนไลน์ที่ได้สอบถาม อัจฉรา นิสัยสัตย์ ขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า รายละเอียดประตูฉุกเฉินของรถบัสคันดังกล่าวได้มาตรวจสภาพครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 โดยมีสภาพแข็งแรง ใช้งานได้ตามปกติ และขณะเกิดเหตุเวลา 12.07 น. รถใช้ความเร็วในการขับอยู่ที่ 81 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถคันนี้ใช้แก๊ส NGV โดยถังแก๊สนี้ใช้งานมาแล้ว 15 ปี และจะหมดอายุในปี 2569

 

ด้าน อรรถพล เรืองสารณ์ ทนายความ ซึ่งรู้จักกับผู้ประกอบการบริษัทชินบุตรทัวร์ บริษัทของรถบัสคันที่เกิดเหตุ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ในส่วนของการติดตั้งแก๊ส มีการติดตั้งตามระบบวิศวกรรมของขนส่งตลอด สำหรับตัวรถมีการตรวจสภาพตลอดตามภาษีประจำปี 

 

“ส่วนประตูฉุกเฉิน จากการที่ได้รับทราบจากผู้ประกอบการ มีการตรวจสอบตามปกติ แต่ประตูฉุกเฉินมีน้ำหนักมาก ตัวเด็กและครูอาจจะใช้แรงไม่เพียงพอ” อรรถพลกล่าว

 

ขณะที่ ปิยะลักษณ์ ถิ่นแก้ว เจ้าหน้าที่อาสากู้ภัย เปิดเผยหลังจากการตรวจสอบลักษณะของรถบัสคันดังกล่าวพบว่า มีประตูทั้งหมด 5 จุด ประตูหน้าด้านขวาที่อยู่ในตำแหน่งคนขับและประตูฉุกเฉินด้านล่างขวาไม่ได้สามารถใช้การได้ เนื่องจากถูกปิดกั้นจากแบริเออร์เกาะกลางถนน 

 

ส่วนประตูหน้าข้างคนขับด้านล่างซ้ายและประตูกลางรถไม่พบร่องรอยการเปิดจากภายใน ซึ่งคาดว่าอาจได้รับความเสียหายจากระบบไฟฟ้า เช่นเดียวกับประตูฉุกเฉินที่อยู่ท้ายรถ ไม่พบร่องรอยของการเปิดจากภายในเช่นกัน

 

สำหรับประกาศของกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร พ.ศ. 2557 ได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของประตูฉุกเฉินบนรถไว้ว่า

 

  1. ขนาดประตูต้องกว้างไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร และสูงไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร
  2. ตำแหน่งของประตูฉุกเฉินต้องอยู่ด้านขวาของตัวรถ เข้าถึงง่าย และไม่กีดขวางทางหนีไฟ
  3. กลไกเปิด-ปิดง่าย ทั้งจากด้านในและด้านนอก ไม่ต้องใช้กุญแจหรือเครื่องมือ

 

ประตูฉุกเฉินบริเวณส่วนกลางของรถบัสที่เกิดเหตุเพลิงไหม้

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา 

 

ยกเลิกทัศนศึกษา?

 

สืบเนื่องจากประเด็นดังกล่าว นำไปสู่ข้อถกเถียงของหลายฝ่ายในสังคมถึงเรื่องการทัศนศึกษา โดยเฉพาะในนักเรียนที่ยังเป็นเด็กเล็ก รวมถึงการเข้าค่ายต่างๆ เนื่องจากมองว่า หากดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนได้ไม่ดีพอ ก็ไม่ควรให้ออกเดินทางไกลไปนอกสถานที่

 

ด้าน พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวในวันนี้ (2 ตุลาคม) ถึงประเด็นเรื่องการทัศนศึกษาของเด็ก โดยมีคำสั่งให้งดการจัดทัศนศึกษาทันทีไม่มีกำหนด ไม่จำเป็นไม่ต้องไป ส่วนเด็กต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้ยกเลิกการเดินทางทัศนศึกษาออกจากต่างจังหวัดทั้งหมด แต่หากมีความจำเป็นต้องมีผู้ปกครองไปด้วย แต่ถ้าหากโรงเรียนใดมีความจำเป็น ก็ต้องดูเป็นกรณี แต่ต้องดูแลความปลอดภัยครูและเด็กนักเรียนให้ครอบคลุมทุกมิติ ให้มีการวางแผน เช่น ให้ผู้ปกครองไปด้วย หรืออาจดูงานใกล้โรงเรียน อย่าให้เด็กต้องเหนื่อยมาก 

 

“แต่ถ้าหากจะห้ามเลยจะเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ ส่วนผู้ที่จะรับผิดชอบว่าจะจัดหรือไม่ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นคนตัดสินใจ และกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือยังมีความจำเป็น ยังคงให้มีอยู่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว

 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามความเห็นต่างๆ โดยเฉพาะบุคคลทางการเมือง ส่วนมากจะมองต่างและไม่เห็นด้วยกับการให้ยกเลิกทัศนศึกษา เช่น รักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคประชาชน ที่โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การยกเลิกทัศนศึกษาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ตอบโจทย์ ทั้งจะเป็นการปิดโอกาสของเด็กด้วยการพาไปเปิดประสบการณ์ในที่ใหม่ๆ

 

“ถ้าจะแก้ปัญหาที่ต้นตอ ต้องจี้เรื่องการตรวจสภาพรถ คนขับประมาทที่จุดไหน ใบขับขี่ถูกต้องหรือไม่ โรงเรียนทั่วประเทศควรมีการซ้อมแผนเผชิญเหตุในทุกกรณีอย่างสม่ำเสมอแค่ไหน สอนเด็กๆ และคุณครูเรื่องการเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบต่างๆ รวมถึงการจำกัดระยะทางในการทัศนศึกษาในระยะทางที่เหมาะสมกับการเดินทาง” รักชนกระบุ

 

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า การไปทัศนศึกษาไม่ใช่มูลเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนี้ขึ้น แต่สาเหตุคือมาตรฐานของคนขับรถ มาตรฐานการจัดรูปขบวนในการเดินทาง และคุณภาพของรถ 

 

“ผมมั่นใจว่ามาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกของเรามีอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่ารถบัสคันนี้ผ่านการตรวจสภาพมาอย่างไร ตำรวจก็คงจะต้องทำหน้าที่ในการสืบขยายผล แต่ที่เห็นเมื่อวานนี้ถามว่าปลอดภัยหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ปลอดภัยแน่นอน” อนุทินกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising