×

รถเมล์ขึ้นค่าโดยสาร 1 บาท บขส. ปรับเพิ่ม 10% มีผล 21 ม.ค. 62

โดย THE STANDARD TEAM
15.12.2018
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดย นายพีระพล ถาวรสุขเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยผลการประชุมว่าคณะกรรมการเห็นถึงความจำเป็นต้องอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารสำหรับรถร้อนทั้ง ขสมก. และรถร่วมบริการ 1 บาท

 

ส่วนรถปรับอากาศก็ให้ปรับขึ้นระยะละ 1 บาทด้วย โดยรถเมล์ร้อนจากเดิม 9 บาท เป็น 10 บาท และรถเมล์ ขสมก. จากเดิม 6.50 บาท เป็นไม่เกิน 10 บาท

 

ส่วนรถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 1 บาท จากเดิม 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 12-24 บาทต่อเที่ยว

 

ขณะที่รถร่วม บขส. ให้ปรับราคาขึ้นไม่เกิน 10% แบ่งเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย

ระยะทาง 40 กิโลเมตรแรก เดิม 0.49 บาทต่อกิโลเมตร เป็น 0.53 บาทต่อกิโลเมตร

ระยะทาง 40-100 กิโลเมตร เดิม 0.44 บาทต่อกิโลเมตร เป็น 0.48 บาทต่อกิโลเมตร

ระยะทาง 100-200 กิโลเมตร เดิม 0.40 บาทต่อกิโลเมตร เป็น 0.44 บาทต่อกิโลเมตร

และระยะทางเกิน 200 กิโลเมตร เดิม 0.36 บาทต่อกิโลเมตร เป็น 0.39 บาทต่อกิโลเมตร

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติปรับอัตราค่าโดยสารสำหรับรถเมล์ปรับอากาศใหม่ อาทิ รถเมล์เอ็นจีวี จากเดิมเก็บในอัตรา 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 4 กิโลเมตรแรก 15 บาท, 10-16 กิโลเมตร 20 บาท และ 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท

 

ส่วนรถเมล์ร้อนที่เป็นรถใหม่ สามารถเก็บอัตราค่าโดยสารได้ในราคา 12 บาท โดยรถเมล์ใหม่ทั้งรถร้อนและรถปรับอากาศที่จะเก็บค่าโดยสารในอัตรานี้ได้ต้องเป็นรถที่ติดอุปกรณ์ส่วนควบตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด อาทิ ติดจีพีเอส, กล้องซีซีทีวี, อุปกรณ์ความปลอดภัย และติดตั้งระบบอีทิกเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาในอัตราใหม่ทั้งหมดนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน (รถเมล์ร่วม ขสมก.) ให้สัมภาษณ์ว่าได้เสนอขึ้นค่าโดยสาร 3 บาทเพื่อนำเงินมาพัฒนาการบริการและสภาพรถที่ยังเกิดปัญหาอยู่ อีกทั้งที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่ารถร่วม ขสมก. สภาพรถไม่ดี จึงทำแผนธุรกิจเพื่อพัฒนาในส่วนนี้ ทั้งนี้รถเมล์ 1 คันทำสัญญาวิ่ง 7 ปี และ

รถร่วม ขสมก. ให้บริการคนในกรุงเทพฯ 1 ล้านคนต่อวัน

 

“มองในมิติของผู้ประกอบการซึ่งรัฐไม่ได้ช่วยอะไรเลย ต่างจาก ขสมก. ที่รัฐช่วยอุดหนุนจนขาดทุนเป็นแสนล้านบาท ซึ่งภาระของผู้ประกอบการรถร่วมถูกกระจายไปยังผู้ประกอบการต่างๆ จนเป็นหนี้กันจำนวนมาก” นายวิทยากล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising